นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การต้อนรับ ดร.โรลันด์ บุช ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ เอจี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเ ที่มาข้าพบ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งการหารือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยอาศัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของซีเมนส์ เช่น ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยกระดับคุณภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 โดยใช้ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะและนวัตกรรมสีเขียวที่มีประสิทธิภาพสูง
ทั้งนี้ยังมีการหารือเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือกับสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) เพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิต รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะภายในเขตอุตสาหกรรมและโครงการเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
"กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายชัดเจนในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซีเมนส์ถือเป็นพันธมิตรสำคัญที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเครือข่ายระดับโลก ซึ่งสามารถเสริมศักยภาพการผลิตของไทยให้เทียบชั้นระดับสากลได้ โดยเฉพาะในยุคที่อุตสาหกรรมต้องผสานทั้งความยั่งยืนและดิจิทัลไปพร้อมกัน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและแรงงานทักษะสูง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน ความร่วมมือกับซีเมนส์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านหลักสูตรอบรม จะช่วยยกระดับทักษะให้แรงงานไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี และสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และคน ได้อย่างเป็นระบบ" นายเอกนัฏ กล่าว
โดยในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยี และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ กับประเด็นสินค้า ของถูก ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราต้องแข่งขันกันทำสินค้าที่ถูกต้อง ถูกมาตรฐาน ถูกหลักสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แข่งขันกันทำ สินค้าราคาถูก แต่ด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นที่มาของการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและไร้คุณภาพสูง เช่น พลาสติก, เศษเหล็ก, และขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) นำมารีไซเคิลเพื่อให้ได้ของดี ส่งออกไปขาย แต่กลับทิ้งซากของเสียที่เป็นมลพิษไว้ในประเทศ ซึ่งสร้างเป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน "อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ" และ "ทุนเทา" ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ทุนต่างชาติเข้ามายึดครองภาคบริการและการผลิต แม้ตัวเลขการลงทุน (FDI) จะดูเป็นที่น่าพอใจ แต่เม็ดเงินกลับไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศ โดยภาคการผลิตจำนวนมากเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่ได้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในไทยเติบโตอย่างแท้จริง
นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมุ่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ “Green & Safe Industry” ด้วยแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสะอาด และการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตบนรากฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
-033
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี