นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้รับรายงานความคิดเห็นแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาการสงวนรักษาและการบูรณะมรดกทางวัฒนธรรม (ICCROM) และผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ภายหลังได้ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อสำรวจพื้นที่จริง และรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบทางทรัพย์สินและวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (HIA) กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงสถานีอยุธยา เมื่อวันที่ 19 – 22 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสรุปสำคัญ ดังนี้
1.การเปลี่ยนแปลงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ผ่านจังหวัดอยุธยา ไม่สามารถดำเนินการได้
2.แบบก่อสร้างสถานี และระดับความสูงของรางรถไฟ ควรมีการปรับลดลง เพื่อให้โครงสร้างของรถไฟและสถานี จะไม่สามารถมองเห็นได้จากภายในพื้นที่มรดกโลก
3.ควรมีการจัดทำแผนร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางราง กรมศิลปกร หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการลดผลกระทบทางอ้อม และผลกระทบสะสมในระยะยาว ทั้งด้านการวางผังเมืองบริเวณโดยรอบสถานี เพื่อพัฒนาผังเมืองแบบบูรณาการ และการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รวมถึงการบริหารจัดการการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว อาทิ การจำกัดจำนวนคนที่เข้าเยี่ยมชมสถานที่ หรือเพิ่มการควบคุมหากมีผลกระทบทางกายภาพหรือเชิงประจักษ์ และด้านการวางแผนสิ่งอำนวยความสะดวกและการเดินทาง โดยให้เชื่อมโยงสถานีรถไฟความเร็วสูงกับแหล่งมรดกโลกและโบราณสถานที่สำคัญระดับชาติ
นอกจากนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ยังเสนอแนวทางเพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านการออกแบบ โดยแนะนำให้ออกแบบอาคารสถานีให้เหมาะสมกับภูมิทัศน์โดยรอบ ทั้งในด้านความสูง ขนาด และการก่อสร้างส่วนทึบของอาคารให้เหมาะสม อาทิ ผนังและเพดาน เพื่อลดข้อจำกัด หรือผลกระทบต่อทัศนียภาพที่อาจเกิดขึ้นต่อแหล่งมรดกโลกหรือโบราณสถาน รวมทั้งยังเสนอให้มีการปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะพื้นที่ 2 และ 3 และปลูกต้นไม้ทดแทนในส่วนที่ต้องรื้อถอนจากการก่อสร้าง เพื่อฟื้นฟูภูมิทัศน์โดยรอบให้กลับคืนสู่ความกลมกลืนตามข้อเสนอในรายงานการประเมินผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม (HIA) ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้ปรับรูปแบบตามที่ผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เสนอแนะเรียบร้อยแล้ว
นายวีริศ กล่าวว่า การรถไฟฯ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อสร้างความเข้าใจในระดับนานาชาติ และยืนยันจุดยืนของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กับการอนุรักษ์มรดกโลกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
“โครงการรถไฟความเร็วสูงต้องเดินหน้าไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อมรดกทางวัฒนธรรม การรถไฟฯ ยินดีปรับรูปแบบการก่อสร้างตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับระบบขนส่งของไทย เชื่อมโยงเมืองหลักกับภูมิภาค เสริมศักยภาพการแข่งขัน และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค” นายวีริศ กล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี