** แน่นอนว่าการลงทุนของภาคเอกชนนั้นคือหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ และในภาวะเช่นนี้ที่ ภาคการท่องเที่ยว อีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจเริ่มเดินเครื่องแผ่วลง ประกอบกกับภาคการส่งออก เครื่องตัวใหญ่ที่สุดกำลังจะต้องเจอปัญหาจากผลกระทบของสงครามการค้า (ทรัมป์2.0) ภาคการลงทุนของเอกชนยิ่งจำเป็นมากขึ้นอีกในยามนี้...แต่การลงทุนของเอกชนทั้งไทยและต่างชาติต้องสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทยจริงๆ ไม่ใช่เป็นการลงทุนแบบ “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” ซึ่งนอกจากจะไม่ได้สร้างประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยแล้วยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธุรกิจของไทย รวมทั้งทำให้ชีวิตคนไทยต้องตกอยู่ในอันตายด้วย
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของพวก “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” คือ กลุ่มทุนชาวจีนที่ย้ายฐานโรงงานผลิตเหล็ก ชนิด Induction Furnace ( IF) เข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี 2557-2559 หลังจากที่รัฐบาลจีนได้สั่งยกเลิกการผลิตเหล็กแบบเตา IF เนื่องเหล็กที่ผลิตได้จากเตาIF ควบคุมมาตรฐานได้ยก และกระทบวนการผลิตก่อให้เกิดมลพิษสูงมาก
ณ เวลานี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม...ก็กำลังทุ่มสรรพกำลังการกวาดล้างพวก”อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” และ เร่งตรวจสอบอย่างเข้มข้นกับ ผู้ผลิตเหล็กเส้น เหล็กก่อสร้าง ฯลฯ ที่มาจากเตา IF ผ่านการดำเนินการของ ชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ “ทีมสุดซอย” ที่มีนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติ
เรื่องของคุณภาพของเหล็กจากเตา IF ตรวจ 6-7 เดือนมานี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งอายัดเหล็กเส้นเตาIF ไปแล้วร่วมหลายหมื่นตัน เนื่องจากไมได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ( มอก.) ทั้งประเด็นของค่าเคมี(โบรอน) และค่าความเหนียว สั่งปิดโรงงานไปแล้ว 3-4 ราย สั่งระงับกิจการชั่วคราวไปแล้ว 4-5 ราย และกำลังอยู่ระหว่างสอบสวนอีก 3 ราย ซึ่งทั้งหมดคือผู้ประกอบการชาวจีนที่แห่กันเข้ามาในช่วงปี 2557-2559 และเรื่องของคุณภาพเหล็กเส้นเตาIF ก็มีตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดว่าไม่ได้มาตรฐาน เช่นกรณีของการตรวจสอบเหล็กเส้นจาก ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมา ก็พบว่ามีเหล็กจากเตาIF ของบริษัทหนึ่งที่ตกมาตรฐาน
อย่างกรณีล่าสุด...ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจังหวัดภูเก็ตว่า ซื้อเหล็กเส้นจากโมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไปสร้างอาคาร แต่เมื่อนำมาดัดโค้งงอปรากฏว่าเหล็กหัก .... เบื้องต้นเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตนำตัวอย่างเหล็กจากหน้างานบริเวณที่ก่อสร้าง ส่งมาตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบเหล็กที่ส่งมาตรวจทั้ง 10 ท่อนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกค่าโบรอนทั้งหมด และเมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าเป็นเหเล็กที่ผลิตจากบริษัท บี เอ็น เอส เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด จังหวัดชลบุรี… “ทีมสุดซอย”...พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่ บริษัท บี เอ็น เอส เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด...เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตจากโรงงานนี้
ทั้งนี้นางสาวฐิติภัสร์ ได้เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล็กข้ออ้อย มีอักษร BNS DB16 SD4oT IF กำกับ ซึ่งเป็นเหล็กที่ผลิตโดย บริษัท บี เอ็น เอส เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนประกอบกิจการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ชนิดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กรูปพรรณ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ใช้เตาหลอมแบบ IF ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ตรวจพบการกระทำความผิดหลายเรื่อง อาทิ ไม่ขออนุญาตแจ้งเดินเครื่องจักร ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน EIA ติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติมที่เข้าข่ายขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐานในส่วนของค่าโบรอน ซึ่งตรงกับผลการตรวจวิเคราะห์ล่าสุดโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ตามที่ประชาชนจังหวัดภูเก็ตร้องเรียนมา และยังมีกรณีลักลอบจำหน่ายกากอุตสาหกรรมด้วย
“โรงงานแห่งนี้มีพฤติกรรมทำผิดเป็นระบบ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ลักลอบประกอบกิจการ ฝ่าฝืน กฎหมายหลายฉบับ จึงต้องจัดการให้เด็ดขาด” นางสาวฐิติภัสร์ ระบุ
นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวอีกว่าจากการตรวจสอบเชิงลึกพบสัญญาว่าจ้างผลิตเหล็กของ บริษัท เวล เอสทาบลิช จำกัด ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเมื่อตรวจสอบจากเอกสารภายในบริษัท ประกอบคำบอกเล่าของพนักงานพบว่า มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และมีการตั้งบริษัทเพื่อรับเป็นนายหน้าจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายเหล็ก ซึ่งในวันที่เข้าตรวจค้นยังพบพฤติกรรมต้องสงสัยของชาวจีนหลายคน ซึ่งในส่วนนี้ กขค. จะขยายผลและเร่งตรวจสอบโดยเร็วต่อไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งดำเนินคดีกับบริษัทฯ 5 ข้อหา คือ 1. ทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้าน หรือทั้งจำและปรับ 2. ติดเครื่องหมาย มอก. บนผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้าน หรือทั้งจำและปรับ 3. จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ 4. ทำลายเครื่องหมายและป้ายคำเตือนที่เจ้าพนักงานยึดอายัดของกลาง โทษคดีอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ และ 5. เคลื่อนย้ายทำลายของกลางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ พร้อมสั่งให้บริษัทฯ รีบดำเนินการเรียกคืนผลิตภัณฑ์เหล็กที่จำหน่ายออกสู่ท้องตลาดกลับมาทั้งหมด และให้แจ้งรายละเอียดการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กของบริษัทฯ ทั้งหมดภายใน 7 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ผู้รับไปจำหน่ายและประชาชนทราบโดยเร็ว
ปี 2567ประเทศไทยมีการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างประมาณ 2.8 ล้านตัน โดยประมาณการว่า IF มีส่วนแบ่งตลาดราว 55% หรือประมาณ 1.6 ล้านตันที่จำหน่ายออกสู่ท้องตลาด นี่คือปริมาณเพียง1 ปีที่เหล็ก IF ได้เข้าไปอยู่ในสิ่งก่อสร้างทั้งสาธารณะและอาคารบ้านเรือนต่างๆแล้ว ไม่รู้ว่าประชาชนคนไทยต้องเสี่ยงชีวิตมากแค่ไหนต่อจากนี้ หากเราไม่เร่งกำจัด”อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ”...โดยเฉพาะ”เหล็กเตาIF”ให้หมดไปจากแผ่นดินไทย...
**กระบองเพชร**
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี