ปี 2568 เป็นโอกาสพิเศษที่กฎหมายบุหรี่โลกหรือกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ครบรอบ 20 ปี โดยไทยหนึ่งในประเทศสมาชิกได้รับเอาหลักการที่เรียกว่า MPOWER เข้ามาเป็นแนวทางของกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของไทย
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ WHO ที่นำหลักการดังกล่าวมาดำเนินการอย่างเข้มข้น จนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมยาสูบที่เข้มงวดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มาตรการ MPOWER ของ WHO ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ 1) ติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบและการใช้นโยบายป้องกัน (M) 2) ปกป้องประชาชนจากควันบุหรี่ (P) 3) ให้ความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ (O) 3) เตือนภัยเกี่ยวกับอันตรายของยาสูบ (W) 4) ห้ามการทำโฆษณา การตลาด และการให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ยาสูบ (E) และ 5) การขึ้นภาษียาสูบ (R)
อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2567 ระบุว่าอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงเพียง 0.9% ในช่วงเวลา 3 ปีจากเดิม 17.4% ลดลงเหลือ 16.5% ซึ่งมาจากการระบาดของบุหรี่หนีภาษีที่เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1 ใน 4 ของการสูบบุหรี่ ระบบภาษีบุหรี่ที่ประเทศไทยยังมีปัญหาจากการไม่ดำเนินการไปสู่ระบบภาษีอัตราเดียว รวมทั้งการใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งยังผิดกฎหมายที่เติบโตขึ้นกว่า 11 เท่า จนเป็นเกิดคำถามว่ามาตรการ MPOWER นั้นยังใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ
โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการภาษี ซึ่ง WHO ระบุว่ามีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดในการลดการบริโภคยาสูบ เพราะเมื่อราคาผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดการบริโภคลง อีกทั้งเด็กและเยาวชนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ สำหรับประเทศไทยนั้น มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบเป็นแบบ 2 อัตรา เมื่อปี 2560 พร้อมกับการขึ้นภาษีตามมาเป็นระยะ ทำให้สัดส่วนภาษีต่อบุหรี่ของประเทศไทยขณะนี้สูงเฉลี่ยถึง 70% ของราคาขายปลีกต่อซอง ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยมีภาระภาษีสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคในอาเซียนและสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
อย่างไรก็ตาม แม้การเก็บภาษียาสูบจะมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ แต่จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ความยืดหยุ่นทางราคาและกำลังซื้อของผู้บริโภค มิเช่นนั้น ก็จะเปิดช่องให้สินค้าที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายอย่างบุหรี่เถื่อน เข้ามาเป็นสินค้าทางเลือกราคาถูก เมื่อเจอกับการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอทำให้บุหรี่เถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้าสู่ประเทศและยากจะควบคุม เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ สร้างความเสียหายต่อรายได้ภาษีสรรพสามิต ชาวไร่ยาสูบ รวมถึงสังคมไทยโดยรวม
แม้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) พยายามสู้กับบุหรี่เถื่อนราคาถูกด้วยการเสนอโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่แบบ 3 อัตราเพื่อลดราคาบุหรี่ลงมา แต่การทำให้บุหรี่ถูกลงจะทำให้เข้าถึงง่ายขึ้น ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ท่วมท้นระบบสาธารณสุขไทย ที่สำคัญ การลดราคาบุหรี่ไม่สามารถแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนได้จริง ตราบใดที่บุหรี่เถื่อนยังขายออนไลน์ได้ถูกกว่า การลดราคาบุหรี่ถูกกฎหมายจะเปิดประตูให้คนไทยสูบบุหรี่มากขึ้นเท่านั้น
แนวคิดดังกล่าวจึงได้รับเสียงคัดค้านจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะนักวิชาการที่ทำงานด้านการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ เพราะเป็นการบ่อนทำลายความพยายามด้านสาธารณสุขที่ไทยยึดมั่นมาตลอด โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ให้ความเห็นว่าเป็นเป็นความคิดที่ล้าหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเข้ารัฐและสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ขณะที่ รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่าภาษีบุหรี่หลายอัตรา ไม่สามาระแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนได้ อีกทั้งยังผิดหลักวิชาการภาษียาสูบที่ดีต่อประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เคยวิเคราะห์ข้อมูลภาษียาสูบของไทยและมีเสนอต่อกรมสรรพสามิตว่า ไทยควรปรับอัตราภาษีเป็นแบบอัตราเดียว
เนื่องในโอกาส วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ปีนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราควรเน้นย้ำถึงอันตรายของยาสูบ การพิจารณานโยบายที่อาจนำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบหรือ FCTC Conference of Parties (COP) ครั้งที่ 11 ในปีนี้ ดังนั้น ข้อเสนอโครงสร้างภาษีแบบ 3 อัตราซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการ MPOWER อาจถูกกตั้งคำถามจากนานาประเทศถึงจุดยืนในการควบคุมยาสูบของประเทศที่สวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ใช้ระบบภาษีอัตราเดียว ดังนั้น เพื่อให้มาตรการทางภาษีที่จะออกมาไม่ขัดแย้งกับแนวทางการควบคุมยาสูบของประเทศไทย กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตคงต้องพิจารณาระบบภาษีดังกล่าวอย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการควบคุมยาสูบของประเทศส่วนใหญ่ของโลกและเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ด้วย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี