นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยนายพิภพ โชควัฒนา กรรมการบริหาร ส.อ.ท. และรองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลง จาก 91.8 ในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้จำนวนวันทำงานลดลง
ประกอบกับมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯกระทบการส่งออก เช่น อัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า(Sectoral Tariff) 25% กลุ่มสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ เหล็กและอลูมิเนียม และการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน(AD/CVD) สินค้าแผงโซลาร์เซลล์ 375% (เมื่อ 21 เมษายน 2568)
นอกจากนี้ยังรวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งสินค้านำเข้าจากจีนและปัญหาการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 20.07% (YoY) (ณ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2568) กระทบภาคการผลิตในประเทศ อีกปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ปรับตัวลดลง คือ เรื่องของการส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2568 การส่งออกลดลง 9.36% (YoY) จากมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์
อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน ยังคงมีปัจจัยบวกจากการชะลอการบังคับใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ออกไป 90 วัน (สิ้นสุดต้นเดือนกรกฎาคม 2568) โดยยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน (Baseline Tariff) 10% กับทุกประเทศ ส่งผลให้เกิดการเร่งนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรม “Maha Songkran World Water Festival 2025” โดยช่วงวันที่ 6-12 เมษายน 2568 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 666,180 คน เพิ่มขึ้น 10.73% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ช่วยหนุนการจับจ่ายใช้สอยและรายได้ท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงมาตรการเยียวยาแผ่นดินไหว (วงเงินไม่เกิน 49,500 บาท/หลัง) ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% (เริ่ม 22 เมษายน 2568) ส่งผลดีต่อคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง จากการใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
นายอภิชิต กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,359 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ในเดือนเมษายน 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 58.4% เศรษฐกิจโลก 58.0% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 44.0% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 36.2% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 25.0% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 14.9%
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 93.3 ลดลงจาก 95.7 ในเดือนมีนาคม 2568 เนื่องจากผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรม มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และนักลงทุนอาจชะลอการลงทุนโดยเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรม ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 อยู่ที่ -0.3% และสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ต่อปี ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มกระแสเงินสดให้กับธุรกิจ
ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.เสนอให้ภาครัฐเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาสวมสิทธิ์ใช้ประเทศไทยในการส่งออก เช่น การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า(C/O) การตรวจสอบกระบวนการผลิตและการนำเข้า/ส่งออกสินค้าสำเร็จรูปในพิกัดศุลกากรเดียวกัน และติดตามพฤติกรรมการค้าของผู้ประกอบการที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ
2.เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการส่งออกครบวงจรในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงตลาด รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบภายในประเทศและ3.สนับสนุนภาครัฐในการเจรจาความร่วมมือความตกลงการค้าเสรี(FTA) ตามแผนเพื่อเปิดตลาดสินค้า การค้าและการลงทุนในระดับสูง เช่น ไทย-สหภาพยุโรป(EU),ไทย-เกาหลีใต้(KTEPA),ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(CEPA) และอาเซียน-แคนาดา(ACAFTA)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี