นางสาวญาณี ศรีมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เกระทรวงพาณิชย์ ปิดเผยว่า กรมฯได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์ข้าวและความคืบหน้าการดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมเก็บสต็อกข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 โดยได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ตรวจเยี่ยมบริษัท โรงสีกำพล จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จริงและรวบรวมข้อมูลการดำเนินโครงการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรี สำหรับโครงการในปีการผลิตถัดไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือนหน้า
ทั้งนี้โครงการชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้นโยบายของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเสริมกลไกตลาด เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยกรมฯได้สนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ ด้วยอัตราชดเชย 3% ต่อปี ตามระยะเวลาการเก็บสต็อก 60–180 วัน ภายใต้วงเงินรวม 585 ล้านบาท ระยะเวลารับซื้อข้าวตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ 29 พ.ย. 2567 - 31 มี.ค. 2568 (ภาคใต้ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2568)
โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรวม 205 ราย จาก 45 จังหวัดทั่วประเทศ มีปริมาณข้าวเปลือกสะสมสูงสุดในเดือน ธ.ค. 2567 ที่ 2.285 ล้านตัน ในจังหวัดเชียงรายมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 4 ราย โดยโรงสีกำพล ยังคงมีข้าวหอมมะลิทั้งในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสารในคลัง
ด้านผู้ประกอบการโรงสีกำพล กล่าวว่า ช่วงต้นฤดูกาลเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง การมีโครงการชดเชยดอกเบี้ยจึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเก็บสต็อกข้าวไว้ได้โดยไม่ต้องรีบขายออก ส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดแรงกดดันในตลาดและรักษาเสถียรภาพโดยรวม ขณะเดียวกันมีคณะทำงานระดับจังหวัดที่รับผิดชอบตรวจสอบสต็อกข้าวของผู้ประกอบการทุกเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และครอบคลุมมูลค่าตั๋วสัญญาใช้เงินตามโครงการ
นางสาวญาณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ซึ่งมีการเก็บเกี่ยวไปแล้วมากกว่า 89% ของผลผลิตทั้งหมด แม้ราคาข้าวในตลาดโลกจะมีความผันผวน โดยเฉพาะหลังจากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวขาวในตลาดโลกลดลง แต่สถานการณ์ราคาข้าวในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้น โดยจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2568 พบว่า ราคาข้าวเปลือกยังใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปรังเกี่ยวสด (ความชื้น 25%) ราคา 6,500–6,800 บาทต่อตัน ข้าวเจ้าแห้ง (ความชื้น 15%) 7,600–8,000 บาทต่อตัน ข้าวเหนียวนาปรังสด (ความชื้น 25%) 9,400–10,200 บาทต่อตัน และข้าวเหนียวแห้ง (ความชื้น 15%) 11,000–12,000 บาทต่อตัน
“กรมฯจะยังคงติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดข้าวไทย และส่งเสริมรายได้ที่เป็นธรรมแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน”นางสาวญาณี กล่าว
-033
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี