กรมการค้าต่างประเทศเตือนผู้ส่งออกเตรียมรับมือมาตรฐานสินค้าและฉลากอาหารกระเทียมบดฉบับใหม่ของเคนยา
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเคนยา (Kenya Bureau of Standards : KEBS อยู่ระหว่างเสนอ (ร่าง) มาตรฐานผลิตภัณฑ์กระเทียมบดสดและกระเทียมบดเข้มข้นฉบับใหม่ (DKS 2431:2025 Garlic paste -Specification) เพื่อทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์กระเทียมบดจากมาตรฐานเดิมฉบับปี 2018 ซึ่งเป็นการยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภคและควบคุมคุณภาพสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศตลอดจนสินค้านำเข้าด้วย โดยมีข้อกำหนดด้านสุขอนามัยทั่วไป เช่น ต้องผลิตในสถานที่สะอาด ปราศจากแมลง เชื้อรา สิ่งแปลกปลอม การปนเปื้อนจากสัตว์ รวมถึงไม่มีกลิ่นหรือรสชาติที่ผิดปกติ นอกจากนี้ ในส่วนของการทดสอบด้านกายภาพและสารเคมีต้องเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของประเทศเคนยา (KS ISO) มาตรฐานผลิตภัณฑ์สากล (ISO) และข้อกำหนดท้ายภาคผนวก เช่น ต้องมีสีขาวนวล
ถึงน้ำตาลอ่อน มีการปนเปื้อนของโลหะหนักไม่เกินร้อยละ 22 และร้อยละ 55 และมีค่าความเป็นกรดน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 0.8 และร้อยละ 5 สำหรับกระเทียมบดสดและกระเทียมบดเข้มข้น ตามลำดับ รวมทั้งปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 2.0 ppm สารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) โดยรวมไม่เกิน 10 ppb และต้องไม่พบเชื้ออีโคไล (E. coli) สำหรับกระเทียมบดสด เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องติดฉลากอาหารให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลอย่างชัดเจน เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตที่อยู่ น้ำหนักสุทธิ วันที่ผลิต/หมดอายุ หมายเลขสินค้า ส่วนผสม คำแนะนำในการเก็บ หากมีการดัดแปรพันธุกรรมหรือผ่านการฉายรังสีก็จะต้องระบุไว้บนฉลากด้วย สำหรับการบรรจุภัณฑ์นั้นจะต้องใช้วัสดุที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับการสัมผัสอาหารโดยตรงและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค (Food Grade) และการขนส่งต้องบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าได้ โดย KEBS จะเป็นหน่วยงานสุ่มตัวอย่างตรวจสอบตามมาตรฐาน KS ISO 948 ซึ่งเป็นมาตรฐานการสุ่มตัวอย่างสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารตามหลักเกณฑ์ทั่วไป และนำมาใช้สำหรับการเก็บตัวอย่างเพื่อการวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพสินค้าในกลุ่มกระเทียมบดของประเทศเคนยา ทั้งนี้ (ร่าง) มาตรฐานดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการออกกฎหมายโดย KEBS หลังจากผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและภาคประชาชนแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2568
นางอารดาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องปรุง และมีศักยภาพในการส่งออกเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งรวมถึงประเทศในกลุ่มทวีปแอฟริกา จากข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) กระทรวงอุตสาหกรรมของไทยเปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2566 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสเป็นอันดับ 6 ของโลก มูลค่า 977 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเติบโต โดยเฉลี่ย 5 ปี นับตั้งแต่ 2561 – 2566 ที่ร้อยละ 7.6 จึงมีโอกาสทางการตลาดกระเทียมบดในกลุ่มทวีปแอฟริกาเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องปรุงรสอีกมาก ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ไทยส่งออกกระเทียมบด/แช่เย็นไปกลุ่มทวีปแอฟริกา มูลค่า 0.38 ล้านบาท แม้ว่ามูลค่าและอัตราการเติบโตจะมีไม่มาก แต่จากการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ (ร่าง) มาตรฐานดังกล่าว ยังคงมีความสำคัญที่ผู้ประกอบการไทย ควรจะต้องติดตามความคืบหน้าเพื่อรองรับโอกาสการส่งออกเพิ่มเติม และเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายตลาดส่งออกกระเทียมบดไปยังเคนยาและกลุ่มทวีปแอฟริกาได้อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารของคู่ค้า
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษารายละเอียดของ (ร่าง) มาตรฐานผลิตภัณฑ์กระเทียมบดของเคนยาเพิ่มเติมได้ที่https://members.wto.org/crnattachments/2025/TBT/KEN/25_01907_00_e.pdf หรือสอบถามข้อมูลได้ที่กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการการค้า โทร 0 2547 4848
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี