นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) รายงานว่า ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 6.5%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าของคู่ค้าฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพื่อกักตุนสินค้าก่อนครบกำหนดเส้นตายปรับขึ้นอัตราภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบในวันที่ 8 กรกฎาคม 2025 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการชะลอออกไปอีก 90 วัน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังหลายประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกทูน่ากระป๋องในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้อาจจะชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหลังการบังคับใช้ภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปี 2025 เติบโตได้ที่ราว 4%YOY โดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกจะยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่มีราคาที่จับต้องได้ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความต้องการกักตุนสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน เช่น ทูน่ากระป๋อง เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในระยะต่อไปคือ การแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งสำคัญอย่างเอกวาดอร์และจีน ทั้งนี้กำแพงภาษีที่สูงขึ้นจากนโยบายภาษีทรัมป์จะทำให้คู่แข่งหลักของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างเอกวาดอร์ มีแต้มต่อที่ดีขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มโดนเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำกว่าไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลให้คู่ค้าบางส่วนหันไปนำเข้าทูน่ากระป๋องจากเอกวาดอร์เพิ่มขึ้นแทน ขณะที่คู่แข่งอีกรายที่จะมองข้ามไม่ได้คือ จีน ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้น เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิต วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อม ๆ ไปกับขยายการส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง และการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG รวมถึงความท้าทายจากการปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์รักสุขภาพ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
ในปีที่ผ่านมา (2024) ไทยยังคงครองแชมป์ผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,344.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมดในตลาดโลก ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว นอกจากจะเป็นผลจากการที่ผู้เล่นไทยปักหมุดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อย่างยาวนาน จนทำให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตและทักษะฝีมือแรงงาน รวมทั้งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แข็งแกร่งและครบวงจรแล้ว ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งในการรับซื้อวัตถุดิบทูน่าจากแหล่งต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าทูน่ากระป๋องของไทยยังมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย
อย่างไรก็ดี คู่แข่งสำคัญในตลาดโลกที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ “จีน” ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจีนจะเป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากไทย และเอกวาดอร์ แต่เราพบว่าส่วนแบ่งตลาดของสินค้าทูน่ากระป๋องจากจีนได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี 2015 มาอยู่ที่ 10.8% ในปี 2024 สวนทางกับส่วนแบ่งตลาดของไทยที่ลดลงจาก 33.4% ในปี 2015 มาอยู่ที่ 25.5% ในปีล่าสุด สะท้อนถึงศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องในประเทศจีนที่เติบโตขึ้นและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนทำให้อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของจีนในปัจจุบัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปที่ทันสมัย รวมทั้งมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นของรัฐบาลจีน
ในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2025 มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยอยู่ที่ 945.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 6.5%YOY สอดคล้องกับการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ, ลิเบีย และออสเตรเลีย ที่เติบโตสูงขึ้นในทุกตลาด โดยมีอัตราการขยายตัวในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ 22.7%YOY, 16.1%YOY และ 2.5%YOY ตามลำดับ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เติบโตสูงขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าสินค้า (Frontloading) ของคู่ค้าฝั่งสหรัฐฯ ก่อนครบกำหนดเส้นตายการชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ 90 วัน ในวันที่ 8 กรกฎาคม ภายหลังผู้นำสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ รวมไปถึงการส่งออกทูน่ากระป๋องไปประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ อียิปต์, จอร์แดน, เยเมน และซีเรีย ที่ขยายตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่คุกรุ่นมากขึ้น จนทำให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคในอนาคตได้
สำหรับปี 2025 อุตสาหกรรมทูน่ายังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะเติบโตได้ที่ราว 4%YOY แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากคาดการณ์ก่อนหน้า ณ ช่วงปลายปี 2024 ที่ราว 6%YOY จากผลกระทบของนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกซบเซาลง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกทูน่ากระป๋องในช่วงที่เหลือของปี จะยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่ราคาที่จับต้องได้ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เปราะบาง รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน และการโจมตีในฉนวนกาซาที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้หลายประเทศมีความต้องการกักตุนผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยเฉพาะอาหารกระป๋องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในอนาคต
หากมองไปข้างหน้า ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) คือตลาดส่งออกทูน่ากระป๋องที่มีศักยภาพและน่าสนใจ เนื่องจากอุปสงค์มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา (2024) ไทยส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังภูมิภาคนี้มากถึงราว 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมด โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลิเบีย, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อิสราเอล และอียิปต์ ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเอื้อให้มีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ “ทูน่ากระป๋อง” ยังจัดเป็นสินค้าอาหารพื้นฐานที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงผู้บริโภคในทุกระดับรายได้ จึงสามารถบริโภคทดแทนโปรตีนจากเนื้อไก่หรือเนื้อวัวที่มีราคาสูงกว่าได้ ด้วยปัจจัยหนุนต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ MENA กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพเติบโตสูงและน่าจับตามอง สอดรับกับเป้าหมายของไทยในการเป็นมุ่งสู่การเป็นฮับอาหารฮาลาลของภูมิภาคอีกด้วย
ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นหลักที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในเวทีโลก คือการลด Carbon footprint ในห่วงโซ่การผลิตทูน่าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality ภายในปี 2050 ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมทูน่าของไทยตระหนักถึงความสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิตต่าง ๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าควรมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนสูญเสียของกระบวนการผลิต อาทิ การนำผลพลอยได้จากการผลิตทูน่ากระป๋อง (By-products) ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเปียกสำหรับสุนัขและแมวที่ทำจากปลาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งปลาทูน่า หรือแม้แต่การกลั่นและสกัดน้ำมันปลาทูน่าจากเนื้อปลาเพื่อออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีและมีอัตรากำไรค่อนข้างสูงแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจหลัก (Core business) เพียงทางเดียว และหนุนบทบาทของไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย
พร้อม ๆ ไปกับการปรับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจในอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งเรื่องความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก รสนิยมของผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าจะมองข้ามไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการยังต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย ทั้งจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกันและจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ ในตลาด เช่น โปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant-based products) หรือ Alternative protein ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี