นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน (DIT) เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้ร่วมมือกับ หอการค้าไทย และกลุ่มบริษัทค้าปลีก (Retail Business) ชั้นนำ อาทิ CP Extra Makro Lotus's, Big C, GO Wholesale, Tops, The Mall เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ โดยมุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และเสริมช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทย ภายใต้โครงการ “Thai Fruits Festival 2025”
นายวิทยากร กล่าวว่า กรมการค้าภายในเดินหน้านำนโยบายสู่การปฏิบัติจริง ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดสด ตลาดกลาง ค้าปลีก-ค้าส่ง และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยกรมการค้าภายในตั้งเป้าเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน จำนวน 150,000 ตันผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย สับปะรด ลองกอง มะม่วง เงาะ ส้ม ลิ้นจี่ มะพร้าว ส้มโอ เป็นต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนและหอการค้าไทย ในการจัดกิจกรรมการตลาดหลากหลายภายใต้โครงการ “Thai Fruits Festival 2025” อาทิ การจัดเทศกาลผลไม้ กิจกรรมส่งเสริมการขาย และการรณรงค์บริโภคผลไม้ไทยตามฤดูกาล
นายวิทยากร กล่าวว่า ในช่วงตั้งแต่เมษายนถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา ผลไม้ภาคตะวันออก ทั้งทุเรียน เงาะ และมังคุดได้ออกสู่ตลาดในภาวะค้าขายปกติ รวมถึงในช่วงการปิดด่านชายแดนไทย–กัมพูชา กรมการค้าภายในติดตามใกล้ชิด และยืนยันไม่มีผลไม้ตกค้างหน้าด่าน เนื่องจากกรมร่วมกับหอการค้าจังหวัดติดตามสถานการณ์และเร่งดูดซับผลผลิตเข้าสู่ตลาดหลักในประเทศ และกระจายต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ กว่า 95,000 ตัน เพื่อให้เกษตรกรได้มีตลาดรับสินค้าเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้เป็นช่วงผลไม้ภาคใต้ ทั้งทุเรียนชุมพร มังคุดนครศรีธรรมราช เงาะสุราษฎร์ธานี และลองกองจากจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงมะม่วงที่มีผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี และจะตามมาด้วยลำไยจากลำพูนและเชียงใหม่
ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาด ซึ่งวันนี้ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมการค้าภายใน หอการค้าไทย และศูนย์ AFC ที่จะเชื่อมโยงทุกเครือข่าย ทั้งค้าปลีก ตลาดสด โรงแรม ภัตตาคาร สมาคมเชฟ รวมถึงสายการบินและบริการขนส่งต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าและการแปรรูป ยกระดับมูลค่าผลไม้ไทยให้แข่งขันได้
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเกษตรและอาหารเป็นภาคสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากสถานการณ์โลก เช่น มาตรการภาษีของสหรัฐฯ และข้อกำหนดของจีนเกี่ยวกับการตรวจสอบสารในทุเรียน ซึ่งหอการค้าไทยได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหา ยกระดับมาตรฐานการส่งออก และสร้างความเชื่อมั่นในตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันหอการค้าไทยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร (AFC) เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ
โดยศูนย์ AFC จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลผลผลิตในแต่ละฤดูกาล จากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และเครือข่ายภาคเอกชน ประสานงานกับผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก ผู้แปรรูป โรงแรม ภัตตาคาร รวมถึงเครือข่ายขนส่ง เพื่อวางแผนการตลาดและกระจายผลผลิตได้ทันสถานการณ์ ลดความเสี่ยงผลไม้ตกค้าง และพยุงราคาสินค้าให้เป็นธรรมต่อเกษตรกร โดย ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ศูนย์ AFC ดำเนินงานร่วมกับ 28 หน่วยงาน ช่วยระบายผลผลิตจากเกษตรกรได้กว่า 218,356 ตัน คิดเป็นมูลค่า 14,172 ล้านบาท
“นี่คืออีกก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ศูนย์ AFC และประชาชน ที่จะช่วยกันรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ไทย เสริมรายได้ให้เกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น ตลอดจนขยายตลาดผลไม้ไทยไปได้ไกลทั้งในและต่างประเทศ” นายวิทยากร กล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี