นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศได้เข้าร่วมการเจรจาเพื่อปรับปรุงข้อบทของความตกลงตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ออสเตรเลีย–นิวซีแลนด์ (ASEAN–Australia–New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) ในส่วนของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งแต่ปี 2564 โดยนอกจากการปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าสำหรับสินค้าบางรายการให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตในปัจจุบันมากขึ้น เพิ่มเติมข้อบทเพื่อรองรับรูปแบบทางการค้าใหม่ ๆ เช่น การอนุญาตให้แบ่งการส่งออก หรือการขายผ่านนายหน้าประเทศที่สามหลายทอด หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กรมฯ ผลักดันในการเจรจา คือ การเพิ่มทางเลือกให้ผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตของไทยให้สามารถใช้วิธีการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-certification by Approved Exporter) นอกเหนือจากการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin – C/O) ในรูปแบบกระดาษ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าเสรียุคใหม่ที่มุ่งเน้นความสะดวก รวดเร็ว และลดภาระเอกสารให้กับภาคธุรกิจ
โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 รัฐสภาไทยได้ให้ความเห็นชอบในการให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่สองฯ แล้ว โดยก่อนที่จะถึงวันบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 กรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างการดำเนินการในหลายด้านเพื่อรองรับการบังคับใช้ ได้แก่ การยกร่างประกาศกรมฯ เพื่อกำหนดรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้ครอบคลุมทั้งแบบ C/O และ Self-certification และการปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ระบบ ได้แก่ (1) ระบบตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ระบบตรวจต้นทุน ROVERs Plus (2) ระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ ระบบ SMART C/O และ (3) ระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต หรือ ระบบ Self-certification
ทั้งนี้ การปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ AANZFTA ได้อย่างเต็มที่ และเป็นก้าวสำคัญของไทยในการเข้าสู่ยุคของการค้าเสรีอย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น
นางอารดา กล่าวว่า ในภาพรวมพิธีสารฉบับที่สองของ AANZFTA ถือเป็นความคืบหน้าเชิงยุทธศาสตร์ของไทยในการผลักดันการค้าเสรีในระดับภูมิภาค โดยนอกจากการอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้ว ยังครอบคลุมถึงประเด็นใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อบริบทโลกในปัจจุบัน เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือด้านศุลกากร การนำพิธีสารฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพจึงไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย แต่ยังสะท้อนถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบและพร้อมขับเคลื่อนการค้าเสรีในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี