‘ทรัมป์’โหด!สหรัฐลุยรีดเก็บภาษีเต็มสูบ
ไทยโดนภาษี36%
เริ่มใช้มาตรการ1ส.ค.นี้
ยังเปิดทางเจรจาต่อรอง
‘พิชัย’โวมีแผนสำรองรับมือ
ปชน.ชี้ต้อนไทยจนมุม
ผู้นำสหรัฐส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย ยืนยันเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ 36% เริ่ม 1 สิงหาคมนี้ พร้อมเปิดทางเจรจาต่อรอง หากไทยยกเลิกกำแพงภาษี-มาตรการกีดกันการค้า ก่อนภาษี มีผล “พิชัย” เชื่อปิดดีลภาษีสหรัฐฯ ได้ก่อน 1 ส.ค. ต่ำกว่า 36% ยันมีแผนสำรอง หากไม่เป็นไปตามเป้า ระบุ หลังจากนี้ ประชุมทุกวัน “ศิริกัญญา”ช็อก! ไทยโดนชุดแรก ชี้ เป็นการบีบต้อนให้จนมุม ด้วยเดดไลน์ จนต้องคายข้อเสนอเสี่ยงสูง มองบวกยังมีเวลาหายใจ ได้ลุ้นข้อเสนอใหม่จะได้ต่ำกว่า 36% หรือไม่ บอกเจรจาล่าช้ามีผลมาก ไทยเพิ่งครั้งแรก แต่ประเทศอื่นคุยหลายรอบจนจะปิดดีลได้แล้ว
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โพสต์ภาพจดหมายถึงรัฐบาลไทย ผ่านทาง Truth Social ยืนยันจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2025 พร้อมเปิดทางเจรจาต่อรอง หากไทยยกเลิกกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันการค้า โดยระบุว่า 7 กรกฎาคม 2025 ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน เพื่อแสดงถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาในการสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทย แม้ว่าสหรัฐจะประสบภาวะขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญกับประเทศของท่านมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี เราได้ตัดสินใจเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศไทย ภายใต้หลักการของการค้าที่เป็นธรรม สมดุล และต่างตอบแทน เราขอเชิญประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลก
อ้างต้องทำเพื่อให้เกิดความสมดุล
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้หารือเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยอย่างต่อเนื่อง และได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องยุติความไม่สมดุลที่สะสมมาเป็นเวลานาน อันเกิดจากนโยบายภาษี มาตรการที่มิใช่ภาษี และกำแพงการค้าอื่น ๆ ของไทย ความสัมพันธ์ในปัจจุบันจึงไม่อาจถือว่าเป็นไปอย่าง “ต่างตอบแทน” ได้
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025 สหรัฐอเมริกาจะจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สำหรับสินค้าทุกประเภทที่ส่งออกจากไทยเข้าสู่สหรัฐ โดยไม่ขึ้นกับอัตราภาษีในหมวดหมู่สินค้าเฉพาะใด ๆ ทั้งสิ้น สินค้าที่มีลักษณะถ่ายโอนผ่านประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงเท่ากัน
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการะบุอีกว่า โปรดเข้าใจว่า อัตรา 36% นี้ยังต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการขจัดช่องว่างดุลการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากประเทศไทย หรือบริษัทของไทยเลือกที่จะมาตั้งฐานการผลิต หรือประกอบสินค้าภายในสหรัฐ สินค้าเหล่านั้นจะได้รับการยกเว้นภาษี และรัฐบาลสหรัฐจะดำเนินการอนุมัติด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว มืออาชีพ และเป็นระบบ ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
ขู่ถ้าขึ้นภาษีนำเข้าเจอตอบโต้แน่
หากประเทศไทยเลือกที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ไม่ว่าในอัตราใด อัตรานั้นจะถูกรวมเข้ากับภาษี 36% ที่เราประกาศใช้ โปรดทราบว่ามาตรการนี้มีความจำเป็น เพื่อแก้ไขผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของไทยที่ดำเนินมายาวนาน และเพื่อยุติภาวะขาดดุลที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของเรา และแม้แต่ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ
เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับประเทศไทยในฐานะพันธมิตรทางการค้าอีกยาวนาน หากรัฐบาลของท่านมีความประสงค์จะเปิดตลาดที่เคยปิดต่อสินค้าสหรัฐ และยกเลิกกำแพงภาษี รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้า เราอาจพิจารณาปรับอัตราภาษีในจดหมายฉบับนี้
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ประกาศสามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ ขึ้นอยู่กับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา ท่านจะไม่มีวันผิดหวังกับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา
ขอขอบคุณที่ให้ความสนใจต่อเรื่องนี้ ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
สื่อนอกมองข้อเสนอไทยยังไม่เข้าตา
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จนถึงขณะนี้มี 14 ประเทศที่ได้รับจดหมายเตือน โดยในส่วนของไทยที่การเดินทางไปเจรจากับ นายเจมิสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ยังไม่ทำให้สหรัฐพอใจและกำลังกลับมาจัดทำข้อเสนอใหม่ถูกเรียกเก็บภาษีที่ 36% เท่าเดิม ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับกัมพูชาที่ก่อนหน้านี้เคยระบุว่าได้ข้อยุติในการเจรจากับ USTR แล้ว ซึ่งก็ลดลงจากอัตราภาษีในครั้งแรกที่สหรัฐประกาศต่อกัมพูชาที่ 49% ขณะที่เพื่อนบ้านในอาเซียน อินโดนีเซียถูกเรียกเก็บ 32% เท่าเดิม ส่วนลาวและเมียนมา 40% จากที่เคยถูกเรียกเก็บเดิม 48% และ 44% ตามลำดับ มาเลเซีย ตูนิเซีย และคาซัคสถาน 25% โดยมาเลเซียถูกเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 24% เป็น 25% แอฟริกาใต้ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 30% เซอร์เบียและบังกลาเทศ 35%
อย่างไรก็ดีในจดหมายที่ทรัมป์ส่งไปให้กับประเทศต่างๆ ยังคงเปิดช่องสำหรับการเจรจาเพิ่มเติม แต่ก็มีคำเตือนว่าหากประเทศต่างๆ ออกมาตรการตอบโต้กลับ ก็จะเจอมาตรการตอบโต้จากฝั่งสหรัฐแบบตอบโต้จากสหรัฐซึ่งอาจจะเท่าเดิมหรือมากกว่า ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีเพียงสองประเทศคือ สหราชอาณาจักรและเวียดนาม ที่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐได้
10อันดับสินค้าไทยเสี่ยงกระทบหนักสุด
สำหรับ 10อันดับสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐสูงสุดใน 5 เดือนแรกของปี 2568 และมีความเสี่ยงที่จะถูกผลกระทบก่อน มีดังนี้ 1.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 6,567.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.ผลิตภัณฑ์ยาง 1,985.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.เครื่องโทรสารโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,802.6ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.อัญมณีและเครื่องประดับ 1,049.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 5.เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,045.1ล้านดอลลาร์สหรัฐ 6.หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 990.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 7.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 979.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 8.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 765.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 9.เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ 762.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 10.อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด 709.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
พิชัยเชื่อข้อมูลใหม่ส่งถึงสหรัฐแล้ว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสหรัฐส่งจดหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 36% ว่า มี 10 กว่าประเทศ ที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราภาษี โดยในข้อความระบุว่าให้ประเทศเหล่านี้เร่งเจรจาก่อนวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเจรจาต้องใช้เวลา โดยอัตราภาษีที่ประกาศ มีอยู่ 2-3 ลักษณะคือ 1. ถ้ายังไม่ได้เจรจา หรือภาษีอยู่ในอัตราที่เหมาะสมอยู่แล้ว ก็จะยืนตามเดิม ส่วนกลุ่มประเทศที่อัตราภาษีเกิน 40% ก็จะถูกดึงลงมาเพื่อให้อัตราอยู่ที่ 40% นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่อัตราคงเดิม และประเทศที่เคยส่งข้อเสนอไปแล้ว จะมีการปรับเข้ากลุ่ม อาทิเช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เราจึงต้องใช้เวลาช่วงนี้ทำงานให้หนักขึ้น
ทั้งนี้ มั่นใจว่าข้อมูลที่ส่งไปก่อนหน้านี้ ผู้ปฏิบัติได้รับแล้ว แต่การที่หนังสือที่ประกาศขึ้นอัตราภาษีออกมานั้น เพราะหากไม่ประกาศก็จะทำงานไม่ได้ เชื่อว่า อัตราภาษีจะทำให้เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มระดับเดียวกันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า และการส่งออกของไทย ทำให้เราสามารถแข่งขันได้ ส่วนข้อเสนอใหม่ที่เรายื่นไปนั้น โดยปกติข้อเสนอเหล่านี้จะมีรายการจำนวนมาก ซึ่งจะมีการทำ FTA อยู่แล้ว อยู่ในอัตรา 0%
อยู่ที่สหรัฐจะตอบกลับเมื่อไหร่
ผู้สื่อข่าวถามว่า อัตราภาษีที่คาดหวังไว้อยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ นายพิชัยกล่าวว่า ขอให้อยู่ในกลุ่มที่แข่งขันได้ สินค้าใดที่ส่งออกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ก็ควรอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยอัตราภาษี 36% นั้น ไม่ได้บังคับใช้ทั้งหมด สามารถดึงส่วนที่คิดว่ามีอัตราภาษีที่แตกต่างกันได้หมด ทั้งนี้ เราไม่ได้ไปขอลดอัตราภาษีจาก 36% แต่สิ่งที่ทำคือ เจรจาว่าจะมีความร่วมมืออย่างไรบ้าง ส่วนสินค้าที่เรานำเข้ามานั้นจะมีหน้าตาอย่างไร สหรัฐฯได้นำเรื่องนี้ไปพิจารณา และทำงานร่วมกับเรา เสร็จแล้วเขาจะเป็นฝ่ายตอบว่าจะเป็นเท่าไหร่ เชื่อว่าจะไม่ใช่อัตราเดียว อาจจะเป็นอัตราหนึ่งที่สอดคล้องกับสินค้านั้นๆ
ถามว่า ได้วางไทม์ไลน์ไว้หรือไม่ว่าสหรัฐฯ จะตอบกลับข้อเสนอของเราเมื่อไหร่ นายพิชัยร้อง โอ้โห ก่อนกล่าวว่า เราไปวางไทม์ไลน์ไม่ได้ สิ่งที่เราให้เขา เขาก็บอกแล้วว่าให้เจรจาไปเรื่อยๆ เขาจะเป็นผู้กำหนดเอง ว่าจะให้เท่าไหร่
ยืนยันสิ่งที่ส่งไปเป็นข้อเสนอที่ดี
นายพิชัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ไม่รับพิจารณาข้อเสนอ และไทยถูกจัดเก็บภาษีที่ 36% หรือไม่นั้น เรายังไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าข้อเสนอของเรา เป็นข้อเสนอที่ดีและเปิดเผย ต้องคำนึงว่าข้อเสนอที่เราให้ไป ผู้เกี่ยวข้องก็จะมีอีกมาก จึงต้องทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจและยอมรับได้
เมื่อถามว่า รัฐบาลเดินเกมช้าไปหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ไม่ช้า เพราะในการทำสิ่งนี้ คนทำงานระดับนโยบายก็ส่งข้อความมา คนทำงานก็ทำงานไป แม้ตนจะเดินทางไปสหรัฐฯ ในวันที่ 1-3 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้น เราคุยกันตลอดเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน และไม่ได้คุยกันเฉยๆ แต่คุยถึงรายการสินค้าและลงรายละเอียด ดังนั้น ตนไม่ได้ไปเจรจาแค่เรื่องนโยบายอย่างเดียว ปัญหาอะไรแต่พูดคุยว่าสิ่งที่เราเสนอไป มีปัญหาอะไร และอยากได้อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ จึงหมายความว่าเราไม่ได้ดำเนินการช้า
มั่นใจไทยจะได้รับข่าวดี
เมื่อถามว่า รัฐบาลมีแผนสำรองหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า แน่นอน ไม่ว่าภาษีจะอัตรา 36% หรือต่ำกว่านั้น เพราะการค้าขายในโลกนี้ ต้องปรับกันใหม่ ส่วนการเยียวยาผู้ประกอบการนั้น อยู่ในแผนอยู่แล้ว แม้จะยังไม่มีข้อตกลง แต่การส่งออกก็อาจชะลอไป ซึ่งอาจมีผู้ได้รับผลกระทบ แต่เราได้เตรียมการไว้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า จะมีการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลือ มาเยียวยาผู้ประกอบการหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ต้องดูความจำเป็นว่าถูกที่ถูกทางหรือไม่ เพราะยังมีแหล่งเงินอื่นที่จะลงมาช่วยได้
“มั่นใจว่าข้อเสนอของไทยครั้งนี้จะได้รับข่าวดี เนื่องจากอธิบาย วัดผล และปฏิบัติได้ ซึ่งได้ผลต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแล้วหาย เวลาเสนออะไรแล้ว จะรับปากเฉยๆ ไม่ได้ ต้องปฏิบัติได้ด้วย” นายพิชัย กล่าว
เมื่อถามว่า จะบินไปเจรจากับสหรัฐฯ อีกเมื่อไหร่ นายพิชัย กล่าวว่า “ไม่อีกเมื่อไหร่ ประชุมทุกวันต่อไปนี้” ก่อนจะเดินขึ้นตึกบัญชาการไปทันที
“ภูมิธรรม”งงสหรัฐสวนทางการพูดคุย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า เรื่องการเจรจาภาษีมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่ตนไปประเทศสิงคโปร์ และได้พูดคุยกับรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ได้หารือกัน คือ การขอนัดวันเจรจา เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันมานาน และก็ให้วันนัดมา ก่อนไปเจรจากัน แต่ในการเจรจากันที่มาบอกว่าตอนนี้ใช้อัตราภาษี 36% มองว่าสวนทางกันอยู่บ้าง เพราะในการพูดคุยกับผู้แทนการค้าที่ได้นัดหมายกันนั้น ขณะที่ทางทำเนียบและส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือมา ซึ่งสวนทางกัน คิดว่าหากสามารถสรุปรวบรวมได้น่าจะมีอะไรดีขึ้น โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีอะไรดีขึ้น ซึ่งรายละเอียดขอให้รอนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง
สภาอุตฯคาดส่งออกเสียหาย8-9แสนล.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในเบื้องต้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทยอาจอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท
“แม้ว่าข้อเสนอแรกของไทยจะถูกส่งไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมและมีการลงนามในเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม ซึ่งอาจสวนทางกับประกาศของสหรัฐฯ ที่แจ้งมา ขณะนี้ ไทยได้ส่งข้อเสนอที่ 2 ไปแล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากข้อเสนอแรก โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะลดภาษีให้เป็น 0% ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายการ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปนั้น ยังไม่มีการตอบกลับมา แต่เชื่อว่า หากสหรัฐฯ ได้พิจารณาอีกครั้งในข้อเสนอเพิ่มเติมใหม่นี้ น่าจะมีผลไปในทิศทางบวก” นายเกรียงไกร กล่าว
“ไหม”ช็อกไทยโดนขึ้นภาษีชุดแรก
ด้านน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน(ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสหรัฐฯส่งจดหมายแจ้งไทยเรื่องการปรับอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งไทยถูกเก็บในอัตรา 36% ว่า เป็นเรื่องค่อนข้างช็อก ตอนแรกที่ประกาศว่าจะส่งจดหมาย ยังไม่ได้คิดว่าไทยจะอยู่รอบแรก เนื่องจากเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันที่ได้รับจดหมาย
“การที่จบที่ 36% คิดว่าเป็นการบีบต้อนให้เราจนมุมด้วยเดดไลน์ ทำให้ต้องคายข้อเสนอที่ยังตกลงกันไม่ได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษี 36% ดังนั้น 36% คงเป็นอัตราสูงสุดที่เราจะได้รับ คงไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้แล้ว เพราะหลายประเทศถูกปรับขึ้นภาษีด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น มาเลเซีย จึงถือว่ายังมีช่วงเวลาให้เราได้หายใจ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอใหม่ ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้ตนเข้าใจว่าถูกส่งไปตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมแล้ว จึงต้องรอท่าทีของทางสหรัฐจะเป็นอย่างไร” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
สินค้าเกษตรไทยน่าห่วงกระทบแน่
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอลดสินค้าเกษตรของไทย จะทำให้ผลเจรจาดีขึ้นหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่า สินค้าเกษตรดังกล่าวมีอะไรบ้าง รวมถึงข้อเสนอที่จะเก็บภาษี 0% ใน 90% ของสินค้าสหรัฐที่นำเข้ามาในไทย เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ประกาศไปแล้วว่าจะลดเหลือ 0% ทุกรายการของสินค้าสหรัฐ ทำให้ได้ลดอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ก็อาจทำให้ข้อเสนอของไทย ไม่ได้น่าดึงดูดนัก ขณะเดียวกันเราต้องขอดูทั้ง 90% ของรายการสินค้าสหรัฐที่ไทยจะลดภาษีให้ มีอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ ดังนั้น โอกาสที่จะกระทบต่อเกษตรกรไทย ก็ค่อนข้างสูง ส่วนเรื่องการย้ายฐานการผลิต ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ไทยต้องกังวลขึ้น ตอนนี้ฝุ่นยังตลบค่อนข้างมาก ยังไม่รู้ว่าภาษีสุดท้ายจะอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องรอการเจรจาให้เสร็จก่อนทุกประเทศ
น.ส.ศิริกัญญายังยอมรับว่า ตอนนี้เรายังพอมีหวังจะได้ลดอัตราภาษี การขยับเดดไลน์ครั้งนี้เป็นการขยับจากที่จะเริ่ม 9 กรกฎาคมไปเป็น 1 สิงหาคม ถึงแม้เราจะได้เจรจาไปแค่ครั้งเดียว แต่ก็ได้ส่งข้อเสนอใหม่ไปแล้ว ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้ลดอัตราภาษีน้อยลงกว่า 36% ยังมีอยู่ ต้องลุ้นว่าข้อเสนอที่ส่งไปใหม่สหรัฐฯจะยอมรับหรือไม่ และต้องคำนึงด้วยว่า สิ่งที่เราเสียสละไปเพื่อที่จะแลกกับอยู่บนโต๊ะเจรจา มีสินค้าตัวไหนที่ได้รับผลกระทบ
ชี้ไทยถูกบีบด้วยเดดไลน์ให้จนมุม
“การบีบการขู่ ด้วยจดหมายแบบนี้ เอาเดดไลน์มาบีบให้เราจนมุมขนาดนี้ ก็ทำให้การเจรจามีแรงกดดันสูงมากๆ จึงไม่แน่ใจว่าเราได้ให้อะไรที่ไม่สมควรที่จะให้ไว้หรือไม่ เพราะไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเลย เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็คงต้องเตรียมแผนรองรับ และยาวๆผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทางภาคส่งออกเอง ถ้าโดน 20% ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะแข่งขันได้ หรือโดนเกิน 20% เพราะเราไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีแบบทางเวียดนาม ก็ต้องยิ่งเตรียมตัวรับผลกระทบหนัก” น.ส.ศิริกัญญากล่าว และเป็นห่วงว่า หลังเจรจาเดือนเมษายน ยังไม่เห็นรัฐบาลเตรียมการเยียวยาผลกระทบให้ผู้ส่งออกและเกษตรกร ที่ผ่านมามีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณหมื่นล้านเศษ ให้ผู้รับผลกระทบกับสงครามการค้า แต่มันน้อยนิดเหลือเกิน
ชงทำงบฯใหม่รับกำแพงภาษี-ไทยเจรจาช้า
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ในคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 พรรคประชาชน เสนอจัดทำงบประมาณใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้จะเสนอใหม่อีกครั้ง แต่ต้องให้รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการมา มาอธิบายก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นเพราะเราเริ่มช้าหรือไม่ ทำให้ผลเจรจาออกมาแบบนี้ น.ส.ศิริกัญญายอมรับว่า มีผลมาก เพราะตอนนี้หลายประเทศ เหลือรายละเอียดอีกไม่กี่อย่าง ที่ยังตกลงกันไม่ได้ และการที่พูดคุยกันหลายรอบ ก็ปรับเปลี่ยนข้อเสนอกันตามเดดไลน์ที่กำหนด เหลือเพียงเล็กน้อยก็บรรลุข้อตกลง แต่สำหรับไทยกลายเป็นคุยไปเพียงครั้งเดียว และโดนบีบให้จนมุมด้วยเดดไลน์ที่กระชั้นชิด ทำให้เราต้องยื่นข้อเสนออะไรบางอย่างที่เสี่ยงสูง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง ดังนั้น ต้องรอให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยอย่างจริงจังในข้อเสนอล่าสุดที่ส่งไปให้สหรัฐ รวมถึงต้องได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และจะเยียวยาอย่างไร
อดีตบิ๊กข่าวกรองส่งจม.เปิดผนึกถึงทรัมป์
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีทรัมป์ผมขอส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีทรัมป์ ผ่านสถานเอกิครราชทูตสหรัฐฯเรื่องการขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้าไทยที่จะส่งเข้าสหรัฐฯ ประการแรก ผมไม่เข้าใจว่าท่านทรัมป์จะส่งหนังสือกราบบังคมทูลในหลวง เรื่องการขึ้นภาษีทำไม. ท่านทรัมป์ไม่รู้หรือว่า ในหลวงทรงอยู่เหนือการเมือง และไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งไม่ทรงลงมาล้วงลูกการบริหาราชการใดๆ ไม่สามารถสั่งรัฐบาลได้ ดังนั้นการนำความกราบ บังคมทูลในเรื่องนี้จึงผิดกาละเทศะ
ประการที่สอง หนังสือที่ท่านทรัมป์มีถึงฝ่ายบริหารของรัฐบาลไทย ลงวันที่ 7 ก.ค. แต่กลับส่งถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการนายกรัฐมนตรี ลูกน้องของท่านไม่ได้บอกหรือว่า วันที่ในหนังสือฉบับดังกล่าว นายสุริยะ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะนายสุริยะ ได้นำ ครม.ชุดใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ และที่ประชุม ครม.ชุดใหม่ได้ให้นายภูมิธรรม ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ แล้ว ดังนั้น นายสุริยะจะไปสั่งใครได้ สุดท้าย อยากฝากเรียนท่านทรัมป์ ท่านจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยสูงเท่าใดก็ได้ แต่ขอให้นึกถึงวันเก่าๆในอดีตที่ไทยร่วมมือกับอเมริกัน และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด. แต่วันนี้ เมื่อยุทธศาสตร์เปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน ไทยในสายตาอเมริกาคงหมดความหมาย. คงเป็นได้แค่เพื่อนรู้จัก
“กอบศักดิ์”’แนะรัฐเร่งหาทางออก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และอุปนายก สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า ประเทศไทย 36% !!! เท่ากับรอบแรกเป็นคำเตือนว่าที่เสนอมา ยังไม่พอ ไม่โดนใจยังไม่ใช่ Good Dealกรุณาทำการบ้านเพิ่มแล้วกลับมาต่อรองอีกรอบไม่เช่นนั้น จบที่เดิม“ที่เคยประกาศไว้ที่ 2 เม.ย. ซึ่งในรอบนี้ สหรัฐอาจจะไม่ถอยเพราะตลาดได้รับรู้ตัวเลขเหล่านี้ ไปแล้วครั้งหนึ่งผู้ประกอบการสหรัฐมีเวลาปรับตัวมา 90 วันถ้าตลาดหุ้นสหรัฐลงไม่มาก ในช่วง 2-3 วันข้างหน้าลงไม่ถล่มทลายเหมือนต้นเมษายนก็ยากที่จะมีใครมาเปลี่ยนใจท่านประธานาธิบดี Trump ได้
ทั้งนี้ สำหรับไทยถ้าเวียดนาม 20% มาเลเซีย 25% เราจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ 10-16% จะมีนัยยะอย่างยิ่งกับผู้ส่งออก ทำไมจะซื้อจากไทย ถ้าซื้อจากคู่แข่งถูกกว่า ยิ่งไปกว่านั้น มีนัยยะกับคนที่คิดจะมาลงทุน จะมาสร้างโรงงานทำไม เพราะถ้าสร้างเสร็จแล้ว ต้นทุนภาษีแพงกว่าคู่แข่ง ส่งไปก็สู้ไม่ได้ ไปสร้างที่เวียดนามเลยดีกว่าไหมเราคงต้องคิดเพิ่มว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าประเทศไทยจะเสนออะไรกลับไปอีกรอบเพื่อให้พ้นจากจุดนี้ เพราะจากที่เวียดนามเจรจาลดลงมาได้46% เหลือ 20%แสดงว่าต้องมีหนทาง
“ธีระชัย”เตือนรบ.อย่าซ่อนข้อมูลเจรจา
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีตรมว.คลัง แสดงความกังวลต่อกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% โดยชี้ว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก พลังประชารัฐเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการเจรจาอย่างตรงไปตรงมา เพราะเรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่การค้าระหว่างประเทศ แต่เชื่อมโยงถึงนโยบายอุตสาหกรรม การลงทุน และโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ นายธีระชัยยังตั้งข้อสังเกตว่าไทยยังใช้แนวทางเจรจาแบบเดิม เช่นการเสนอซื้อสินค้าแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการแสดงผลสำเร็จนโยบายกีดกันทางการค้า
“รัฐบาลต้องเร่งกำหนดจุดยืนอย่างชัดเจน ใช้เวลาที่เหลือก่อน 1 ส.ค.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมย้ำว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องตั้งอยู่บนหลักความโปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืน ไม่ใช่แค่การอ้างความลับเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” นายธีระชัย กล่าว
“กรณ์”ชี้ไทยเจอภาษี 36% เลวร้ายที่สุด
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ก “กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij” ระบุว่า เราเจอเข้าเต็ม 36%! นี่คือผลเจรจาที่เลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้ เพราะนอกจากไม่ได้ลดหย่อนอะไรจากที่อเมริกาประกาศไว้เมื่อ 90 วันก่อน แต่เป็นอัตราที่สูงกว่าเวียดนามที่เจรจาลดของเขาลงได้กว่าครึ่ง อเมริกาแจ้งมาว่าหากในอนาคตเราลดภาษีที่คิดเขาลง เขาก็จะปรับภาษีที่คิดกับเราลงตามการเจรจากับทรัมป์เป็นเรื่องที่ยากมาก อเมริกาถือไพ่เหนือกว่าเราเป็นทุนเดิม และในขณะที่รัฐบาลเราหา win-win เขาเองมองว่าเราเอาเปรียบเขามานานแล้ว ถึงเวลาเขา win คนเดียวบ้างเพื่อเป็นการชดเชย - ทีมเราอ่านเกมส์นี้ไม่ขาด ที่เวียดนามกล้าลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% เป็นเพราะเขาแข่งขันได้ (และพร้อมแข่งขัน) มากกว่าเราในทุกภาคอุตสาหกรรม คำถามคือในการเจรจาที่ผ่านมาเรายังพยายามปกป้องใครอยู่บ้าง? คุ้มหรือไม่กับความเดือดร้อนของผู้ส่งออก และการสูญเสียรายได้ของประเทศ?
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี