ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์บทความ “มองไปข้างหน้า ยังมีโอกาสเหลือสำหรับไทยหรือไม่ ? กับกำแพงภาษีในการนำเข้าสหรัฐฯที่ถูกยืนยันตัวเลข 36%” ทางเพจเฟซบุ๊ก เนื้อหาของโพสต์เป็นมุมมองของ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก ทีดีอาร์ไอ โดยได้ระบุว่า ก่อนที่จะถึงเส้นตายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ยังพอมีโอกาส ที่สหรัฐฯจะพิจารณาอีกครั้งตามข้อเสนอที่ไทยเสนอไปใหม่ แต่อัตราภาษีจะสูงกว่า 10% อย่างแน่นอน และพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนใจจากสินค้าไทยไปซื้อสินค้าในประเภทเดียวกันจากประเทศคู่แข่งที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าไทย แต่อย่าเพิ่งหมดหวังกับตลาดสหรัฐฯ เพราะในบางสินค้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ราคา“ เพียงอย่างเดียว แต่สู้กันด้วย “คุณค่า” อย่างงานจิวเวอร์รี่ฝีมือช่างไทย และจีนถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าไทย มีโอกาสที่สินค้าไทยจะเข้าไปทดแทนสินค้าจีนในบางประเภท เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการแพทย์อย่างเข็มฉีดยา ซึ่งจีนครองตลาดถึง 13% ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.13% จึงมีช่องว่างที่ไทยจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งจากจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้
ทั้งนี้สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มี 2 ส่วน ส่งออกทางตรง 18% ของจำนวนสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด และสินค้าส่งออกทางอ้อม (วัตถุดิบ-ชิ้นส่วน) ที่ถูกสั่งซื้อโดยประเทศอื่นเพื่อนำไปผลิตส่งออกสหรัฐฯ อีก 6% เท่ากับไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ราวๆ 24% ซึ่งผลจากสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกโตช้าลง ซ้ำเติมการส่งออกของไทย เพราะประเทศคู่ค้าต่างๆ ย่อมถูกผลกระทบจากนโยบายนี้เช่นกัน คาดว่าการส่งออกของไทยจะโตน้อยลงเหลือ 1-2% เห็นผลได้ชัดในต้นปีหน้า (ปีนี้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯสต๊อกสินค้าไว้หมดแล้ว) ดังนั้นไทยต้องพยายามทำ Free Trade Agreement (FTA) กับประเทศอื่น ๆ ให้มากขึ้นเพื่อเป็นทางรอดให้กับสินค้าส่งออก ซึ่งไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงกับสหภาพยุโรป(EU) คาดว่าจะลงนามได้ในปีหน้า นั่นหมายความว่าไทยจะส่งออกไปยังEUได้มากขึ้น
ดร.กิริฎา ระบุอีกว่ามีโอกาสที่ธุรกิจจะย้ายฐานการผลิตไปผลิตสินค้าที่เวียดนามผลิตได้เหมือนไทย เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ถูกกว่าแต่ภาคธุรกิจจากบางประเทศ ไม่ได้พิจารณาเฉพาะอัตราภาษีเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง Geopolitics ด้วย ซึ่งไทยมีท่าทีที่เป็นมิตรกับทุกฝ่ายทำให้ได้เปรียบในประเด็นนี้ และมีสินค้าหลายประเภทที่ผู้ผลิต ไม่ได้มุ่งตลาดสหรัฐฯ แต่เน้นส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอื่น และไทยสามารถผลิตได้ดี อย่างอุตสาหกรรม Bioproducts ในกลุ่มของอาหาร วิตามิน ingredients เครื่องสำอางค์ และ ไทยยังพอมีหวังกับสินค้าที่ต้องการแรงงานทักษะสูง สินค้าที่ใช้ดีไซน์ ฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งอาหารแปรรูป และอาหารเสริม
อย่างไรก็ตามกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ทำให้สินค้าของหลายประเทศที่เคยส่งเข้าสหรัฐฯ ต้องหาช่องทางระบายสินค้า สินค้าบางประเภทที่ผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศไทยมีความต้องการจะทะลักเข้าใทยมากขึ้น ธุรกิจไทยต้องตั้งรับการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ โดยผู้ผลิตเหล็ก ปิโตรเคมี พลาสติก และสิ่งทอ ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วยทางรอดและข้อเสนอนั้น คือ 1.ในระยะสั้น เปิดตลาดนำเข้าสินค้าสหรัฐฯในสินค้าบางประเภทที่ไทยไม่ผลิตหรือผลิตไม่พอต่อความต้องการในประเทศ โดยการลดอัตราภาษีนำเข้าและเพิ่มโควตาการนำเข้าสินค้าเช่น ไวน์ ถั่วเหลือง ข้าวโพด 2.ยึดประโยชน์ของผู้บริโภคในประเทศเป็นตัวตั้ง ขณะเดียวกันภาครัฐต้องช่วยภาคเกษตรกรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SME ไทย ที่ได้รับผลกระทบในการปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ ซึ่งรวมการทำธุรกิจที่แตกต่างหรือต่อยอดจากเดิม 3.หาโอกาสใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์สงครามการค้าครั้งนี้ เช่น หาตลาดใหม่ (เช่น EU และตะวันออกกลาง) ทดแทนสินค้าบางประเภทของจีนในตลาดสหรัฐ ต่อยอดจากสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกลง และหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่กับบริษัทต่างชาติที่กำลังลงทุนเพิ่มขึ้นในไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี