นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ร่วมคณะกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในการเข้าพบ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ในแต่ละภาคส่วน การแก้ไขปัญหาสวมสิทธิ์ส่งออก รวมถึงพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ในประเทศ และยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของไทย (Competitiveness)
นายเกรียงไกร กล่าวว่า เราได้นำเสนอภาพรวมผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ 36% ที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น รวมทั้งได้สะท้อนปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาหลักนิติธรรม (Rule of Law) การบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาคอรัปชั่น
“ภาคเอกชนมีความกังวลต่อผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งผลกระทบต่อ GDP การจ้างงาน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศด้วย ดังนั้นจึงได้เข้ามาหารือกับแบงก์ชาติในครั้งนี้”นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ทาง ธปท.จะร่วมกับภาคเอกชนในการดำเนินการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับนำไปวิเคราะห์ประเมินผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายช่วยเหลือในแต่ละภาคส่วน รวมทั้งยังเห็นชอบสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอ White paper มาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจ (Transformation) เพื่อนำเสนอภาครัฐและภาคสาธารณะต่อไป
“โดยในการจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐจะแบ่งข้อเสนอเป็น 2 ส่วน คือ 1.ข้อเสนอระยะสั้น (Quick Win) และ 2.ข้อเสนอระยะยาว นอกจากนี้ ธปท. จะรับประเด็นในเรื่องค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไปพิจารณาแนวทางดูแลต่อไปอีกด้วย”นายเกรียงไกร กล่าว
อนึ่งก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.ระบุว่าการตัดสินใจเก็บภาษีของสหรัฐฯ ในเบื้องต้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทยอาจอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท
ขณะที่บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเนื้อหมูและเครื่องใน อาจตกเป็นหนึ่งในข้อเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนภาษีทรัมป์ที่ไทยโดน 36% เนื้อหมูและเครื่องใน เป็นหนึ่งในรายการสินค้าเกษตรอันดับต้นๆที่ถูกนำมาใช้ต่อรองเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 สหรัฐฯได้ประกาศใช้อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ฉบับใหม่ โดยไทยโดนเก็บ 36% มีผลบังคับใช้ 1 สิงหาคม 2568 มูลค่าตลาดเนื้อหมูไทยคาดสูญเสียเบื้องต้นราว 112,330 ล้านบาท ในกรณีที่ไทยเปิดตลาดให้เนื้อหมูสหรัฐฯเข้ามาอย่างเสรี 100% ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวยังไม่นับรวมความสูญเสียในกรณีที่ไทยนำเข้าเครื่องในหมูด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี