นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศในช่วงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-อิหร่านที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13 -24 มิถุนายน 2568 หรือที่เรียกกันว่า “สงคราม 12 วัน” โดยช่วงดังกล่าว คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เร่งดำเนินการตามแผนวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ลดการจัดเก็บเงินจนถึงชดเชยอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล
โดยสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันดีเซล ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคขนส่งและค่าครองชีพของประชาชน กองทุนน้ำมันฯได้เข้าไปบริหารจัดการผ่านกลไกอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกในประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากจนเกินไป โดย กบน.ได้มีมติเร่งด่วน 5 ครั้ง ภายในเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ เพื่อลดผลกระทบ เริ่มจากลดอัตราเงินจัดเก็บของกลุ่มน้ำมันดีเซลจากเดิมจัดเก็บอยู่ที่ 2.40 บาท/ลิตร เป็นการต้องชดเชยอยู่ที่ 0.65 บาท/ลิตร เพื่อคงราคาขายปลีกไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตร ทำให้สามารถตรึงราคาหน้าปั๊มไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนในช่วงเวลาสำคัญ
ทั้งนี้แม้การรักษาเสถียรภาพและตรึงราคาน้ำมันในช่วง 12 วันที่ผ่านมา จะส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯประเภทน้ำมันดีเซลติดลบ คือมีรายจ่ายสูงสุดประมาณวันละ 40.75 ล้านบาท/วัน แต่เมื่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่านเริ่มคลี่คลายจากการไกล่เกลี่ยของสหรัฐฯ ราคาน้ำมันโลกก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้กองทุนน้ำมันฯกลับมาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯได้อีกครั้ง ปัจจุบันกลุ่มน้ำมันดีเซลมีรายรับประมาณวันละ 57.41 ล้านบาท และกลุ่มน้ำมันเบนซินมีรายรับประมาณวันละ 96.17 ล้านบาท ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ติดลบอยู่ที่ 31,588 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน บวกอยู่ที่ 12,406 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ที่ 43,994 ล้านบาท
“เมื่อเทียบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน กับกรณีรัสเซีย-ยูเครน จะพบความแตกต่างในเชิงผลกระทบ และความยืดเยื้ออย่างชัดเจน ซึ่งกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยเพิ่มวิธีการบริหาร และความรอบคอบในการกำหนดมาตรการบริหารกองทุนน้ำมันฯในปัจจุบันและอนาคต”นายพรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระทรวงพลังงาน ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ในทะเลแดง และภูมิภาคอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแล ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ (LNG) ซึ่งมี นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธาน และมีตน (นายพรชัย จิรกุลไพศาล) ร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่เตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับสถานการณ์พลังงานจากวิกฤตในตะวันออกกลาง และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอย่างรอบด้าน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี