จากเวทีเสวนา “Corruption Disruptors: Empowering AI to Fight Corruption” ซึ่งเป็นการรวมพลังนักวิชาการ ข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ซึ่งถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเครื่องมือป้องกันและตรวจจับการทุจริตอย่างเป็นระบบ พร้อมชูแนวคิด “Integrity by Design” สร้างระบบไม่เอื้อต่อการโกง เสนอเปิดข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นระบบเพื่อขับเคลื่อนความโปร่งใสอย่างยั่งยืน
Ms. Elodie Beth Seo ผู้จัดการอาวุโสแผนกต่อต้านการทุจริต ประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Senior Manager in the OECD Anti-Corruption Division) กล่าวว่า ถึงแม้ AI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาระบบ แต่ก็สามารถถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น การฟอกเงินผ่านคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งปัจจุบันกว่า 23% ของธุรกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นธุรกรรมผิดกฎหมาย เป็นต้น
ปัจจุบันมีหลายประเทศได้นำ AI มาช่วยเสริมการทำงานภาครัฐ เช่น เกาหลีใต้ ใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (KONEPS) บราซิล พัฒนาแพลตฟอร์ม LabContus เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลเรียลไทม์ ตรวจจับพฤติกรรมต้องสงสัย ฮ่องกง เปิดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่รัฐให้ใช้ AI ต้านโกง อินโดนีเซีย ใช้ระบบ One Data Indonesia ร่วมมือเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมา OECD ได้ร่วมมือกับประเทศไทยแล้ว โดยจับมือกับ World Justice Project โดยมีความก้าวหน้าหลายอย่าง เช่น แพลตฟอร์ม ACT AI ที่เชื่อมโยงข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับข้อมูลนิติบุคคล และรายชื่อผู้มีอิทธิพลทางการเมือง (PEPs) เพื่อคัดกรองความเสี่ยงการทุจริต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่ม อาทิ เสริมความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน ผลักดันการเปิดข้อมูล (Open Data) พัฒนากฎหมายการลงโทษสินบน ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานตรวจสอบ การส่งเสริมความร่วมมือภายในและระหว่างประเทศ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ACT AI เป็นจุดเริ่มต้นของระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ แต่จะทำงานได้ต้องมีฐานข้อมูลที่ดี เปิดเผย และบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ACT AI เข้ามาช่วยตรวจสอบวิเคราะห์ความถูกต้องของกรณีการทุจริตคอรัปชั่น แม้หลายคนจะพูดว่าระบบ AI เข้ามาช่วยทำให้โจรทำงานง่ายขึ้น สิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทำ คือ การใช้ AI ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายพันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร Risk Partner, PwC Thailand กล่าว่าว่า Data Governance หรือการกำกับดูแลข้อมูล คือ หัวใจของการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเปิดเผย อัพเดต และเข้าถึงได้ทุกคน โดยต้องมีกฎกติกาการใช้ข้อมูล ที่มีธรรมาภิบาลมีความโปร่งใส ข้อมูลต้องมีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน และต้องมีหลายมิติ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลไม่มีใครเป็นเจ้าของ ข้อมูลคือ ทรัพยากรของชาติ (National Resources) มันคือ Open Data ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และ Data Governance ต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น
รศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) กล่าวว่า หากต้องการให้ AI ทำงานได้จริง ต้องทำให้ข้อมูลจากทุกหน่วยงานเชื่อมโยงกันได้ มาตรฐานเดียวกัน และเข้าถึงง่าย นอกจากนี้ ยังต้องเป็นข้อมูลที่มีความเป็นมาตรฐาน โดยการบูรณาการการทำงานของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน
Ms.LAMINI Senior Anti-Corruption Analyst at the Directorate of Information Management จากอินโดนีเซีย กล่าวว่า “One Data Indonesia” ช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถแชร์ข้อมูลเพื่อป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือการระบุทรัพย์สินที่ผิดปกติ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า การ “จับคนโกง” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง ออกแบบระบบไม่ให้โกงได้ตั้งแต่ต้นทาง หรือที่เรียกว่า “Integrity by Design” ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างความสำเร็จของนโยบาย Open Government สมัยประธานาธิบดีโอบามา ที่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นจึงเสนอให้ไทยนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ เช่น การปลดล็อกข้อมูลภาครัฐในรูปแบบที่วิเคราะห์ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายอาจใช้เวลา แต่ผู้ร่วมเสวนาทุกคนเห็นตรงกันว่า “พลังของภาคประชาชน” คือจุดเริ่มต้นสำคัญ หากรวมพลังกับกลไกที่ถูกต้อง เช่น ตัวชี้วัดของ OECD ก็สามารถเปลี่ยนระบบให้ใสสะอาดขึ้นได้
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี