นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนมิถุนายน 2568 ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 42 เดือน ซึ่งสะท้อนถึงภาวะกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว และบรรยากาศการบริโภคที่หดตัวทั่วประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยในช่วงครึ่งปีแรก ภาคค้าปลีกไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ทั้งจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ การบริโภคที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และการชะลอตัวของการลงทุนในทุกระดับ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ขณะเดียวกันปัจจัยภายนอกก็ไม่ได้เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวที่ยังไม่เต็มที่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย อีกทั้งนโยบายด้านภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอน และความขัดแย้งในตะวันออกกลางรวมถึงสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรยากาศการจับจ่ายและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้การลดลงของ RSI ในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นผลสะท้อนโดยตรงจากทุกองค์ประกอบของพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งยอดการใช้จ่ายต่อใบเสร็จ และความถี่ในการจับจ่ายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทุกภูมิภาค โดยแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จับต้องได้จริงและสามารถผลักดันออกมาได้อย่างทันท่วงที
“ แม้จะมีสัญญาณบวกจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่นักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมากยังคงเลือกที่จะชะลอการลงทุน และรอความชัดเจนในเชิงนโยบายจากรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกที่สามารถขับเคลื่อนได้จริง เพื่อสร้างแรงส่งใหม่ให้กับเศรษฐกิจที่ซบเซามานาน“ นายนัฐ กล่าว
ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงเสนอ 2 แนวทางเร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ และการสร้างแม่เหล็กใหม่ให้ภาคการท่องเที่ยว โดยหวังว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง 1. อัดฉีดเม็ดเงินอย่างตรงจุด ฟื้นกำลังซื้อ–กระจายการลงทุน โดย สมาคมฯ เชื่อว่า หากรัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการอัดฉีดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้อย่างตรงเป้า จะสามารถพลิกฟื้นภาวะซบเซาในช่วงครึ่งปีแรกได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านงบกระตุ้นเศรษฐกิจล็อต แรกวงเงิน 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท ที่ควรนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยต้องมีการกระจายเม็ดเงินไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ รัฐควรเร่งจัดสรรงบประมาณที่เหลืออีกประมาณ 40,000–50,000 ล้านบาท เพื่อมุ่งกระตุ้นกำลังซื้อฐานราก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็นกว่า 90% ของภาคธุรกิจทั้งหมด และมีบทบาทในการจ้างงานถึง 50-70% ของทั้งประเทศ การจัดสรรงบในรูปแบบของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น จะสามารถช่วยยกระดับรายได้และฟื้นความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้โดยตรง อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่สมาคมเสนอคือ การเร่งผลักดันโครงการ “Easy e-Receipt เฟส 2” หรือมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงฤดูไฮซีซั่นและเทศกาลปลายปี โดยขอให้ปรับเงื่อนไขให้เข้าร่วมได้ง่ายขึ้น เช่น การรวมสินค้า OTOP และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในวงเงินรวมไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากกว่า 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยหมุนได้เพียง 70,000 ล้านบาท และ สมาคมฯยังเสนอให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ให้เสร็จก่อนวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และจัดทำร่างงบประมาณปี 2569 ให้ทันตามกรอบเวลา เพื่อป้องกันการสะดุดของนโยบายต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางที่ 2. คือดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ด้วยแคมเปญ “Thailand Shopping Paradise” ซึ่งในด้านการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว สมาคมเสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันแคมเปญ “Thailand Shopping Paradise” ซึ่งออกแบบมาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติคุณภาพสูง พร้อมเพิ่มแรงจูงใจในการจับจ่ายผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ ทดลองมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทันที (Instant Tax Refund): สำหรับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อขั้นต่ำ 3,000 บาท โดยสามารถเริ่มทดลองใช้ในร้านค้าสมาชิกย่านหลักของกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ลดภาษีนำเข้า (Import Tax) สินค้าแฟชั่นและความงาม: ได้แก่ เสื้อผ้า น้ำหอม และเครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษี 20–30% โดยเสนอให้ลดลงเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และลดการซื้อสินค้าผ่านตลาดสีเทา การจัดตั้งเขตปลอดภาษี (Free Tax Zone): ในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ภูเก็ต เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการจับจ่ายและกระตุ้นการกลับมาเที่ยวซ้ำในระยะยาว การจัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ: ในรูปแบบเดียวกับงาน “Great Singapore Sale” โดยเน้นความร่วมมือระหว่างห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างบรรยากาศจับจ่ายทั่วประเทศ รวมทั้งขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวรัสเซีย: จาก 30 วันเป็น 45 วัน หลังสิ้นสุดโครงการเดิม เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง และนิยมพำนักระยะยาว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี