เป็นที่ชัดเจนแล้วกับ “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนต่อไป” โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 25 อย่างเป็นทางการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 เป็นต้นไป โดยรับไม้ต่อจาก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 30 ก.ย. 2568
สำหรับประวัติของ นายวิทัย รัตนากร ปัจจุบันอายุ 54 ปี เส้นทางด้านการศึกษามาในสายเศรษฐศาสตร์ การเงินและธุรกิจ ไล่ตั้งแต่ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทถึง 3 ใบ คือ 1.ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ปริญญาโท กฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3.ปริญญาโท การเงิน Drexel University สหรัฐอเมริกา
ส่วนประวัติการทำงาน อ้างอิงตามข้อมูลของธนาคารออมสิน มีดังนี้
- ปี 2553 : รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
- ปี 2554 – 2557 : ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2558 – 2561 : รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน (Chief Financial Officer) และรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ
- ปี 2560 – 2561 : กรรมการ และรักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ปี 2561 – 2563 เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
กระทั่งในปี 2563 จึงเข้ารับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน” มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น นายวิทัยยังดำรงตำแหน่งอื่นๆ ด้วย อาทิ นายกสมาคม สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , ประธานกรรมการ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ , อุปนายกสมาคม สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ , รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) , กรรมการ และกรรมการบริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , กรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด , กรรมการฝ่ายนายจ้าง กรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง
ผลงานสำคัญในฐานะ ผอ.ธนาคารออมสิน คือการประกาศวิสัยทัศน์ “Social Banking” สร้าง “ภาพจำ” ของ “แบงก์ออมสิน” ว่าเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งเมื่อปี 2563 โดยจะมุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มคนฐานรากและผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก คือเมื่อเดือน พ.ย. 2567 ได้เปิดตัว “GOOD MONEY เงินดีดีเพื่อคนไทย” กิจการ Non-Bank ในเครือธนาคารออมสิน เป็นกลไกในการลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมเพื่อการประกอบอาชีพ
ในวันที่ 11 ก.ค. 2568 นายวิทัย เปิดเผยความสำเร็จของธนาคารออมสิน ภายใต้การบริหารของตนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เช่น การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเงินและสร้างนวัตกรรมการเงินเพื่อสังคม ช่วยคนไทยกลุ่มฐานรากให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบแล้ว เป็นจำนวนกว่า 7.5 ล้านราย หรือ 10.4 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่มีผู้ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 340,000 ราย วงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท
การริเริ่มโครงการสินเชื่อสร้างเครดิตสร้างโอกาส เพื่อกลุ่ม Unserved/Underserved และการเปิดบริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายโอกาสการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มฐานรากได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำภารกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ในตลาดสินเชื่อจำนวนทะเบียนมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดนี้ ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มฐานรากได้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดจำนำทะเบียนลดลงเหลือ 16-18%
เช่นเดียวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ธนาคารสามารถช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียประวัติทางการเงิน จำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.4 ล้านราย เป็นจำนวน 8.5 ล้านบัญชี ผ่านโครงการแก้หนี้เชิงรุก อาทิ การปลดหนี้ลูกหนี้รายย่อยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด รวมแล้วกว่า 1.3 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวมกว่า 11,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรการ Re-finance เพื่อสังคม และการชะลอการดำเนินคดีตามกฎหมายกับลูกหนี้สถานะ NPLs ผ่านมาตรการ 4 ไม่
การพักหนี้ ลด/ไม่คิดดอกเบี้ย การขับเคลื่อนมาตรการคุณสู้ เราช่วย ได้มากถึง 190,000 ราย หรือ 300,000 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 33 ของผู้มีสิทธิ์ที่ลงทะเบียนทั้งระบบ ตลอดจนการตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ Ari-AMC เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ทั้งหมดนี้เพื่อฟื้นเสถียรภาพทางการเงิน และคืนความสามารถในการดำรงชีวิตให้ประชาชน โดยประคับประคองไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยการเงินด้วย เป็นต้น
แต่อีกด้านหนึ่ง มีกระแสข่าวว่า การมาของนายวิทัย เชื่อมโยงกับ “การเมือง” จากเสียงร่ำลือว่าได้แรงสนับสนุนจากบุคคลภายในพรรคหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดความกังวลเรื่อง “ความเป็นอิสระจากการครอบงำหรือชี้นำจากฝ่ายการเมือง” โดยเฉพาะเมื่อพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนทางนโยบายชัดเจนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน มุ่งช่วยเหลือคนฐานราก (หรือรากหญ้า) อันเป็นฐานเสียงหลักของพรรค
จึงเกิดคำถามว่า “รัฐไทยจะยังรักษาวินัยการเงิน – การคลังไว้ได้หรือไม่?” หากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ที่ควรมีหน้าที่ถ่วงดุลการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล (ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนทุกคน) มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง
ถึงกระนั้น ฝ่ายที่สนับสนุนนายวิทัย ก็มีข้อแก้ต่างให้ว่า “นายวิทัย เจริญก้าวหน้าในการทำงานมาตั้งแต่ยุครัฐบาลที่มี ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” ไล่ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ตามด้วยปี 2563 สมัยรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น ผอ.ธนาคารออมสิน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครม.มีมติแต่งตั้ง'วิทัย รัตนากร' เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี