วันนี้ (22 กรกฎาคม 2568) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) จัดงานสัมมนา “รัฐวิสาหกิจกับวาระการแข่งขันโลก: จุดสมดุลของไทยสู่มาตรฐานสากล”เพื่อขับเคลื่อนการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม ผ่านเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ พร้อมทั้งทบทวนบทบาทและแนวทางการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนให้เกิดความสมดุลระหว่างภารกิจ
ด้านการให้บริการสาธารณะและภารกิจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนวางทิศทางที่เหมาะสมในการร่วมกันก้าวไปข้างหน้าบนความท้าทายด้านการค้าในปัจจุบันจากความคาดหวังในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นต้น
ภายใต้บรรยากาศการจัดงานนี้ที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวและความคาดหวัง ได้รับเกียรติจาก นายไมตรี สุเทพากุล ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงาน รวมทั้งกล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ในการผลักดันการแข่งขันทางการค้าให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ไฮไลต์ของงานอยู่ที่การอภิปรายเชิงลึกในหัวข้อ “วาระการแข่งขันโลก: การกำกับดูแลที่ดี บริการสาธารณะ และการแข่งขัน
ที่เป็นธรรม” โดย ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นายนครเขตต์ สุทธปรีดาอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และ ผศ. ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการ กขค. ซึ่งดำเนินรายการและร่วมอภิปรายโดย รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม รองประธาน กขค.
ที่ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของหลักการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในตลาด โดยเฉพาะความเป็นกลางทางการแข่งขัน (Competitive Neutrality) ที่จะต้องคำนึงถึงตั้งแต่กระบวนการจัดทำนโยบาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพทางการแข่งขันในตลาดภายใต้หลักการเดียวกัน อีกทั้ง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการยกเว้นการกระทำของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา 4 (2) แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่เป็นการยกเว้นเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีการสาธารณูปโภค กล่าวคือ เป็นการยกเว้นเฉพาะกรณี มิได้ยกเว้นเป็นการทั่วไป ดังนั้น การดำเนินการทางการค้าของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่นอกเหนือจากข้อยกเว้นเฉพาะดังกล่าวนั้น ย่อมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ สำนักงาน กขค. จะต้องจัดทำไกด์ไลน์กำหนดหลักการพิจารณาหรือพิสูจน์ความจำเป็นแต่ละกรณีตามเงื่อนไขข้อยกเว้นดังกล่าวต่อไป
ดร.เสรี นนทสูติ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดสมดุลระหว่างการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของ กขค. ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่มีสาระสำคัญหลัก 5 ประเด็น คือ การใช้อำนาจเหนือตลาด การรวมธุรกิจ การตกลงร่วมกันหรือฮั้ว การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รายอื่น และการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ กับการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะรายสาขา เช่น กิจการโทรคมนาคม พลังงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และประกันภัย เป็นต้น ตลอดจนปัจจุบันมีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะรายสาขาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ว่าควรกำหนดกฎเกณฑ์ระหว่างกันให้มีความสมดุล เพื่อให้ผู้เล่นที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดแต่ละตลาดมั่นใจว่ากฎเกณฑ์ที่บังคับใช้อยู่นั้นจะมีความเท่าเทียมและเป็นธรรม
ภายหลังการอภิปรายช่วงเช้าอย่างเข้มข้น งานสัมมนายังคงเดินหน้าสร้างบทสนทนาเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่องในช่วงบ่าย ด้วย 2 หัวข้อสำคัญที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจไทย หัวข้อแรก “จุดสมดุล: จากผู้ให้บริการ สู่ผู้เล่นในตลาด” โดย พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล กขค. ดร.มนตรี กนกวารี รองเลขาธิการ กขค. และ ผศ. ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดำเนินรายการโดย นายมนยศ วรรธนะภูติ รองเลขาธิการ กขค. โดยได้ฉายให้เห็นภาพหลักในการวิเคราะห์การกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า ขั้นตอนการดําเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและการแสวงหาข้อเท็จจริง การดําเนินคดีทางอาญาและคดีทางปกครอง พร้อมตัวอย่างคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว ต่อเนื่องด้วยหัวข้อที่สอง “ปรับ (ตัว) ก่อนได้เปรียบ: รัฐวิสาหกิจไทยในสงครามธุรกิจการแข่งขัน” โดย นายพิษณุ วานิชผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นายธีรวัฒน์ ทิพย์รัตน์ รองเลขาธิการ กขค. ซึ่งดำเนินรายการโดย ดร.อัครพล ฮวบเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายแสวงหาข้อเท็จจริง สำนักงาน กขค. ซึ่งได้จุดประกายความคิดใหม่ ๆ และเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ระหว่างภาครัฐ นักวิชาการ และภาคธุรกิจ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับตัวเชิงนโยบายและการบริหารจัดการที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่
และปิดท้ายด้วยการกล่าวปิดสัมมนาโดย พลตำรวจโทพิทยา ศิริรักษ์ กขค. ซึ่งได้แนะนำเครื่องมือ “แบบสำรวจการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า” หรือ Competition Compliance Checklist เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถประเมินตนเอง ระบุความเสี่ยง และสร้างแนวปฏิบัติภายในที่จะช่วยให้การประกอบธุรกิจเป็นไปตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการโดยสำนักงาน กขค.
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี