เมื่อได้ยินเสียงเพลงไตเติ้ลอันคุ้นหูของ “วงสุนทราภรณ์” แฟนเพลงย่อมทราบกันดีว่า เราท่านกำลังจะได้รับความหฤหรรษ์จากบทเพลงอมตะของวงดนตรีสุนทราภรณ์กันแล้ว และก็เป็นที่ทราบกันดีอีกเช่นกันว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการบรรเลงเสียงเพลงขับกล่อมอันทรงคุณค่ามาตั้งแต่ปี 2432 คือ “ครูดำ-พูลสุข สุริยพงษ์รังษี” นั่นเอง!!
“ครูดำ” เป็นบุตรของ นายปรีฑีย์ มิซซรา และ นางสมคิด สุดเสวต ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของนางปาน พี่สาวคนเดียวของ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ดังนั้นจึงมีศักดิ์เป็นหลานตาของครูเอื้อฯ ถือกำเนิดเมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2487 ณ บ้านสวนพรานนก จังหวัดธนบุรี
ในขณะนั้น “ครูดำ” เป็นพี่ชายคนโต ของน้องสาวอีก 3 คน และมีบุตร ธิดา 2 คน คือ นายพงษ์พร สุริยพงษ์รังสี ปัจจุบันคือมือกลองของวงสุนทราภรณ์ และนางสาวปานจิตร์ สุริยพงษ์รังสี เจ้าหน้าที่ธุรการของ “มูลนิธิสุนทราภรณ์” และ “โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี” เป็นคุณปู่ของหลานสาว หลานชาย อีก 2 คน คือ”นางสาวรุ้งพร”กำลังศึกษาอยู่ปี 2 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เอกวิชา ศิลปิน และ “นายพงศกร” ซึ่งเป็นนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เอกวิชาดนตรีสากล (ทรัมเปต)
“ครูดำ” เล่าให้ฟังว่า ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างจะไม่สนใจในการเรียนมากนัก จนบิดาและมารดาเห็นว่า จะเอาดีทางการเรียนไม่ได้ เว้นแต่จะมีคนคอยกำราบอย่างแท้จริง จึงได้ส่งให้มาอยู่ในความปกครองของ “คุณตาเอื้อ” ตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ ครูดำเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนไทยานุศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนคอนเซ็บชั่นคอนแวนต์” ตั้งอยู่หลังโรงเรียนเซ็นต์คาเปรียล จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา, โรงเรียนนันทนศึกษา และไปจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในย่านยศเสที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่อง “บู๊” ในยุคนั้น
แววของความเป็นศิลปินของ “ครูดำ” ได้เริ่มฉายขึ้นในช่วงที่ศึกษาอยู่ชั้นประถมปีที่4 ของโรงเรียนไทยานุศาสตร์ โดยได้เข้าประกวดขับร้องเพลงของโรงเรียน โดย “ครูดำ” หรือเด็กชาย “พูลสุข สุริยพงษ์รังษี” ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” มาขับร้อง เป็นเพลงบังคับ และเพลง “สุดที่รัก” ของ “สุเทพ วงศ์กำแหง” ซึ่งกำลังโด่งดังมากในขณะนั้นมาขับร้องเป็นเพลงเลือก และปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ
ต่อมา เมื่อศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 1 โรงเรียนนันทนศึกษา ด.ช.พูลสุข สุริยพงษ์รังษี ได้มีโอกาสเข้าประกวดขับร้องเพลงในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ โดยได้เลือกเพลง “คิดถึง” ของ “คุณตาเอื้อ” มาเป็นเพลงประกวด ผลปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศอีกเช่นเดียวกัน และในช่วงที่ครูดำอยู่ในวัยหนุ่มนั้นเป็นยุค’60 ซึ่ง “วงดนตรีชาโดว์” กำลังโด่งดังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายของแฟนเพลงเมืองไทย โดยเฉพาะลีลาของ “เอลวิส เพรสลีย์” ที่ได้รับสมญาว่า “ราชาโยกและคลึง” เป็นที่ชื่นชอบของ “ครูดำ” เป็นอย่างยิ่ง กอปรกับได้ใกล้ชิดคุณตาเอื้อและมีโอกาสเห็นนักดนตรีวงสุนทราภรณ์ซ้อมกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็ยิ่งเร่งเร้าให้ครูดำ สนใจอยากที่จะเป็นนักดนตรีกับเขาบ้าง
แต่คุณตาเอื้อ ผู้เป็นตาแท้ๆ ของครูดำกลับไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้หลานชายได้ดิบได้ดี เป็นนักกฎหมายเหมือนกับเพื่อนสนิทของท่าน คือคุณชมพู อรรถจินดา จึงพยายามกีดกันไม่ให้ให้ยึดอาชีพเต้นกิน รำกิน
ด้วยความที่ครูดำอยู่ในวัยคะนอง เมื่อถูกขัดใจ ก็เลยหนีออกจากบ้านไปหัวหกก้นขวิดอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ด้วยความรัก และเมตตาของ “คุณยายอาภรณ์ สุนทรสนาน” ภรรยาของคุณครูเอื้อ ท่านได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ “ครูดำ” กลับมา และยังขอให้ “ครูเอื้อ”รับปากว่าจะสอนโน๊ต และวิชาตีกลองให้ และที่สำคัญคือ ท่านสัญญาว่าจะตั้งวงดนตรีชาโดว์ ให้อีกวงหนึ่งด้วย นั่นเองเป็นเหตุผลทำให้ ครูดำ ยอมหวนกลับมายังบ้านซอยสุจริต2 อีกครั้งหนึ่ง
จากนั้นมา “ครูดำ” ก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาทางด้านดนตรีแนวเพลง สุนทราภรณ์ จากคุณตาเอื้อ บรมครูคนสำคัญ และครูดนตรีท่านอื่นๆอีกรวมทั้งมือกลองชั้นยอดของวงดนตรีสุนทราภรณ์อีกหลายคน เช่น ครูสาลี่ กล่อมอาภา, ครูแสวง ปานอำไพ, ครูสมชาย ปัญญาลักษณ์ และ ครูอธึก นิลจันทร์ เป็นลำดับมา
“ครูดำ” ได้รับการบรรจุเข้าทำงานเป็นนักดนตรีในตำแหน่ง “มือกลอง” ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2506 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 400 บาท ซึ่งนับว่ามากอยู่ ในช่วงเวลานั้น
ในช่วงที่ซ้อมกลองอยู่นั่นเอง คุณตาเอื้อมองเห็นแววว่า ครูดำน่าจะเป็นนักร้องกับเขาได้เหมือนกัน จึงได้ตั้งชื่อให้ว่า “กวี สุริยธานินทร์” ซึ่งที่มาของชื่อนั้นก็คงจะล้อนามสกุล “สุริยพงษ์รังษี” นั่นเอง!!
“คุณตาเอื้อ”ได้มอบหมายให้ “ครูสริ ยงยุทธ” ต่อเพลง “รำพึงชายหาด” ของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ” ให้ และได้ร้องส่งวิทยุ ในรายการดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ แต่ครูดำเห็นว่าในช่วงนั้น คุณตาเอื้อกำลังฝึกหัดนักร้องชายในนาม “ดาวรุ่งพรุ่งนี้” ไว้แล้วหลายคน จึงตัดสินใจหันไปเอาดีทางด้านตีกลองแทน
“ครูดำ” ได้มีโอกาสฝึกวิทยายุทธด้านดนตรีแก่กล้าขึ้น ด้วยการไปตีกลองที่ไนต์คลับหลายแห่ง ที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในยุคนั้น อาทิเช่น ลูน่าคลับ, ศาลาไทยไนท์คลับ , ทาร์บลูฮาวาย เป็นต้น จนมีความชำนาญ และมีลูกเล่นแพรวพราว โดยเฉพาะจังหวะเต้นรำ ที่หาใครเทียบได้ยากแม้ในปัจจุบันนี้ เมื่อครั้งที่วงดนตรีสุนทราภรณ์ไปทอดผ้าป่า ณ วัดป่าหลวงพ่อหอม จังหวัดระนอง ครูดำก็ได้แหวกแนวไปขับร้องเพลง Blue Suede Shoes ของ “เอลวิส เพรสลีย์” บรรเลงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งนับเป็นความแปลกแหวกแนวที่หาชมได้ยาก
จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2513 “ครูดำ” จึงได้ลาออกจาก “กรมประชาสัมพันธ์” พร้อมกับที่คุณตาเอื้อ เกษียณอายุราชการ แม้ว่าในขณะนั้น “คุณตาเอื้อ” จะยังคงได้รับการว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาของกรมประชาสัมพันธ์ ต่ออีก 2 ปี จนถึง พ.ศ.2515 จึงได้พ้นจากกรมประชาสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์ หลังจากลาออก จากกรมประชาสัมพันธ์มาแล้ว คุณตาเอื้อก็ได้มอบหมายหน้าที่ ในวงดนตรีสุนทราภรณ์ให้ครูดำเป็นผู้ช่วยดูแลมาโดยตลอด
ครูดำ เล่าต่ออีกว่า ราวต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2523 “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ “คุณตาเอื้อ” พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และ ครูดำ เข้าเฝ้า ณ พระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งในโอกาสนั้น “คุณตาเอื้อ” ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดขั้นสุดท้ายได้กราบบังคมทูลถวายรายงานว่า จะให้ครูดำ ซึ่งเป็นหลานชายแท้ๆ เป็นผู้ควบคุมดูแลวงดนตรีสุนทราภรณ์ และถวายความจงรักภักดี ต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ตลอดไป “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายน้ำมนต์ของหลวงปู่แหวน ให้เป็นพิเศษ ยังความปลื้มปิติให้แก่ครูดำ อย่างหาที่สุดมิได้
“ครูดำ” เป็นผู้ถ่ายทอดผลงานดนตรีของ “คุณตาเอื้อ” และบรมครูเพลงหลายๆ ท่าน ที่ได้สร้างสรรค์บทเพลงอันเป็นอมตะในรูปแบบของบทเพลง “สุนทราภรณ์” ซึ่งเป็นที่เรียกขาน บทเพลงในแนวที่มีทั้งความหวานซึ้ง ความโศกเศร้ากินใจ ความสนุกสนานเร้าใจ และลีลาของเพลงลีลาศ อันเลื่องชื่อลือชา ของสุนทราภรณ์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ หลังจากที่ครูสริ ยงยุทธ มือเปียโน เพื่อนสนิทของ “ครูเอื้อ” ที่เป็นศิษย์ท่าน อาจารย์พระเจนดุริยางค์ มาด้วยกัน วางมือจากการเป็นหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ต่อจากครูเอื้อ เมื่อปี 2530 ครูดำก็รับหน้าที่ต่อมาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบันนี้เป็นร่วม 30 ปีแล้ว
“ครูดำ” เล่าว่า วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 เป็นวันที่ครูดำจะต้องจดจำอย่างไม่รู้ลืม เพราะเป็นวันที่ คุณตาเอื้อ สิ้นบุญจากครอบครัว จากญาติพี่น้อง จากมิตรสหาย จากลูกศิษย์ และจากแฟนเพลงสุนทราภรณ์ไปอย่างไม่มีวันกลับ ยังความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ครูดำกล่าวว่า
“พระคุณของคุณตาเอื้อ และคุณยายอาภรณ์ นั้น มีต่อตนเป็นล้นพ้นไม่มีวันเลือนหายไปจากความรู้สึกได้เลย และไม่มีอะไร ที่จะทำให้ตนต้องจากวงดนตรี สุนทราภรณ์ไปได้ นอกเสียจากว่าจะสิ้นลมหายใจไปก่อนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะสุนทราภรณ์เป็นชีวิตจิตใจ เป็นความภูมิใจ และจะขอรักวงดนตรีสุนทราภรณ์ตลอดไป ที่สำคัญ ครูดำเป็นผู้ที่ให้ความสุขแก่แฟนเพลงสุนทราภรณ์”
ผลงานของครูดำนั้นมีมากมายนับตั้งแต่ครูเอื้อ สุนทรสนานเสียชีวิต เพราะเป็นผู้ผลิตงานเพลงสุนทราภรณ์ในรูปแบบของซีดีสำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ อาทิ บทเพลงเทิดพระเกียรติและเชิดชูเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์จักรี เช่น ถวายพระพรทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี, เพลงถวายพระพร ๘๔ พรรษา, เพลงสมเด็จพระแม่เจ้าชาวไทย, เพลงสยามมกุฎราชกุมาร, เพลงแทบทิพย์เทวี และเพลงถวายอาลัยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เพลงพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ, เพลง ๑๐๐ ปี ชาตกาลครูเอื้อ สุนทรสนาน, เพลงศรีรัศมิ์ฉัตรแก้ว, เพลงคืนตะแบกบาน ให้กับโรงเรียนด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา, เพลงมาร์ช SBAC ให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา, เพลงลาราชภัฎสงขลา ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา, เพลงมาร์ชแก่งคอย ให้กับโรงเรียนแก่งคอย, เพลงมาร์ชเทคโนโลยีปทุมวัน ให้กับโรงเรียนเทคโนโลยีปทุมวัน, เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร, เพลงงามราชภัฎร้อยเอ็ด ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด, เพลงประดู่แดงร่วมใจ ให้กับโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ ฯลฯ
นอกจากนี้ “ครูดำ” ยังเป็นผู้ควบคุมการฝึกสอนนักเรียนของโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี รวมถึงนักร้องคลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์ทุกรุ่นที่ประสบความสำเร็จอยู่ในขณะนี้
“ครูดำ”ได้มีโอกาสควบคุมวงดนตรีสุนทราภรณ์ไปแสดงต่างประเทศในวาระต่างๆหลายครั้ง อาทิ นครลอสแองเจลิส ลาสเวกัส ชิคาโก้และซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2545 เพื่อหาเงินรายได้ให้กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ลอสแองเจลิส ลาสเวกัส และซาน ฟรานซิสโก เมื่อปี 2546 เพื่อหาเงินบริจาคให้มูลนิธิสุนทราภรณ์ จัดโดยสภาวัฒนธรรมไทยแห่งนครลอสแองเจลิส, นครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว เมื่อปี 2551 และ 2552 ในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย,
นครลอสแองเจลิส และลาสเวกัส เมื่อปี 2553 เพื่อฉลอง “100 ปีชาตกาลครูเอื้อ สุนทรสนาน บุคคลสำคัญของโลก” จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม, นครไทเป,เถาหยวนและไทจง เมื่อปี 2554 เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีไทยเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ณ ประเทศสาธารณรัฐไต้หวัน จัดโดยสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย, นครชิคาโก้ และมหานครนิวยอร์ก ในงานเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี 2554 จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก้และนิวยอร์ก,
และครั้งล่าสุด ณ นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา ปี 2555 จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี