ถ้าพูดถึงภาพยนตร์ “บ้านผีปอบ” น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีกับเอกลักษณ์ที่คุ้นชินกับท่า หยิบ หรือแม้กระทั่งการลงโอ่ง แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อที่แท้จริงของนักแสดงที่ถ่ายทอดภาพจำเหล่านั้นให้กับพวกเราทุกคน ท่านนี้คือ “หน่อย” ณัฐนีสิทธิสมาน ผู้ที่รับบทของ “ทองหยิบ” จากบ้านผีปอบทั้ง 13 ภาค “ทีมข่าวบันเทิงแนวหน้า” สัปดาห์นี้จึงมีเรื่องเล่ากว่าจะเป็นตำนานบ้านผีปอบ มาให้ได้รู้กัน รวมไปถึงเส้นทางการเข้าสู่งานสายบันเทิงของ หน่อย-ณัฐนี หรือที่ใครๆ มักเรียกเธอว่า “ป้าปอบหยิบ”
กับฉายา ‘ป้าปอบหยิบ’
ทุกคนรู้จักมากกว่าชื่อจริงอีก แปลกใจเหมือนกันนะ เราก็พอจะสวยอยู่บ้างทำไมไปเรียกปอบหยิบเนี่ย (หัวเราะร่วน) อาจจะติดภาพมาจากหนังที่เราเล่น (ถือว่าเป็นเรื่องแจ้งเกิด?) ถ้าคนจำก็คงจะจำภาพนี้แหละ แต่ถ้าจะให้บอกว่าเข้าวงการมาเรื่องแรกเป็นเรื่องอะไร จำไม่ได้หรอก
เริ่มต้นเข้าสู่วงการบันเทิง
ต้องบอกก่อนว่าเริ่มต้น เราทำงานอยู่บริษัททำภาพยนตร์ อยู่เบื้องหลัง ที่ “บริษัท อัศวินภาพยนตร์” ของ “เสด็จพระองค์ชายใหญ่” (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล) กับ“หม่อมปริม บุนนาค” เราเป็นพนักงานบริษัทมีหน้าที่ในการทำงานก็คือ เสื้อ ผ้า หน้า ผม ทำงานตั้งแต่อายุ 15 และแต่งหน้าเป็น ทำงานกับ “คุณอนันต์ แต่งสุทธิรักษ์” ซึ่งเป็นช่างเสื้อของ “หม่อมเจ้าไกรสิงห์วุฒิชัย” เราก็จะเรียกว่าคุณนัน วันหนึ่งคุณนันก็บอกว่าเออ…เธอไปช่วยเจ้านายฉันหน่อยสิ เราก็โอเคไป แล้วงานทั้งหมดที่ไปช่วยคือไม่เคยทำ แล้วก็มีคนเขาเรียกไปว่ามีหนังจะเปิด เราก็ไปเลยได้ก้าวเข้าไปทำ ทำไปเรื่อยๆ ก็สนุก ตอนนั้นทำในตำแหน่งเสื้อผ้าหน้าผม ได้เรียนรู้เบื้องหลังทุกอย่าง ค่อยๆ ทำไป บวกกับเจ้านายให้โอกาสมาก เราก็ช่วยเต็มตัวบวกกับตอนนั้นโมเดลลิ่งมีน้อยตัวแสดงก็มีไม่เยอะ มีอยู่แค่ไหนก็แค่นั้น เสด็จพระองค์ชายใหญ่ ก็คิดว่าทำไมเราไม่ทำ จะได้มีคนที่เป็นนักแสดงที่แตกต่าง โดยเฉพาะสูงวัยก็จะมีแต่คนเดิมๆ ท่านก็เปิดโรงเรียนสอนการแสดง อัศวินศิลปะการแสดง “อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ” เป็นครูใหญ่ แล้วก็มีคุณครูหลายท่านที่มาจากจุฬาฯ สอนตั้งแต่ละครวิทยุ “อาจารย์ต๋อย กัลย์จาฤก” สอนแอ๊กติ้ง“ครูเล็ก-ภัทราวดี” “อาจารย์นลินี สีตะสุวรรณ” เขียนบท “อาจารย์แตงโม” สอนตีบทละคร มีสอนเต้นรำด้วย สอนทุกอย่างที่จะเกี่ยวกับการแสดงเราก็ต้องส่งนักเรียนไป พอส่งนักเรียนไปช่วงนั้นบางทีบางคนเขาก็อาจจะไม่พร้อมไป พอคนขาดอัจฉราพรรณก็บอกเราจะทำยังไงเนี่ย เราส่งคนไปไม่ได้เราก็ไปแทน ตอนนั้นเราไม่ได้สอน เพราะเป็นพนักงานบริษัท นั่งเก็บเงินทำตำราแจก
จุดพลิกผัน
วันหนึ่งเดินไปบอกเจ้านายว่าเดี๋ยวหนูไปเรียนด้วย นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็ไปเรียนทุกวิชาที่เขาเรียน แล้วก็เห็นว่านักแสดงมันต้องมีนะไปเรียนรำไทยวันแรกเพลงช้าเพลงเร็วรำหมดตกเย็นลงบันไดไม่ได้ เพราะว่าปวดขามาก แล้วก็ไปเรียนเต้นรำ เลยทำให้การที่เราจะก้าวมาเป็นนักแสดงมันเลยสวมพอดี ทีนี้พอใครเรียกให้ไปแทนก็ไปเล่นเป็นเพื่อนนางเอกก็เคย อย่างหนังเรื่องแรกเรื่อง “แก้ว” ก็เล่นเป็นแม่เล้าชั้นสูง “ทหารเกณฑ์” ภาค 1-2 เล่นหมดไม่ได้เลือกเลย เพราะเราถือว่าเป็นโอกาส ก็เล่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ บริษัทก็ทำไปมีหนังมา เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราด้วย เพราะตอนนั้นคณะละครน้อย ก็ทำไปเรื่อยๆ จนเสด็จท่านสิ้น จบ ไม่มีหนังเราก็เลยสวมการแสดงได้เต็มตัว “คุณสายยนต์ ศรีสวัสดิ์” ผู้กำกับ “บ้านผีปอบ” ตอนแรกๆ ก็สนิทกันมาก่อน ก็ชวนให้ไปเล่นภาคแรกแต่ติดคิวละครก็เลยไม่ได้เล่น พอภาค 2 คุณสายยนต์บอกเจ๊ได้ตังค์นะ เล่นให้หน่อย เราก็บอกว่าเดี๋ยวก่อนดูคิวละคร แล้วคุณสายยนต์เขาก็ทำตามคิวเรา แล้วก็ได้เล่นมาเรื่อยๆ ก็ติดตลาดมาเรื่อยๆ
เมื่อ ‘บ้านผีปอบ’ เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อยๆ
ค่อยๆ เริ่มขึ้นตามขั้นตอนนะ ภาคที่เราไปเล่นเจ้าของหนังบอกว่า พี่หน่อยไม่น่ากลัวเลย แต่คุณสายยนต์บอกว่า ผมอยากให้ผีผมตลกๆ เขาก็ว่าอย่างงั้น ก็เออเขาก็โอเคทำงานกันได้ ก็ได้เล่นมาเรื่อยๆ เล่นเป็นปอบหยิบ หยิบอยู่นั่นแหละ หลังๆ ก็บอกเธอเขียนให้มันมีผีมากกว่าหนึ่งตัวได้ไหมเราเหนื่อยนะ (หัวเราะ)
กังวลอะไรไหมต้องเล่นเป็นผีปอบ
เฉยๆ เพราะเราคุยกันก่อนว่าคิวละครเราเป็นแบบนี้นะ วันนี้เราไปไม่ไหวนะ ซึ่งฉากไหนที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าเรา ก็จะมีน้องสแตนด์อินช่วยหรือบางทีเราเหนื่อยมาจากละครจำเป็นต้องถ่ายเห็นหน้าจริงๆ ก็บอกเขาขอนอนพักแป๊บ ซึ่งเขาก็โอเค ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะก็ทำงานร่วมกันอย่างสบายๆ ทีมงานก็ช่วยเซฟเรา ทีมงานทำงานดีนะ ถึงจะเป็นทีมเล็กๆ ต้นทุนน้อยๆ พอฉากที่ต้องขึ้นต้นมะม่วง แล้วมดเยอะทีมงานก็ไปดูให้ เดี๋ยวต้องดำน้ำ ทีมงานก็ต้องไปเคลียร์เดินดูให้ โอเคปลอดภัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
คิดและสร้างคาแร็กเตอร์เอง
ตอนที่ทำ เราไม่รู้ว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ดี ตัวนี้มันชื่อ “ทองหยิบ” เราก็คิดว่าเอ๊ะเวลาไปหลอกคน กินคนต้องทำยังไงน้า… ไหนลองดูสิ หยิบ ก็ต้องทำอย่างงี้ถูกป่ะ โอเค หยิบแบบนี้ แล้วเป็นหนังพากย์ มันเข้ากัน ปกติไม่เคยดูหนังที่ตัวเองเล่นนะ เพราะไม่มีเวลา หนังไม่ได้ฉายในกรุงเทพฯ ด้วย หนังที่เราเล่นเป็นหนังเซาะกราว เขาไปฉายต่างจังหวัดแต่ได้เงิน คิดดูเราไปเล่นหนังสายก็หนังแผ่นพวกเธอสมัยนี้แหละ หนังสายคือหนังเล็กๆ แล้วมีพี่คนหนึ่งมาบอกเวลาเขามาเล่นหนังสายให้เรา เขาก็บอกว่าเฮ้ย..พี่หน่อยผมได้เงินบานเลย ก็ถามว่าไปฉายที่ไหน เขาก็บอกผมกระเป๋าเล็กไปฉายในงานวัด ลานวัดเนี่ยนะ 10 บาท กระดาษหนังสือพิมพ์นั่งได้หลายหมื่นอ่ะสมัยนั้นนะ แต่มาได้เข้าฉายโรงในกรุงเทพฯ ก็คือ บ้านผีปอบ 2008 (ปี 2551) แล้วก็บ้านผีปอบ รีฟอร์เมชั่น(ปี 2554) แค่สองภาคเท่านั้น ซึ่งภาคสุดท้าย รีฟอร์เมชั่น จะทำอีกไหมอันนี้ก็ไม่รู้นะคะ
‘บ้านผีปอบ’ ถือเป็นหนังฟอร์มเล็ก?
เคยถูกถามแบบนี้นะ แต่เราตอบอย่างภาคภูมิใจว่า โอ้โห!หนูไม่เป็นไรลงทุน 100 เล่นเต็มที่เป็นหมื่นเลย เราตอบได้เป็นการแสดง แต่ถามว่ารู้สึกยังไง โอ๊ย…แต่คราวหลังก็ถึงแม้จะเล่นหนังเซาะกราว เราก็ดังพอสมควรนะ เราคิดบวก ไม่ท้อหรืออะไร เราเฉยๆ เป็นอาชีพของเรา อาชีพการแสดงแต่สำหรับบางคนที่เกิดไม่ทัน ก็จะแบบ ทำไมป้าต้องเล่น ก็เป็นนักแสดงไม่ว่าเขาจะจำภาพอะไรได้ ก็แค่ขอให้คนจำได้แค่นี้เราก็ภูมิใจแล้ว
เพราะเราถือว่าเป็นนักแสดงไม่ว่าจะเล่นอะไร
ภูมิใจอะไรใน ‘บ้านผีปอบ’
โอเคนะ ง่ายๆ ไม่มีเทคนิคอะไรเลย ก็มีเคยถูกถามเหมือนกันว่าทำไมต้องลงโอ่ง ดำน้ำขึ้นต้นไม้ ก็เราถ่ายต่างจังหวัด แล้วต่างจังหวัดมีอะไรล่ะ โอ่งใหญ่ ต้นไม้ CG เอฟเฟกท์ ทำสดตลอด ก็ทำง่ายๆ เราว่าเขามีวิธีคิดของเขาแหละซึ่งไม่ได้ขี้เหร่ พักหลังๆ ก็คล้ายๆ ซิทคอมชอบขายมุขกันอยู่เรื่อยๆ เด็กพวกนั้นเขาก็เก่ง ช่วยๆ กันคิดมุข
รางวัลที่มากกว่าถ้วยรางวัล
ไปไหนใครก็จำได้ มีใครบ้างที่ไปไหนมาไหนคนจำได้ขนาดนี้ ดูเหมือนเป็นญาติกันไปเลยอ่ะ และสิ่งที่ตามมาก็คือเงิน แม้ไม่มีรางวัลการันตีก็รู้สึกเฉยๆ มันไม่ได้เป็นสิ่งการันตี สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป
ระบบการทำงานของสมัยก่อนกับสมัยนี้
เดี๋ยวนี้เขาก็เริ่ดกว่าเนอะ เพราะว่ามีหลายแผนก แล้วก็มีอุปกรณ์การทำงานได้ดีกว่าคนสมัยก่อน แต่คนสมัยก่อนก็ไม่ค่อยโอเคนะจะมองว่าเป็นการเต้นกินรำกิน คนจะไม่ค่อยชอบ สังคมโบราณ แต่สมัยนี้เปลี่ยนไป บางคนลูกยังอยู่ในท้องอยู่เลย ป้าฝากลูกหน่อยสิ ตกลงเธอหรือลูกกันแน่ แต่ใครจะไปรู้ว่าจริงๆ มันเหนื่อยนะ แต่เดี๋ยวนี้คนก็ยอมรับเยอะช่องทางในการเรียนรู้
ก็เยอะ
ได้ลองทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
ก็ได้ประสบการณ์มาเยอะ เราถือว่าเราโชคดีมากที่สุด คือ เจ้านายเราไม่เคยถามว่าเราจบอะไร ต้องขอบพระคุณสองท่านนี้มากที่สุดเลยที่ให้โอกาส คือ เสด็จพระองค์ชายใหญ่ กับหม่อมปริม แล้วพอเราได้โอกาสเราก็เต็มที่ อาจจะไม่ได้เก่งในทุกด้านหรือทุกอย่าง เพราะคนหนึ่งจะเก่งไปหมดมันก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุด
หลักคติธรรมในการดำเนินชีวิต
เรามีระเบียบวินัยในการใช้เงิน ถ้าไม่เห็นเงินก็จะไม่ใช้เงิน ไม่ได้ขี้เหนียวนะแต่ใช้เงินเป็นเรามีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นปกติทั่วไป และเป็นนักแสดงอิสระ
วัย 66 กะรัต แต่ยังดูสวยปิ๊ง
สุขภาพจิตดี และเป็นคนอารมณ์ดีค่ะเราไม่ได้เว่อร์ ใช้เงินเป็นขั้นตอน ไปทำบุญกับเพื่อนฝูง สุขภาพแข็งแรงดีค่ะ มีไขมันสูงนิดหน่อย แต่ก็ออกกำลังกายบ้าง โยคะ ฟิตเนสหมดปีไปแล้วตอนนี้จะเปลี่ยนแผนใหม่ละ เพราะว่าโยคะต้องไปตามเวลา เราก็พยายามทำทุกอย่างที่ออกกำลังได้
ความภาคภูมิใจในชีวิต
ได้ประทับรอยมือ รอยเท้าที่หอภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่เขาโทร.มาว่าพี่หน่อยครับ ผมอยากได้ของไปสะสม เราก็บอกว่าก็สะสมไปสิใบปิดหนังอะไรพวกนั้น เขาก็บอกว่าผมมีหมดแล้วครับ แล้วจะเอาอะไรอีกล่ะ ผมอยากได้เสื้อผ้า ก็ไปขอเจ้าของหนังสิ เขาก็บอกว่าคุยกับเขาแล้วครับ เขาบอกพี่หน่อยเอาไปเอง เขาก็เลยขอให้ไปประทับรอยมือรอยเท้า ก็ดีใจมาก มีแฟนคลับคนหนึ่งมาหาถือป้ายผ้าใหญ่มาให้เซ็นชื่อแล้วก็เขียนยันต์ให้ด้วย(หัวเราะ) ก็ไปประทับมาเมื่อ 19 มกราคมปี 2556
แง่คิดฝากถึงคนรุ่นใหม่
โอกาสเยอะ ถ้าได้โอกาสนั้นแล้วก็ขอให้ใช้โอกาสให้ดีที่สุด ส่วนหน่อยเองก็ใช้โอกาสดีที่สุดในทุกก้าวที่ได้เดินเข้ามาในวงการนี้ ได้รับโอกาสแล้วเราก็ต้องทำให้ดีค่ะ
โอกาสเป็นของทุกคน เมื่อมีมาก็อย่าช้าที่จะคว้าไว้ และจงใช้มันอย่างคุ้มค่า เพราะโอกาสที่ดี ไม่ได้มีให้กับคนที่หวังเพียงชื่อเสียงและเงินทอง!!