แค่เอ่ยชื่อของ เจมส์ คาเมรอน คอหนังทั่วโลกก็แทบจะตีตั๋วรอ ทั้งที่ยังไม่ทราบชื่อหนัง แต่สำหรับ Alita :Battle Angel (อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล) ไม่ต้องรอกันแล้วค่ะ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าโรงฉายในบ้านเราเป็นที่เรียบร้อย และเชื่อว่าสุดสัปดาห์นี้จะกวาดพื้นที่ในโรงภาพยนตร์แทบจะทั่วประเทศ กับแอ๊กชั่น-ไซไฟล้ำอนาคต ที่ เจมส์ คาเมรอน อำนวยการสร้าง เนรมิต ศตวรรษที่ 26 ให้โลดแล่นบนจอภาพยนตร์
ต้นเรื่องของ Alita : Battle Angel (อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล) คือการ์ตูนมังงะยอดนิยมของญี่ปุ่น ในชื่อเพชฌฆาตไซบอร์ก (Gunnm หรือ Battle Angel Alita) เขียนโดย ยูกิโตะ คิชิโระ ซึ่ง เจมส์ คาเมรอน หยิบมาดัดแปลง และเขียนบทเอง ร่วมกับ เลต้า คาโลกริดิส และมอบหน้าที่กำกับการแสดงให้กับ โรเบิร์ต รอดริเกซ
จากส่วนหนึ่งในบันทึกของ เจมส์ คาเมรอนเขาวาดแบบให้ ศตวรรษที่ 26 มีโลกที่ลอยสูงอยู่เบื้องบนและโลกที่อยู่สูงเหนือโลกนั้นขึ้นไปอีก
โลกเบื้องล่างประกอบด้วยประชากรที่เหลือรอดอยู่บนพื้นผิวโลก เวลาผ่านไปนาน 300 ปี นับจากเหตุการณ์สงครามอวกาศ โดยสงครามระหว่างดวงดาวครั้งนั้น ยุติลงเมื่ออาวุธเชื้อโรคต่างทำลายล้างโลกของทั้งสองฝ่ายจนพังพินาศ
ผู้รอดชีวิตบนโลกส่วนใหญ่เดินทางไปยัง เมืองเศษเหล็ก (CuidaddeHierro) ซึ่งแอบอยู่ใต้เงาของนครลอยฟ้าอันยิ่งใหญ่แห่งสุดท้ายที่มีชื่อว่า ซาเล็ม
ซาเล็มลอยอยู่เหนือเมืองเศษเหล็กสูงขึ้นไปสองกิโลเมตร ช่วงที่สงครามอวกาศเพิ่งสิ้นสุดลงนั้น มันกลายเป็นหมุดหมายแห่งความหวังของมนุษยชาติ ทว่าผู้อยู่อาศัยในซาเล็มปกป้องตนเองจากโรคระบาดด้วยการปิดช่องลิฟต์ที่เชื่อมซาเล็มกับโลกเบื้องล่างเพื่อตัดความสัมพันธ์เชิงชีวภาพเป็นการถาวร และนับจากนั้นก็ไม่มีใครจากโลกเบื้องล่างได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปยังซาเล็มอีกเลย ดังนั้นซาเล็มจึงเป็นเสมือน ดินแดนพันธสัญญา ซึ่งพลเมืองที่ยากไร้และถูกกดขี่จากโลกเบื้องล่างไม่อาจเอื้อมถึงได้ ซาเล็มปกครองโลกเบื้องล่างโดยบังคับให้ส่งบรรณาการในรูปของอาหารและสินค้า เมืองเศษเหล็กจึงเป็นโรงงานให้แก่ซาเล็ม
ในยุคทองนานมาแล้ว บรรดานครลอยฟ้าเป็นประตูจากโลกสู่ดวงดาว นครลอยฟ้าแต่ละแห่งเป็นฐานรากของโครงสร้างขนาดใหญ่ซึ่งยื่นออกไปในอวกาศเป็นความยาวถึง 60,000 กิโลเมตร โครงสร้างนี้เรียกว่า ลิฟต์อวกาศ
หมายเหตุ: มีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจังและเป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดย NASA เรื่องราวของเราจะต้องยึดตามหลักการทางฟิสิกส์และวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด
จากบันทึกนี้ ทำให้ทราบว่า เจมส์ คาเมรอน พยายามผนวกรวมเรื่องในจินตนาการให้อยู่บนหลักความเป็นไปได้มากที่สุด และนักแสดงที่เข้ามามีส่วนร่วม ถ่ายทอดคาแร็กเตอร์หลักของเรื่อง ได้แก่ โรซา ซาลาซาร์ ซึ่งรับบทเป็น “อลิตา” ไซบอร์กสาว ที่ถูก ดร.ไดสัน อิโดะ (คริสตอฟ วอลต์ซ) ศัลยแพทย์ ไซบอกซ์เก็บมาจากกองขยะ แล้วช่วยซ่อมร่างของเธอให้ หลังจากที่ฟื้นขึ้นมา เธอสามารถจำได้เพียงอย่างเดียว ก็คือทักษะการต่อสู้รูปแบบเฉพาะของดาวอังคาร ที่หายสาบสูญไป ทำให้เธอกลายเป็น นักล่า-นักรบ ที่คอยตามไล่ล่ากำจัดเหล่าอาชญากรชั่วร้าย ในมหากาพย์การผจญภัยครั้งนี้อลิตาจะต้องออกเดินทางค้นหาตัวตนของเธอที่สูญหายไป แล้วเธอก็จะได้พบกับความรักด้วย
โรซา ซาลาซาร์ เผยถึงการได้ร่วมงานกับ โรเบิร์ต รอดริเกซ ผู้กำกับว่า “คล้ายการทำหนังอิสระแบบกองโจรเลยค่ะ ที่ทีมงานทุกคนสามารถพูดได้ว่า “เราสร้างมันขึ้นมาด้วยมือของเราเอง” เพียงแต่ว่ามันเป็นหนังมหากาพย์ไซไฟฟอร์มยักษ์ซึ่งต้องขับเคลื่อนหลายส่วนไปพร้อมกัน เรามีทีมงานขนาดปานกลาง แล้วก็มาบวกกับทีมWETA ซึ่งเป็นทีมงานฝ่ายวิชวลเอฟเฟกต์ทั้งหมด รวมกันแล้วก็เป็นคนกลุ่มใหญ่แต่โรเบิร์ตกลับนิ่งมาก เขาเข้าใจถ่องแท้ว่าตัวเองถ่ายทำอะไรอยู่ อีกเรื่องหนึ่งคือเขารับฟัง ฉันเล่าไม่ถูกเลยว่าบ่อยแค่ไหนที่ฉันต้องอยู่ในกองถ่ายที่สถานการณ์เป็นตรงกันข้าม แต่โรเบิร์ตรับฟังคุณและได้ยินเสียงของคุณ สำหรับผู้หญิงเชื้อสายละตินในวงการภาพยนตร์ มันน่าตกตะลึงค่ะ เพราะคุณไม่อยากทำตัวเป็นคนยุ่งยากหรอก แต่ฉันไม่เคยต้องมานั่งรู้สึกว่าตัวเองถามมากเกินไป หรือเข้าไปเกะกะยุ่มย่ามอะไรเลย ทุกครั้งที่ฉันพูดว่า “โรเบิร์ต ถ้าตัวละครพูดแบบนี้ มันจะเข้าท่ากว่าไหม ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น” ฉันรู้สึกว่าตัวเองได้มีสิทธิ์มีเสียงซึ่งเป็นเรื่องดีมากๆ แล้วเมื่อคุณมีสิทธิ์มีเสียง คุณก็ต้องรับผิดชอบความคิดของตัวเองด้วยคุณจะรู้สึกว่า “อ้อ คำพูดของฉันมีความหมาย คำพูดของฉันมีน้ำหนัก เพราะฉะนั้นฉันต้องรับผิดชอบต่อคำพูดนั้น” เขาสอนฉันหลายเรื่องเลยค่ะแล้วก็เป็นเรื่องดีมากที่ได้ทำหนังกับคนที่สนุกกับการทำหนัง คนที่เป็นแฟนหนังด้วย เขาเยี่ยมมากค่ะ”
พร้อมกันนี้ โรซา ยังยอมรับว่า อลิตา เหมือนตัวเธอในภาคอนิเมะ “มันเจ๋งสุดๆ ไปเลยค่ะ! และทางทีมงานก็วางแผนกันไว้แต่แรกแล้วว่า ไม่ว่านักแสดงรายไหนจะมารับบทนี้ ตัวละครจะต้องถ่ายทอดการแสดง ใบหน้า และสีหน้าของนักแสดงคนนั้น ยิ่งทีมงานตัดต่อแก้ไขหนังไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ฉันได้เห็น ฉันก็ยิ่งพบว่าตัวละครออกมาคล้ายฉันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งดูน่าขนลุกแต่ก็น่ามหัศจรรย์ด้วยค่ะ เพราะถ้าคุณเป็นเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์แล้วรับบทเป็นสม็อก คุณจะได้เห็นมังกรตัวยาว 60 ฟุต มันก็เจ๋งดีแต่คุณคงไม่รู้สึกผูกพันกับมันเท่าไร เหมือนกับว่า “อืม ก็เป็นมังกรล่ะนะ” แต่ตอนที่ฉันรับบทเป็นอลิตา เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีมงานใช้ใบหน้าจริงของฉันและรอยแผลเป็นจริง ทั้งความตึงของกล้ามเนื้อ ริ้วรอย รอยย่น และตำหนิต่างๆ เพื่อให้ดูเหมือนฉันถึงแม้ว่าสิ่งหนึ่งที่ฉันต้องเปลี่ยนก็คือท่าทางเพราะไซบอร์กไม่ทำหลังค่อมแน่ๆ! แล้วท่าทางฉันก็แย่มากค่ะ ฉันก็เลยต้องทำอกผายไหล่ผึ่งตลอดเวลา ยืนตัวตรง และไม่เอนไปเอนมา แต่ฉันรู้ว่าหลักๆ แล้วสิ่งที่จะปรากฏอยู่ในหนังก็คือใบหน้าของฉัน ฉันว่ามันดูน่าทึ่งและถึงแม้ว่ามันจะเป็นการเรนเดอร์ภาพขึ้นมาใหม่ทั้งหมด มันก็ยังดูเป็นฉันอยู่ดี ฉันสามารถมองเห็นตัวเองและรู้สึกผูกพันกับตัวละครได้”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี