ทำความรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้ให้กำเนิดโปรเจกต์ภาพยนตร์ “ผู้บ่าวไทบ้านฯ” ก่อนที่จะได้ชมผลงานล่าสุด “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...”
สวัสดีครับ ผม “โทนี่ บอย” หรือ “อุเทน ศรีริวิ” ผู้กำกับ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” ผมเป็นเด็กบ้านนอก ส่วนตัวชอบดูหนัง ตอนเด็กเวลาที่อยากจะดูหนังสักเรื่องหนึ่ง มันลำบากมาก การจะเสพสื่อพวกนี้ได้มีอย่างเดียวเลยก็คือ หนังกลางแปลง อาทิตย์หนึ่งก็จะมีครั้งหนึ่ง โดยต้องรอดูจากหนังกลางแปลงที่เข้ามาฉายในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันตอนที่เขามีงานบุญหรือมีการจัดงาน ซึ่งผมก็จะมีพี่คนหนึ่งที่สนิทกันคอยมาบอกว่าจะมีหนังมาฉายในหมู่บ้านคืนนี้นะ ผมก็จะเตรียมตัวตั้งแต่กลางวันเลย พอกลางคืนก็จะไปดูกับเพื่อนบ้างหรือไปกับพี่บ้าง ก็ปั่นจักรยานกันไป มีความสุขมาก ถ้าครั้งไหนมีหนังมาฉายที่หมู่บ้านตัวเอง พอดูเสร็จตอนเช้าก็ต้องรีบตื่นเพื่อที่จะมาเก็บเศษฟิล์มหรือถ่านเครื่องฉายที่เป็นแท่งมาสะสม คือเมื่อก่อนก็จะเป็นเครื่องอาร์ก เครื่องฉายฟิล์ม มันคือสิ่งที่เราชอบมาตั้งแต่เด็ก พอได้ฟิล์มก็เอามาโชว์กับเพื่อนว่ามีแบบนี้ๆๆ นะ มีมาแลกเปลี่ยนกันบ้าง แล้วถ้าตอนบ่ายตอนเย็นไม่มีเรียน กลางคืนก็เอาถุงพลาสติก เรียกว่าเอาพลาสติกใหญ่ๆๆ มาขึงเป็นจอหนังแล้วก็เอาเศษฟิล์มนี่แหละเอาไฟฉายมาส่องให้มันเกิดภาพขึ้นที่จอ มันก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ตอนเด็กๆ
พอโตขึ้นมาเป็นยุควิดีโอก็จะดูง่ายขึ้น มีร้านเช่าวิดีโอ เราก็จะเช่าทีละ 5-10 เรื่องมาดูกัน จากยุควิดีโอมาเป็นยุคดีวีดีก็ซื้อเก็บที่บ้านเต็มเลย ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันที่ว่าอยากทำหนัง ด้วยความคิดที่ว่าเราเคยเห็นชื่อผู้กำกับเวลาขึ้นเครดิตอยู่กับตัวหนังหลังหนังจบ ก็เลยอยากมีชื่อตัวเองอยู่ในตอนจบบ้าง ตัดสินใจไปหาเรียนเพิ่ม ก็ไปเรียนภาพยนตร์อยู่ 3-4 ปี ก็ออกมา แต่ก็ยังไม่คิดว่าจะทำหนังนะ ออกมาก็ทำวิดีโอพรีเซนต์ เป็นผู้ช่วยช่างภาพ เป็นพร็อปบ้าง ทำอาร์ต เป็นฟรีแลนซ์ทำทุกอย่าง แล้วค่อยมาทำผู้ช่วย ทำผู้ช่วยเสร็จปุ๊บก็ออกมาทำวิดีโอพรีเซนต์อีกเป็นของตัวเองอยู่ประมาณปีหนึ่ง ก็รู้สึกอยากทำหนังละ ก็เริ่มทำหนังสั้น มีชวนเพื่อนๆ ทำกัน พอทำเสร็จปุ๊บมันมีกระแสขึ้นโดยอัตมัติก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร หลังจากที่เราตัดตัวอย่างออกไป คือตอนนั้นมันมีชื่อเรื่องแล้วล่ะ ชื่อว่า “ผู้บ่าวไทบ้าน” แต่เป็นหนังสั้น พอมีกระแสก็พับโปรเจกต์ไว้เพื่อที่จะมาพัฒนาบทให้มันเป็นหนังยาว คือเรารู้สึกว่าทำหนังยาวดีกว่า เรามีเรื่องที่จะเล่าละ มีคนสนใจว่าผู้บ่าวไทบ้านมันคืออะไร หลังจากนั้นก็มาเขียนบทอยู่ปีหนึ่ง แล้วก็มาหาทุนอีกปีหนึ่ง ก็ไม่มีใครสนใจ ผมก็เลยตัดสินใจลงทุนทำกันเอง มันก็ไม่จบ แล้วก็ได้พี่คนหนึ่งเข้ามาช่วยรวบรวมเงินทองจนกลายเป็นหนัง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” (2557) ขึ้นมา หลังจากนั้นก็มี “ผู้บ่าวไทบ้าน 2” (2559) และ “ผู้บ่าวไทบ้าน 3” (2561) ซึ่งแต่ละเรื่องมันก็จะไม่เหมือนกัน มันจะไม่เป็นภาคต่อ แต่มันจะเป็นเหมือนตอนหนึ่งหรือมุมหนึ่งที่เอามาเล่า แต่อยู่ในคอนเซปต์ผู้บ่าวไทบ้าน ซึ่งก็รวมถึงภาคล่าสุด “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” (2564) นี้ด้วยครับ
“ผู้บ่าวไทบ้าน” ได้จุดประกายและสร้างปรากฏการณ์ “หนังอีสานยุคใหม่” ให้กับวงการภาพยนตร์ไทยในการเป็นหนังอีสานอินดี้เรื่องแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จเกินคาด
ปรากฏการณ์ของ “ผู้บ่าวไทบ้านฯ” (2557) ที่เป็นกระแสทุกวันนี้ในความรู้สึกผม ผมว่ามันเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับคนอีสาน เป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการหนังอีสานนอกเหนือจากหนังพี่หม่ำ “แหยมยโสธร” หนังพี่บิณฑ์ “ปัญญาเรณู” ผู้บ่าวไทบ้านเล่าเรื่องของกลุ่มผู้ชายที่มันอยู่ในหมู่บ้านจะมีวิถีชีวิตและกิจกรรมในแต่ละวัน บางวันก็ทำงาน บางวันก็สังสรรค์กับเพื่อน เรื่องเหล่านี้นี่แหละเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนอีสานซึ่งมันเป็นชีวิตประจำวันของคนอีสาน ด้วยนักแสดง ด้วยโลเคชัน ซึ่งก่อนหน้านี้มันก็ยังไม่มีหนังที่พูดถึงชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นอีสานจริงๆ พอมามีผู้บ่าวไทบ้านคนก็เลยรู้สึกว่านี่แหละตัวเราเอง มันเหมือนเขากำลังมองดูตัวเองอยู่ ผมคิดว่านี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนสนใจในความเป็นผู้บ่าวไทบ้าน
อะไรคือเสน่ห์หรือเอกลักษณ์และแนวความคิดที่อยากจะเล่าและนำเสนอที่บ่งบอกความเป็นผู้บ่าวไทบ้าน
ผู้บ่าวไทบ้านมันมีความน่ารักหลายๆ อย่างหลายๆ มุม ก็เลยอยากนำเสนอเรื่องราวความรัก ความสนุกสนาน และอัตลักษณ์ความเป็นอีสานผสมผสานลงไปในหนังเรื่องนี้
จาก “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” มาจนถึง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” นับเป็นพัฒนาการที่ต่อยอดและเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน ผู้ชมจะได้สัมผัสอะไรในภาพยนตร์เรื่องนี้
คือก่อนหน้านี้เรามี “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” ที่บุกเบิกมาซึ่งพอมาถึง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” ผมก็พยายามเล่าเรื่องที่มันใกล้ตัวกับคนดูทั่วไปมากขึ้น รวมไปถึงตัวนักแสดงที่มาเล่นก็เลือกนักแสดงที่คนดูเห็นแล้วจับต้องได้ว่านี่แหละอีสาน นี่แหละใช่ มาถ่ายทอดบทบาทการแสดงของแต่ละตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น “แอน อรดี, กระต่าย พรรณนิภา, เนม สุรพงศ์, เต้ย จักร์รินท์” โดยเรื่องราวเราก็อยากเล่าอยากถ่ายทอดในความเป็นหนังความรักเล็กๆ ของคนกลุ่มเล็กๆ ในอีสานที่พอถูกพัฒนาจนมาถึงเรื่องที่ 4 เราก็เลือกที่จะนำเสนออีกรูปแบบของความรักที่เล่าเรื่องผ่านความรักของครอบครัว ความรักของหนุ่มสาวโรงงาน และก็ความรักของนักเรียน ซึ่งยังคงคอนเซปต์ความเป็นผู้บ่าวไทบ้าน 1-2-3 ไว้อยู่ครบ
แต่ในขณะเดียวกันในส่วนของงานสร้างงานผลิตในเรื่อง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” เราก็ได้ทีมงานโปรดักชันที่มีคุณภาพมากๆ มาช่วยทำให้หนังดูน่าสนใจและน่าดูมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ ทีมงาน กล้องไฟ คือใหญ่ขึ้น เป็นผู้บ่าวไทบ้านที่สมบูรณ์แบบขึ้น เราได้ทีมงานบุคลากรที่เป็นโปรเฟสชันนัล ทั้งโปรดิวเซอร์อย่าง “พี่อิ๊ม-อรุณี ศรีสุข” ที่ทำหนังมาหลายๆ เรื่องอย่าง “พุ่มพวง”, “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ”, ผู้กำกับภาพ “เบิ้ล นวโรภาส” ซึ่งทำหนังรางวัลอย่าง “กระเบนราหู” และก็ “พี่โก้-ชาติชาย ไชยยนต์” เป็นโปรดิวเซอร์ของ “กระเบนราหู” และอีกหลายๆ คนล้วนเป็นมืออาชีพระดับแถวหน้าของเมืองไทย
แล้วก็ได้ 2 สตูดิโอผู้สร้างหนังไทยอย่าง “เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส” และ “สหมงคลฟิล์มฯ” โดยมี “พี่โอ๋-พาณิชย์ สดสี” หัวเรือใหญ่ในส่วนภาพยนตร์ของเวิร์คพอยท์ฯ มาช่วยดูแลการผลิตและอำนวยการสร้าง และยังมีเรื่องเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เราทำขึ้นมาใหม่สำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะซึ่งเราได้ “อาจารย์จอร์น ขวัญชัย” เจ้าของบทเพลงสองร้อยล้านวิวอย่าง “ให้เคอรี่มาส่งได้บ่” มาเป็นผู้ประพันธ์เพลงให้ ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงที่ไพเราะมากชื่อเพลง “คิดฮอดอีหลี” ซึ่งได้ “แอน อรดี” นางเอกของเรื่อง และ “เต้ย จักร์รินท์” มาเป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เพลงนี้คู่กัน
ทำไมต้อง “อีสานจ้วด”
ชื่อหนัง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” คำว่า “จ้วด” ความหมายคือ “รวดเร็ว” เหมือนบั้งไฟที่ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า อีสานจ้วดก็เป็นอีสานที่รวดเร็ว สมัยใหม่ ทันใจ แล้วคำว่าจ้วดมันก็เป็นศัพท์สแลงของอีสานที่แทนความหมายว่า “สุดยอด ดีงาม” หรือเป็นคำกวนๆ แบบ ”จ้วดไปเลย จัดไป” ก็ได้ด้วย
นอกจากคำว่า “อีสานจ้วด” ยังมีคำนิยามที่ควบคู่กับชื่อภาพยนตร์ก็คือ “ภาพยนตร์รักไนบักขามขั่ว นัวส์ในอารมณ์” มันสื่อความหมายว่าอะไร
“ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” ภาพยนตร์รัก “ไนบักขามขั่ว นัวส์ในอารมณ์” คำว่า “ไนบักขาม” ก็คือเมล็ดมะขามคั่ว คนอีสานถ้าพูดถึงสิ่งนี้จะร้องอ๋อ ร้องว้าวกัน เพราะนี่คือสิ่งที่คนอีสานชอบกิน ส่วนมากเวลาถ้ามีเมล็ดมะขามเขาก็จะเอาไปคั่ว ให้เปลือกมันกระเทาะแล้วก็แกะเปลือกออกแล้วก็อม อมเนื้อของมะขาม แล้วก็เคี้ยวๆ เหมือนหมากฝรั่ง เขาจะพูดหยอกกันเล่นๆ ว่าเป็นลูกอมคนจน ซึ่งมันจะหอมหวานมัน ก็ต้องไปลองชิมดู เพราะฉะนั้นคำว่า “ภาพยนตร์รักไนบักขามขั่ว นัวส์ในอารมณ์” มันจะเป็นกิมมิกหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นสิ่งที่คนอีสานเห็นจะร้องอ๋อ จะต้องขอแบ่งให้กัน เพื่อแกะเปลือกเคี้ยวเมล็ดทีแรกแข็งๆ อมไปอมมามันจะนุ่ม ซึ่งมันก็เหมือนความรักของหนังเรื่องนี้ของพระเอกกับนางเอก ตอนแรกก็ยังแข็งๆ กันอยู่ แต่พอเคี้ยวไปเคี้ยวมาเริ่มนุ่มเริ่มเข้าใจ เป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคนอีสาน ซึ่งเป็นสไตล์ในการทำหนังของผมที่มักจะต้องหยิบเอาความเป็นอีสานอย่างใดอย่างหนึ่งมาเล่า มาเป็นตัวแทนความเป็นอีสานที่ถูกสอดแทรกลงไป เรื่องนี้ก็ได้ไนบักขามหรือเมล็ดมะขามมาเป็นตัวแทน มาเป็นสื่อกลางความรักของพระเอกนางเอกแล้วก็เป็นสื่อกลางความรักของคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ด้วย
“ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
มันคือเรื่องราวของผู้บ่าวไทบ้านคนหนึ่งที่ชื่อว่า “เคน” อยากกลับมาตั้งหลักชีวิต สร้างฐานะ สร้างธุรกิจของตัวเอง หลังจากไปทำงานในเมืองใหญ่ ในขณะเดียวก็ตั้งใจจะกลับมาดูแลแม่ที่อยู่ลำพังด้วย ซึ่งพอกลับมาก็ไปเจอกับผู้สาวไทบ้านอกหักคนหนึ่งชื่อว่า “เฟิร์น” เจอปุ๊บก็รักปั๊บ เรื่องวุ่นๆ มันก็เลยเกิดขึ้น พูดได้ว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ทุกท่านจะได้เห็นการอัปเดตชีวิตของคนอีสานยุคใหม่ ได้เห็นความเป็นอยู่ของผู้บ่าวไทบ้าน คนหนุ่ม คนสาว คนเฒ่าคนแก่ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ในยุคสมัยนี้ จะได้เห็นมุมของนักเรียน ม.ปลาย มุมของสาวโรงงาน มุมของคนที่มีธุรกิจเล็กๆ ส่วนตัวในหมู่บ้าน มุมของครอบครัว มุมของคนแก่ที่เป็นเพื่อนข้างบ้าน และก็เพื่อนสนิทที่เป็นผู้บ่าวไทบ้านที่ต่างเติบโตมาด้วยกันจนเป็นหนุ่มเป็นผู้ใหญ่แล้วช่วยกันพัฒนาช่วยกันทำธุรกิจส่วนตัวให้มั่นคง ซึ่งจะเป็นการอัปเดตชีวิตไปในทางไหน จะเป็นแบบไหน ก็ต้องไปดูกัน
เรื่องนี้มีเหล่านักแสดงชื่อดังมากมายเข้ามาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวเป็นตัวละครสำคัญและสร้างสีสันใหม่ๆ ในภาพยนตร์ด้วย
ในภาพยนตร์ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” เราได้ศิลปินดารานักร้องเข้ามาร่วมงานในโปรเจกต์นี้ แต่ละคนฮอตมาก พูดได้ว่ามีคิวงานติดกันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นราชินีหมอลำ “แอน อรดี”, นักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ “เนม สุรพงศ์”, “เต้ย จักร์รินท์” แล้วก็ยังมีหมอลำซิ่ง “ดอกเหมย เพ็ญนภา” รวมถึงผู้ประกาษข่าวเคเบิลทีวีท้องถิ่นคนดัง “โจอี้ ศรีเมืองขอน” ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงมากๆ ทางอีสาน นอกจากเหล่าศิลปินดารานักร้องก็ยังมีนักแสดงคู่บุญของผมก็คือ “แม่แดง บุญศรี” และ “ฝ้าย เมฆะ” เจ้าของเพลงดัง “อยากกินตีน” มันเหมือนกับรวบรวมศิลปินที่มีชื่อเสียงของอีสานมารวมกันอยู่ในเรื่องนี้ครับ แน่นอนเรายังได้พระเอกสุดฮอตจากนาดาว “น้องโอบ โอบนิธิ” มาเป็นพระเอกในเรื่องนี้ด้วย ก็ต้องขอบคุณพี่ย้ง ทรงยศด้วยนะครับที่ส่งพระเอกสุดหล่อมาให้ ก็ถือเป็นโปรเจกต์ที่รวบรวมเหล่าศิลปินนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์ของอีสานหลายๆ คนมารวมกัน
บทบาท-คาแร็กเตอร์ของแต่ละตัวละครในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
คนแรกอย่าง “โอบ” ก็รับบทเป็น “เคน” คาแร็กเตอร์ของเคนก็จะเป็นหนุ่มที่มีความเป็น Loser หน่อยๆ แล้วต้องจากบ้านไปทำงานที่ชลบุรีนานมากแล้วก็กลับมา ตัวละครตัวนี้มีหลายบทบาทที่ต้องเล่นทั้งดราม่าทั้งคอมเมดี้ ไหนจะต้องมาเจอกับสาวคนหนึ่งที่เขาตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบแล้วต้องทำทุกอย่างทั้งตามจีบผู้สาวไปพร้อมกับต้องมาดูแลแม่ที่กำลังป่วยเป็นอัลไซเมอร์ แล้วก็ยังต้องมาต่อกรกับเพื่อนที่มีปรัชญาชีวิตหน่อยๆ แถมยังจะมีเรื่องความฝันที่ต้องทำร้านลาบให้ได้ คาแร็กเตอร์ของเขาที่ผมอยากได้คนอีสานแต่สำเนียงที่ไม่ใช่อีสานร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะมาเป็นตัวแทนของเคน
สาเหตุที่เลือกโอบ เพราะว่าน้องเขามีความเป็น Loser เราแคสต์คนที่จะมารับบทเคนเยอะมาก(ไม่ต่ำกว่า 40-50 คน) โอบถือว่าเซอร์ไพรส์ทีมงานในกองถ่ายมาก ตัวน้องรู้อยู่แล้วว่าต้องเล่นเป็นตัวแทนผู้บ่าวไทบ้าน แล้วน้องเองทำการบ้านมาแน่นมาก ทั้งในเรื่องความเป็นอีสานการเป็นตัวแทนความเป็นผู้บ่าวไทบ้าน โดยเฉพาะเรื่องภาษา น้องมีความพยายามสูงมากที่จะเรียนภาษา โอบต้องมาฝึกความเป็นอีสานอยู่เป็นเดือน มีครูสอนภาษาอีสานประกบข้างเลย ซึ่งผมก็จะช่วยเทรนด์เวลาเข้าซีน ในขณะที่ตัวน้องเองมีความสามารถสูงมากในเรื่องของการแสดง เขาทำให้ผมประทับใจทุกซีนที่ได้กำกับน้องเขา จนกล้าพูดว่าถ้าไม่ได้เลือกเขา เราจะรู้สึกผิดมากๆ น้องเข้าถึงอารมณ์และสุดยออดจริงๆ ไม่เสียใจเลยที่เลือกน้องโดยเฉพาะความตั้งใจในการแสดง
ส่วนบท “เฟิร์น” ได้ “แอน อรดี” มารับบท ตัวละครเฟิร์นจะเป็นผู้สาวไทบ้านที่มีความมุ่งมั่น ทะเยอทะยานสูงเพื่อครอบครัว เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าใช้จ่ายดูแลบ้านดูแลน้องพ่อแม่ หลักๆ อยากให้ครอบครัวสบาย คาแร็กเตอร์คือสาวโรงงานผมว่าน้องคนนี้มันใช่ ไม่ใช่เพราะว่าน้องเคยร่วมงานกับผมมาก่อนนะ แต่ผมว่าสาวโรงงานมันไม่ได้สวยอะไรมาก ถ้าดูในหนัง เช้าจะสวย บ่ายมาจะโทรม ดึกๆ มากินน้ำกินเหล้ากันต่อ ก็ว่ากันไป คือผมว่าน้องแอนเขาได้คาแร็กเตอร์ตรงนี้ ผมก็เลยชอบ แล้วพอมาแคสต์คู่กันแล้ว เออ...มันไปด้วยกันได้ แล้วพอเราเริ่มต้นถ่ายทำทั้งคู่เขาก็ทำได้ ส่วนสิ่งที่ยากคือน้องต้องซ่อนแววตาแห่งความทุกข์ไว้ในใบหน้าที่ยิ้มๆ พอน้องแอนมาเล่นทุกอย่างดูลงตัวไปหมดเลยในการแสดง โดยมุมมองส่วนตัวผม ผมคิดว่าชีวิตจริงน้องน่าจะเป็นแบบนั้น ผมว่าที่เลือกน้องเขาเพราะแบ็กกราวด์มันใกล้เคียงมากกับบทของเฟิร์นในหนังเรื่องนี้ ผู้หญิงสู้ชีวิต ชีวิตจริงน้องแอนก็สู้ชีวิต เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากเป็นนักร้อง ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะมีชื่อเสียง เพื่อที่ได้มีเงินทองให้พ่อให้แม่ นอกจากในมุมดราม่า บทนี้ของน้องแอนก็จะมีมุมเรื่องความรักของตัวเฟิร์น เขามีความรักกับแฟนหนุ่ม แฟนหนุ่มเจ้าชู้มากตัดใจไม่ได้สักทีเพราะว่าคาแร็กเตอร์ของเฟิร์นเชื่อแม่เชื่อพ่อ แม่บอกให้แต่งงานก็ต้องแต่งงาน พอเขาไม่รักเรา เราก็รักเขาอยู่อย่างนั้น
ส่วนพระเอก พอเฟิร์นมาเจอพระเอก ความรักที่ยังไม่ได้บอกสถานะว่ารักหรือไม่รัก แต่ตัวพระเอกนี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องบอกว่าบทเฟิร์นที่น้องแอนมาเล่นมีให้ร้องไห้ตั้งแต่เช้ายันเย็นทุกวัน มันก็จะได้ยิ้ม ได้หัวเราะในแต่ละซีน ถ้าเข้าไปดูในตัวหนัง ดราม่าก็ดราม่าจัด คอมเมดี้ก็คอมเมดี้ไปเลย มีครบทุกรสของคาแร็กเตอร์เฟิร์นที่น้องแอนต้องเล่น แล้วในหลายๆ ซีนน้องจะทุ่มเทมาก เล่นสมบทบาททั้งนั้น ต้องร้องไห้ทุกวันในการแสดง แต่น้องก็ยังมีความน่ารักอยู่ทั้งในซีนที่เป็นดราม่าหรือซีนอื่นๆ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะได้เห็นหลายๆ มุมของตัวน้องซึ่งคนดูอาจจะไม่คาดคิดน้องเล่นได้ขนาดนี้เลยเหรอ แล้วเวลาที่น้องแอนกับโอบเข้าซีนกันเหมือนเขาเคยเล่นร่วมกันมาก่อน ส่วนน้องแอนไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพมากแต่เคยร่วมงานกับผมเรื่องก่อนๆ เขาเล่นเป็นธรรมชาติ ส่วนตัวผมเคยคิดว่าทั้งสองคนนี้จะเขินกันไหมสำหรับน้องแอนที่ไม่ใช่มืออาชีพที่ต้องเข้าฉากกับน้องโอบ แต่กลายเป็นว่าทั้งสองคนทำได้ดี แต่ละซีนอมยิ้มตลอด ยกตัวอย่างซีนที่ทำให้ผมยิ้มได้คือซีนที่ตัวละครทั้งคู่เจอกันครั้งแรก ที่เขาได้พูดคุยกัน น่ารัก และดูเป็นธรรมชาติมากๆ แล้วเวลาที่โอบต้องมีการเข้าฉากซีนอารมณ์กับน้องแอนนี่ต้องจิกหมอนกันเลยหลายๆ ซีนมันทำให้ผมอินไปกับการแสดงของน้องสองคนนี้ บางซีนก็รู้สึกเหมือนน้ำตาจะไหล บางซีนมันได้เกินกว่าที่เราคาดไว้
ช่วงแรกๆ ก่อนที่จะได้ “โอบ-แอน” มารับบทคู่พระนางผู้บ่าวผู้สาวไทบ้าน ก็มีแอบหนักใจเหมือนกันว่าจะหานักแสดงมาถ่ายทอดตัวละครที่เราตั้งใจเขียนขึ้นนี้ได้มั้ย
สิ่งที่หนักใจเป็นอันดับแรกในการแคสติงหาตัวแสดงของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ การหาคนที่จะมาเล่นเป็นตัวนางเอก คือถ้ามองจากโจทย์ในความเป็นอีสานทั้งหมด แล้วดูจากนักแสดงที่ทางโมเดลลิงส่งมาทั้งหมด มันกลายเป็นหน้าที่โมเดิร์นไปแล้ว ซึ่งถ้าสวยก็สวยไปเลย แต่ว่ามันไมได้สวยแบบอีสานอย่างที่เราต้องการ สวยแบบธรรมชาติซึ่ง “แอน อรดี” ยังคงเหลือความสวยในแบบที่เป็นผู้สาวไทบ้านอยู่ครบหมดเลย เพราะต่อให้เราได้หน้าโมมาเลยหรือสวยมาเลย มันก็ไม่ใช่อย่างที่เราต้องการ แต่กลับกันอย่างตัว “โอบ” ตัวผู้ชายผมไม่ได้ฟิกเจาะจง อย่างโตโน่มาจากไหน ณเดชน์มาจากไหน เวียร์มาจากไหน ขอนแก่นบ้านผมหมดเลย นั่นคือชีวิตของผู้บ่าวไทบ้านมันเปลี่ยน แล้วผมก็อยากได้คาแร็กเตอร์ที่ไปทางนี้เลย แต่ผู้หญิงก็คือที่อยากได้อย่างที่บอกก็เพราะว่าคาแร็กเตอร์ตัวนี้คือผู้สาวไทบ้านที่อยู่บ้านไม่อยากออกไปไหน ยังติดอยู่กับความคิดที่ว่าเรียนจบแล้วก็ต้องไปทำงานโรงงาน ในโรงงานก็มีแต่หน้าตาแบบนี้หมดเลย แต่กับบทผู้บ่าวถ้าคนที่ได้ออกไปจากอีสานแล้วรู้สึกว่าตัวแทนมันต้องสมัยใหม่หน่อย หน้าตาก็ต้องดีหน่อย ซึ่งปัจจุบันนี้คนที่หล่อที่สวยมีหมดแล้ว แต่สำหรับแอนเขามีตรงนี้ ตรงที่หน้าเขาบ้านจริงๆ
พอถึงเวลาทำงานจริงๆ อะไรคือสิ่งที่เรารู้สึกหนักใจ
สิ่งที่หนักใจคือการร้องไห้ เพราะผมจะชอบหัวเราะทั้งน้ำตา ในความรู้สึกเวลาขยี้ก็ต้องขยี้ เวลากำกับนี้ด่าแหลกเลยนะ เพื่อเอาอารมณ์บางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งโกรธ น้อยใจ เพราะว่าเราเป็นผู้กำกับมือใหม่ ถ้าอยากจะให้เขารู้สึก ผมก็จะมีวิธีอย่างนี้ แต่ว่าตัวน้องแอนสอบผ่านตั้งแต่เรื่องแรกที่ผมได้เคยทำงานร่วมกับเขา (ผู้บ่าวไทบ้าน 2 ตอน แจกข้าวหาแม่ใหญ่แดง / 2559) ซึ่งดูอันนั้นผมว่ามันโอเค แต่ที่หนักใจกับน้องคือหนังเรื่องนี้น้องต้องร้องไห้เยอะนะไหวไหม แล้วหน้าต้องอมทุกข์แต่ต้องยิ้มเพื่อกลบความทุกข์เหล่านี้ไว้ คาแร็กเตอร์มันต้องแบกครอบครัว น้อง แม่ แม่ก็อยากจะให้แต่งงาน แฟนเราก็รักบ้างไม่รักบ้าง รักเขาจนเขาเลิก แต่ก็ยังรักเพราะแม่ และที่สำคัญทำทุกอย่างเพื่อเอาพ่อกลับมาอยู่แทนเรา คือเขาก็มีเซฟโซนของเขา พระเอกก็จะมีเซฟโซนของพระเอก แต่พระเอกกับนางเอกมันจะเป็นเหมือนเส้นคู่ขนานกัน พระเอกอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้าน คืออายุหนึ่งแล้วผู้บ่าวไทบ้านเขาจะตะแล้ดแต๊ดแต๋ แล้วอีกอายุหนึ่งเขาจะกลับมาอยู่บ้านต้องกลับมาทำอะไรซักอย่างอยู่บ้าน แต่ว่าส่วนตัวนางเอกคือมันเลือกไม่ได้ที่จะมาทำแบบนี้ แต่มันเลือกเอางานและเอาเงินมาซัปพอร์ต
นอกจากนี้ยังมีเหล่าซูเปอร์สตาร์นักร้องลูกทุ่งสุดฮอตรุ่นใหม่มาถ่ายทอดฝีมือทางการแสดงเป็นครั้งแรกด้วย
หลายคนเป็นนักร้องลูกทุ่งที่มาเล่นหนังเรื่องแรก ถือได้ว่าเป็นการเปิดซิงทางด้านการแสดงอย่าง “เนม สุรพงศ์” ก็จะได้เห็นความเป็นวัยรุ่นยุคใหม่ในหมู่บ้าน เป็นตัวแทนความรักของวัยรุ่นในปัจจุบันที่มีโลกโซเชียลเข้ามามีบทบาท เป็นอีกวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่วัยรุ่นสมัยนี้ชอบทำกัน มีเรื่องของการกดไลก์ กดแชร์ มีเรื่องขี่มอเตอร์ไซค์ มันใกล้ตัวมาก แต่จะพิเศษตรงที่สไตล์ความรักที่มันจ้วดมาก รวมไปถึงพวกคำพูดคำจาก็จะจ้วดหน่อยมีภาษาเฉพาะตัว ในหนังเราก็จะได้เห็นฉากจีบกันที่เถียงนา-กระท่อมปลายนา ซึ่งอันนี้เป็นลายเซ็นของผมที่ตั้งใจใส่ไว้ ส่วนนักแสดงวัยรุ่นที่เป็นนักร้องอีกคนที่ผมอยากแนะนำก็คือ “เต้ย จักร์รินท์ ไมค์ทองคำ” เล่นเป็น “แมน” แฟนของเฟิร์น เสน่ห์แรงเจ้าชู้ เป็นหนุ่มวิศวะเสน่ห์แรงที่คอยหักอกใครต่อใครเยอะๆ ซึ่งได้เต้ยมาเล่นบทนี้นี่แหละใช่เลย
ส่วนตัวละครอื่นๆ ก็มี “ดอกเหมย เพ็ญนภา” กับ “โจอี้ ศรีเมืองขอน” ทั้งคู่ก็จะมารับบทเป็นเพื่อนร่วมงานของเฟิร์น ก็คือเป็นเพื่อนนางเอก แล้วทั้งสองคนนี้ก็จะทะเลาะกันตลอด ทะเลาะกันด้วยเหตุผลไม่ลงตัว แต่สุดท้ายก็ยังคงเป็นเพื่อนรักกันอยู่
นอกจากนี้ก็จะมีนักแสดงที่เป็นวัยรุ่นในหมู่บ้านที่ชื่อว่า “ปีเตอร์” เป็นเจ้าของร้านตัดผมซึ่งเป็นเพื่อนของพระเอก เป็นหนุ่มสมัยใหม่ที่เป็นตัวแทนผู้บ่าวที่ตั้งหลักปักฐานได้ แต่สังคมในหมู่บ้านไม่ค่อยยอมรับ ในความรู้สึกผม ผมรู้สึกว่าในคนอีสานถ้าทำงานไม่ได้สูงไม่ได้เป็นเจ้าคนนายคนก็จะไม่ได้รับการยอมรับ ผมก็เลยสร้างปีเตอร์ขึ้นมา ปีเตอร์มีร้านตัดผมเล็กๆ เป็นแรงบันดาลใจให้พระเอกมาเปิดร้านลาบ ตัวเขาเองเป็นคนมีแนวคิดในเชิงปรัชญาทำให้คนเข้าไม่ถึง ปีเตอร์มีความน้อยใจ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ เปิดร้านตัดผมของเขา ภูมิใจในอาชีพ ธุรกิจส่วนตัวของเขา ซึ่งบทนี้ได้ “ฝ้าย เมฆะ” มาแสดง เขาเป็นนักแสดงที่ผ่านการร่วมงานกับผมมาตั้งแต่ผู้บ่าวไทบ้าน 2 และ 3 และยังเป็นเจ้าของผลงานเพลง “อยากกินตีน” ด้วย ซึ่งทั้งตัวพี่ฝ้าย, ดอกเหมย, โจอี้มาร่วมด้วยช่วยกันทำให้หนังมันจ้วด มีความนัวส์ของหนังมากยิ่งขึ้น
และที่ขาดไม่ได้เลยคือนักแสดงรุ่นใหญ่ 2 คนนั่นก็คือ “แม่แดง บุญศรี” กับ “แม่ด้วง” ซึ่งสองคนนี้จะเป็นคู่ปรับกัน คือเป็นทั้งเพื่อนบ้านกัน เป็นเหมือนญาติพี่น้องกัน แต่สิ่งที่กั้นสองคนนี้ไว้ก็คือรั้วบ้าน แค่รั้วกั้นสองคนนี้ไว้ไม่ให้เป็นเพื่อนกัน ก็อยากให้ทุกคนไปดูการแสดงของทั้งคู่ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งไฮไลต์หลักของเรื่องเลย เป็นคู่ปรับตลอดกาล ซึ่งทั้งสองคนนี้จะมาเติมเต็มความคอมเมดี้และความจ้วดของหนังที่จะทำให้ทุกคนต้องอยากดู
อุปสรรคและความยากง่ายในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้
ความยากง่ายในการถ่ายทำเรื่องนี้มันก็มีตั้งแต่ตอนเปิดกล้องวันแรกพายุก็เข้าเลย เราต้องหลบหลีกกันไปต่างๆ นานา แล้วก็พอเป็นนักแสดงใหม่สำหรับบางคนที่ไม่เคยผ่านกล้องมาก็จะมีนิดนึง แต่ส่วนใหญ่ก็ทำงานแฮปปี้ดีนะ ไม่ว่าจะเป็นทีมกล้อง ทีมไฟ ทีมหน้าผม แล้วก็ชาวบ้าน ส่วนการแสดงของน้องๆ เอง ทุกๆ คนก็ล้วนแฮปปี้ในการทำงาน ส่วนอุปสรรคสำคัญก็คือการที่น้องๆ แต่ละคนคือซูเปอร์สตาร์คิวฮอตมาก แต่ละวันจะมีเวลาไม่มากเลย แต่น้องๆ ก็เค้นความสามารถของตัวเองออกมาใส่ในภาพยนตร์ทั้งหมด ซึ่งตัวผมเองก็อยากขอบคุณนักแสดงทุกคนเลยที่มาร่วมงานกับภาพยนตร์เรื่อง “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด” คือแต่ละคนแม้จะมีงานอีเวนต์ งานแสดงด้านหน้าเวทีของแต่ละคน เพราะว่าทุกคนล้วนเป็นศิลปินนักร้องที่บางทีในหนึ่งวันก็มีถึง 3 งาน บางคนถึงกับว่าเลิกงานตี 4 แล้วก็มากองตี 5 พอ 6 โมงเช้าก็ต้องเข้าฉากต่อ แล้วก็เข้าฉากเสร็จ 6 โมงเย็นก็ไปงานไปขึ้นเวทีต่อเลยนะ เป็นอยู่อย่างนี้ วนอยู่อย่างนี้ อันนี้ต้องนับถือหัวใจน้องๆ ทุกคนครับ แล้วที่สำคัญคือทุกคนล้วนทำการบ้านทางด้านการแสดงมาอย่างดี คือหน้าเซต แอ็กชันปุ๊บแล้วเล่นได้เลย
มองภาพความเป็นอีสานยุคใหม่ในปัจจุบันอย่างไร
สำหรับความเป็นอีสานยุคใหม่ก็คือที่ผ่านมาหลายคนอาจมองว่าอีสานต้องแห้งแล้งนะ อีสานต้องกันดารนะ แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมอยากเล่าเรื่องราวที่จะเข้าช่วงหน้าฝน ซึ่งภาพในหนังก็จะมีสีเขียว มีสีสดใสหน่อยครับ มันก็จะมีเข้าคอนเซปต์ที่ว่าเรากำลังจะอัปเดตชีวิตความเป็นอีสานสมัยใหม่ซึ่งมีคนหนุ่มคนสาวที่เริ่มจะกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน เริ่มจะกลับมาให้ความสำคัญกับครอบครัวในหมู่บ้าน
นิยามความเป็นหนังรักฉบับ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...”
ถ้าจะให้คำนิยามความรักฉบับ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” เอาง่ายๆ มันก็เป็นความรักที่ปรู๊ดปร๊าด รวดเร็วทันใจ มาเร็วไปเร็ว
อยากให้จับตาดูฉากไฮไลต์อะไรเป็นพิเศษ
จริงๆ ก็มีหลายๆ ฉากไฮไลต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมก็อยากให้ไปดูซีนคาราโอเกะที่ทีมงานเซตอัปขึ้นมา มันเป็นไลฟ์สไตล์ของคนอีสานที่มันเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งนั่นแหละ เป็นร้านคาราโอเกะกลางทุ่งประมาณนี้ ผู้บ่าวผู้สาวไทบ้านจะไปรวมตัวกันอยู่ที่นั่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ แล้วร้านคาราโอเกะแห่งนี้เป็นสถานที่แรกที่พระเอกนางเอกพบรักกัน ส่วนจะพบรักกันอย่างไรก็อยากให้ไปดูในหนังครับ
มาจนถึงตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้างตลอดหกปีที่ผ่านมาจากโปรเจกต์ภาพยนตร์อีสานอินดี้ที่เดินทางมาไกลถึงตรงนี้กลายเป็นผู้บ่าวไทบ้านอีสานจ้วด ที่ตั้งใจอยากให้คนกลุ่มใหญ่ๆได้มาดูกัน อยากบอกอะไรกับคนดูเป็นพิเศษมั้ย
สำหรับภาพยนตร์ถิ่นอีสานตั้งแต่ที่ผมทำ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” มาตั้งแต่ภาคแรกจนมาถึงภาคที่สี่นี้ ผมรู้สึกภูมิใจนะที่ได้เห็นการต่อยอดออกไปอีกหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นไทบ้านเดอะซีรีส์ หรือหนังอีสานของทางเมืองกรุง ส่วนตัวก็รู้สึกดีใจที่ได้เห็นภาพยนตร์ท้องถิ่นอีสานเกิดเยอะขึ้นทุกวัน และพัฒนาคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ ด้วย สำหรับเรื่องนี้ก็จะเป็นหนังรักเล็กๆ ที่อยากอัปเดตชีวิตของคนอีสานและความเป็นผู้บ่าวผู้สาวไทบ้านยุคใหม่ และเรื่องนี้ผมก็ได้บุคลากรเบื้องหน้าเบื้องหลังหลายคนหลายฝ่ายที่มีศักยภาพมาร่วมงานด้วยซึ่งจะทำให้ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด...” ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ นี่แหละคือสิ่งที่ผมภูมิใจ และอยากให้ทุกคนพร้อมใจจ้วดไปดูเรื่องนี้กันในโรงภาพยนตร์ครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี