12 มี.ค. 2561 สื่อต่างประเทศหลายสำนักนำเสนอข่าวที่สืบเนื่องจากกรณีสภาประชาชนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมติเมื่อ 11 มี.ค. แก้ไขกฎหมายให้ สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่ระบุว่าตำแหน่งผู้นำสูงสุดแดนมังกรนั้นจะเป็นได้ครั้งละ 5 ปีและเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติรวมทั้งชาวจีนที่อาศัยในต่างแดนที่มองว่านายสีและพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังจะนำประเทศไปสู่ปัญหาในอนาคตจากการทำลายธรรมเนียมดังกล่าว
อาทิ สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "Xi Jinping: 'Not my president' posters emerge outside China" เกี่ยวกับกระแสต่อต้านการต่ออายุการดำรงตำแหน่ง ปธน. ของนายสี ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ด้วยการนำโปสเตอร์ที่เป็นภาพของนายสีพร้อมคำบรรยาย "Not my President" (ไม่ใช่ประธานาธิบดีของฉัน) ทั้งภาษาจีนและอังกฤษ ไปติดไว้ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในหลายประเทศของโลกตะวันตกที่มีนักศึกษาชาวจีน อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย
"Not My President" หัวข้อรณรงค์ต่อต้านการแก้กฎหมายให้ สีจิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนไม่จำกัดวาระ
ภาพประกอบ : BBC
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @StopXiJinping กล่าวกับ BBC ว่าโปสเตอร์ดังกล่าวดำเนินการโดยกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลทั้งที่กำลังเรียนอยู่และสำเร็จการศึกษาแล้ว แต่ไม่ขอระบุตัวตนว่าเป็นใครบ้าง โดยย้ำว่าชาวจีนไม่ว่าจะอยู่ในต่างแดนหรือในเมืองจีนมีสิทธิที่จะพูดถึงเรื่องนี้โดยไม่ต้องหวาดกลัว ขณะที่ อู๋เล่อเปา (Wu Lebao) นักศึกษาจีนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) กล่าวว่า เขาร่วมติดโปสเตอร์นี้ด้วยเพื่อสร้างความตระหนักในหมู่เพื่อนๆ ของเขา และย้ำว่า ปธน.สี ทำตนเป็นเผด็จการมานานแล้ว และหลังจากนี้จะยิ่งมีอำนาจมากขึ้น
ถึงกระนั้น BBC ก็รายงานด้วยว่า แม้จะเป็นประเด็นร้อน แต่นักศึกษาจีนหลายคนก็ไม่ทราบ หรือไม่ค่อยสนใจมากนัก ขณะที่ เดวิด โบรฟี (David Brophy) อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) กล่าวว่าเขาแปลกใจที่เห็นปฏิกิริยาต่อต้านการต่ออายุนายสีให้ดำรงตำแหน่งแบบไม่มีวาระ อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความเป็นห่วงว่า นศ. เหล่านี้จะมีความเสี่ยงหากกลับไปยังประเทศจีนในอนาคต ด้วยเพราะอาจถูกทางการจีนมองว่าเข้าประเทศเพื่อไปเคลื่อนไหวทางการเมือง
ขณะที่เว็บไซต์ นสพ.The Guardian ของอังกฤษ นำเสนอรายงานพิเศษ “'Shameless naysayers': Chinese media hits back at questions over Xi Jinping's power grab” กล่าวถึงท่าทีของสื่อมวลชนจีนที่ทราบกันดีว่าเป็นกิจการของรัฐ ตอบโต้ความเห็นของชาวต่างชาติที่วิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายให้นายสีสามารถครองอำนาจได้ยาวนาน อาทิ นสพ.China Daily ที่ลงบทบรรณาธิการว่า ชาวตะวันตกบางคนมีนิสัยชอบมองว่าระบบของจีนในแง่ลบ เมื่อใดก็ตามที่พวกเขามาประเทศจีนก็จะเลือกมองผ่านแว่นตาที่สกปรก
ไม่ต่างจาก นสพ.Global Times สื่อจีนอีกฉบับหนึ่ง กล่าวว่าชาวตะวันตกกำลังข่มขู่จีนด้วยคำแนะนำที่ไม่พึงประสงค์ โดยคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สนิทกับ ปธน.สี นั้นย้ำว่า กุญแจดอกสำคัญบนเส้นทางของจีนคือการรักษาความเป็นผู้นำของพรรคและการเคารพพรรคอย่างเคร่งครัด หลังการลงมติเมื่อ 11 มี.ค. ที่มีผู้ลงคะแนนเพียง 2,964 คน จากประชากร 1.4 พันล้านคนทั่วประเทศ ผลการลงคะแนนสะท้อนความนิยมของนายสีอย่างท่วมท้น
อยู่กันยาวๆ : สีจิ้นผิง ในวันลงมติแก้ไขกฎหมายยกเลิกการห้ามดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกิน 2 วาระ
ภาพประกอบ : Reuters , The Guardian
The Guardian ยังรายงานถึงมุมมองที่ขัดแย้งกัน ระหว่าง เสินชุนเหยา (Shen Chunyao) สมาชิกคณะกรรมการกิจการนิติบัญญัติของจีน (Legislative Affairs Commission) ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมที่บัญญัติขึ้นจากวิกฤติทางการเมืองหลังยุคสมัยของ เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong) ช่วงปี 2525 จะไม่นำจีนกลับไปซ้ำรอยเดิมอย่างแน่นอน แต่จะนำพาจีนไปสู่แสงสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ กับ ซูซาน เชิร์ค (Susan Shirk) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนซึ่งเป็นรองผู้ช่วยเลขานุการอดีต ปธน.บิล คลินตัน (Bill Clinton) ของสหรัฐ ที่กล่าวว่าจีนในยุค ปธน.สี กำลังกลับหลังหัน
ด้านเว็บไซต์ นสพ.Washington Post ของสหรัฐ นำเสนอรายงาน “China’s Xi Jinping gets expanded mandate, may rule for life” โดยตอนหนึ่งกล่าวว่า การต่ออายุให้สีจิ้นผิงอย่างไม่จำกัดวาระ จะพาจีนไปสู่ยุคผู้นำเป็นใหญ่เพียงผู้เดียวดังสมัยของประธานเหมาและฮ่องเต้ในราชวงศ์ต่างๆ ของจีน ทั้งที่ เติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) อดีตผู้นำจีนหลังยุคประธานเหมาได้วางธรรมเนียมห้ามเป็นผู้นำเกิน 2 วาระเอาไว้เพื่อไม่ต้องการให้ฝันร้ายของชาวจีนอย่างการปฏิวัติวัฒนธรรม ช่วงปี 2509-2519 ภายใต้การปกครองอันยาวนานของประธานเหมาเกิดขึ้นอีก
"สถานะอันศักดิ์สิทธิ์" ห้ามล้อเลียนลบหลู่ : ตัวการ์ตูน "วินนี่ เดอะ พูห์" (Winnie the Pooh) หรือหมีสีเหลืองสวมเสื้อสีแดงที่คุ้นตาชาวโลก ปัจจุบันเป็น "สิ่งต้องห้าม" ไม่สามารถค้นหาในระบบอินเตอร์เน็ตของจีนได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ชาวเน็ตจีนมักนำไปโพสต์ในทำนองล้อเลียน ปธน.สีจิ้นผิง อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ทางการจีนสั่งแบน
ภาพประกอบ : 9GAG , Weibo
Washington Post ยังกล่าวถึงกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจีน มีการโพสต์ข้อความระบายบนสื่อออนไลน์ แต่ไม่นานก็ถูกระบบเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจัดการลบออกอย่างรวดเร็ว อาทิ คำว่า “ฉันไม่เห็นด้วย” หรือถ้อยคำเสียดสี “สีเจ๋อตุง” (Xi Zedong) ที่หมายถึง ปธน.สี กำลังจะกลายเป็นประธานเหมาคนที่ 2 อย่างไรก็ตาม หลิวเจียงหยง (Liu Jiangyong) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) ระบุว่า การเป็นผู้นำสูงสุดของนายสีจะยาวนานขึ้น แต่อีกมุมนั่นก็คือความมั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับความต่อเนื่องของนโยบาย
เช่นเดียวกับ จ้าวหมิงหลิน (Zhao Minglin) รองประธานกลุ่มนักลงทุนปักกิ่ง กล่าวอย่างมั่นใจว่า วิสัยทัศน์ของ ปธน.สี ที่จะยกระดับมาตรฐานการครองชีพของชาวจีน คงเป็นไปได้หากนายสีมีอำนาจเพิ่มขึ้น และตนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลของนายสีอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือรัฐบาลที่ทรงพลังและแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม นายจ้าวก็กังวลว่าการพูดคุยในประเด็นสาธารณะอาจไม่เหลือพื้นที่ให้กับผู้เห็นต่าง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี