วันพฤหัสบดี ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ต่างประเทศ
เราก็เป็นแรงงาน! สื่อญี่ปุ่นตีข่าว‘โสเภณีไทย’ต่อสู้เพื่อยุติการตีตรา‘อาชีพผิดกฎหมาย’

เราก็เป็นแรงงาน! สื่อญี่ปุ่นตีข่าว‘โสเภณีไทย’ต่อสู้เพื่อยุติการตีตรา‘อาชีพผิดกฎหมาย’

วันศุกร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562, 18.36 น.
Tag : ยุติการตีตรา สื่อญี่ปุ่ โสเภณีไทย อาชีพผิดกฎหมาย
  •  

17 พ.ค. 2562 เว็บไซต์ นสพ.The Japan Times ของญี่ปุ่น เสนอรายงานพิเศษ “With health insurance and time off, empowered sex workers in Thailand battle stigma” ว่าด้วยความพยายามของกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทย ในการต่อสู้เพื่อยุติการถูกกำหนดให้เป็นอาชีพผิดกฎหมาย เพื่อที่จะได้รับสิทธิและความคุ้มครองเฉกเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานอาชีพอื่นๆ ในสังคม

รายงานดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก THOMSON REUTERS FOUNDATION เริ่มต้นที่ จ.เชียงใหม่ จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย อันเป็นที่ตั้งของ “Can Do Bar” สถานบันเทิงที่ก่อตั้งในปี 2549 โดยมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ต่อสู้ในประเด็นการหยุดตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทย โดยสถานบันเทิงแห่งนี้พยายามเป็นต้นแบบในการให้หลักประกันสุขภาพและวันหยุดทำงานกับผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว

ไหม จันตา (Mai Chanta) หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยใน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้คนมักบอกให้ผู้ขายบริการทางเพศยุติอาชีพนั้นเสียแล้วไปทำอย่างอื่นแทน เช่น อบคุ้กกี้หรือเย็บผ้า คำถามคือเหตุใดงานเหล่านั้นจึงถูกพิจารณาว่าเหมาะสม และย้ำว่าผู้ขายบริการทางเพศเลือกที่จะทำงานนั้นด้วยความรู้สึกพึงพอใจเฉกเช่นงานอาชีพอื่นๆ ทั้งนี้ผู้หญิงนับล้านคนทั่วโลกขายบริการทางเพศเพื่อหารายได้ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้การยอมรับในฐานะอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เซเนกัลและเปรู

ขณะที่ในประเทศไทย ดินแดนซึ่งมองอาชีพขายบริการทางเพศว่ามีมลทิน มีโทษปรับ 1,000 บาทสำหรับผู้ค้าบริการทางเพศ ส่วนผู้ซื้อบริการผู้ค้าที่อายุไม่ถึง 18 ปีอาจถูกจำคุกได้สูงสุดถึง 6 ปี ข้อมูลจากโครงการร่วมเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เมื่อปี 2557 พบว่ามีผู้ขายบริการทางเพศ 123,530 คน แต่บางฝ่ายเชื่อว่ามีมากกว่านั้นราว 2 เท่า ซึ่งรวมถึงแรงงานเคลื่อนย้ายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนาม

รายงานของ The Japan Times กล่าวต่อไปว่า ยุคสมัยใหม่ของการขายบริการทางเพศในประเทศไทย น่าจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าไปตั้งฐานทัพในไทย และขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามเวียดนามเมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานทัพ เพื่อให้บรรดาทหารต่างชาติได้พักผ่อนหย่อนใจ จากนั้นมันได้ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแห่งการท่องเที่ยวทางเพศ มีสถานบริการประเภทต่างๆ เช่น บาร์ อาบอบนวด เลานจ์และคาราโอเกะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ที่น่าสนใจคือแม้การขายบริการทางเพศจะผิดกฎหมายของไทยมาตั้งแต่ปี 2503 แต่ทุกอย่างถูกเพิกเฉยจากภาครัฐ และว่ากันว่าธุรกิจนี้ให้ผลตอบแทนจำนวนมหาศาลกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ท่ามกลางความพยายามต่อสู้ของผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทยเพื่อให้ได้รับสิทธิความเป็นมนุษย์ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง มาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งช่วงดังกล่าวก็มีการเรียกร้องเช่นกันในแคนาดาและออสเตรเลีย

กระทั่งในปี 2557 เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลทหาร ซึ่งมีนโยบายจะเปลี่ยนประเทศไทยให้มีภาพลักษณ์หรูหราเพื่อดึงดูดบรรดานักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก การปราบปรามการค้ามนุษย์ที่เป็นวาระหลักของประชาคมโลกถูกใช้เป็นข้ออ้างในการจัดการผู้ขายบริการทางเพศไปด้วย ลิซ ฮิลตัน (Liz Hilton) ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ระบุว่า มาตรการ “จู่โจมและช่วยเหลือ” ที่ตำรวจไทยและ NGO ร่วมมือกัน ส่งผลกระทบต่อหญิงที่ขายบริการโดยสมัครใจ ที่หลายคนมีครอบครัวให้ต้องดูแลอยู่เบื้องหลัง

ด้านข้อมูลจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เปิดเผยถึงรายได้ต่อวันของหญิงขายบริการทางเพศที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยคือวันละ 325 บาท ตั้งแต่ 2 - 10 เท่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงว่ามาตรการจู่โจมและช่วยเหลือเป็นไปเพื่อตรวจสอบแรงงานข้ามชาติและผู้ค้าประเวณีที่ยังอายุไม่ถึง 18 ปี โดยหลังจากนั้นจะมีการดูแลสุขภาพและฝึกอาชีพต่อไป

พรสม เปาปราโมทย์ (Pornsom Paopramot) ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในประเทศไทยเคยมีการถกเถียงเรื่องการให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือกเพราะไม่ต้องการถูกมองว่าส่งเสริม อีกทั้งต้องการส่งสารถึงชาวโลกว่าการท่องเที่ยวทางเพศไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยต้องการเป็นที่รู้จัก ซึ่งการให้การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพถูกกฎหมายจะไม่ตอบโจทย์สารนี้

บอริสสลาฟ เกราสิมอฟ (Borislav Gerasimov) ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร Global Alliance Against Traffic in Women ให้ความเห็นว่า การแก้ไขให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกกฎหมายจะลดการ “ตีตรา (stigma)” คนในอาชีพดังกล่าวว่าเป็นพวก “ไม่ปกติและผิดศีลธรรม (deviant and immoral)” นำไปสู่การปรับปรุงสภาพในการทำงานและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย ทั้งนี้รายงาน Global Slavery Index 2018 โดยองค์กร Walk Free Foundation ระบุว่าไทยเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่านและปลายทางของการค้ามนุษย์ คาดว่ามีคนราว 610,000 คนตกอยู่ในสภาพเป็นทาส

รายงานของสื่อญี่ปุ่นยังกล่าวอีกว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ จนรัฐบาลสหรัฐจัดอันดับประเทศไทยเลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่ที่ Tier 2 (จากเดิมคือ Tier 2.5 และต่ำสุดคือ Tier 3) อันเป็นการชื่นชมท่าทีของทางการไทย เช่น ในกลุ่มแรงงานบนเรือประมง รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ แต่ แอนนา โอลเซน (Anna Olsen) ตัวแทนจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย มองว่า แม้การค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ก็เป็นคนละแบบกับการขายบริการทางเพศโดยทั่วไป

ย้อนกลับไปที่ จ.เชียงใหม่ หลังการเลือกตั้งใหญ่ของไทยเมื่อเดือน มี.ค. 2562 ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือก (LGBT) เสนอนโยบายยุติการกำหนดให้การขายบริการทางเพศเป็นอาชญากรรม ปิงปอง (Ping Pong) 1 ในผู้ก่อตั้ง Can Do Bar กล่าวว่า ในวันแรกๆ ที่มีสถานบริการแห่งนี้ แม้จะถูกปฏิเสธว่าผู้ขายบริการทางเพศไม่สามารถทำประกันสังคมและไม่มีสิทธิวันหยุดงาน แต่ท้ายที่สุดก็สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ และวันนี้ที่กำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่ สมาชิกก็พร้อมจะไปเรียกร้องกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานคนใหม่เช่นกัน

ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.japantimes.co.jp/news/2019/05/17/asia-pacific/social-issues-asia-pacific/health-insurance-time-off-empowered-sex-workers-thailand-battle-stigma/#.XN6JkdSLRkg


เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

ชำแหละ 4 ข้อ 'ทักษิณ'โชว์วิสัยทัศน์! 'หลงยุค หลงตัวเอง ขายฝัน แก้ตัว'

'ยุน ซอกยอล'อดีตปธน.เกาหลีใต้ติดคุกอีกรอบ ศาลอนุมัติหมายจับหวั่นหลักฐานถูกทำลาย

'วัส ติงสมิตร'ชี้'หมอ-พยาบาล-จนท.ราชทัณฑ์'ไม่รอด เตรียมรับวิบากกรรม ป่วยทิพย์ชั้น 14

นักธุรกิจการเมืองทำรัฐล้มเหลว! 'สมชาย'ชี้คอร์รัปชันเชิงนโยบาย บ่อนทำลายพลังอำนาจแห่งชาติ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved