26 พ.ย. 2562 สำนักข่าว Japan Today ของญี่ปุ่น เสนอข่าว “Illicit trade of otters via social networking on the rise” ระบุว่า ขบวนการลักลอบค้าตัวนาก (Otter) อย่างผิดกฎหมาย กำลังเฟื่องฟูในประเทศไทยผ่านการใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อ-ขาย อาทิ ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2562 ตำรวจ จ.พัทลุง จับกุมชายวัย 27 ปี หลังสืบทราบว่าเป็นผู้ส่งตัวนากบรรจุในกล่องกระดาษ โดยก่อนหน้านี้ มีการตรวจพบตัวนาก 18 ตัว ในร้านเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง คิดเป็นมูลค่าตัวละ 116 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,500 บาท
แม้นากจะถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทย และตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) แต่ความต้องการเลี้ยงทำให้การซื้อ-ขายในตลาดมืดยังคงดำเนินต่อไป โดยมีปลายทางสำคัญคือญี่ปุ่น เนื่องจากมีร้านที่ตกแต่งด้วยการนำตัวนากมาเลี้ยงไว้ (Otter Cafe) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ ในย่าน Ikebukuro กรุงโตเกียว มีร้านหนึ่งนำเข้านาก 15 ตัวจากอินโดนีเซียอย่างถูกกฎหมาย
พนักงานชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่ทำงานในร้านเหล่านี้ เล่าว่า ในปี 2561 มีผู้มาเสนอขายตัวนากสภาพผอมแห้ง 2 ตัว และเมื่อเขาแจ้งตำรวจ ผู้ที่นำมาขายนั้นก็ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบขนสินค้า ขณะที่ข้อมูลจากองค์กร Traffic ที่เฝ้าระวังการลักลอบค้าสัตว์ป่าสงวน ระบุตั้งแต่ปี 2558-2560 มีตัวนากจำนวน 59 ตัว ถูกลำเลียงออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจำนวนนี้ 32 ตัวถูกส่งมาที่ญี่ปุ่น โดยใช้สื่อออนไลน์ในการซื้อ-ขาย สำหรับในประเทศไทย เฟซบุ๊ค (Facebook) เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมที่สุด และตำรวจไทยก็เข้าไปล่อซื้อจนจับกุมผู้กระทำผิดได้
ผู้ต้องหาในขบวนการค้าตัวนากในประเทศไทย ให้การว่า ได้รับการติดต่อจากลูกค้าที่ไม่ทราบชื่อ และตนก็ได้ประสานกับผู้จัดหาที่ก็ไม่ทราบชื่ออีกเช่นกัน โดยวางแผนจะส่งตัวนากไปกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย อย่างไรก็ตาม การที่เครือข่ายลักลอบขนตัวนากรวมตัวกันอย่างหลวมๆ และใช้ชื่อปลอมบนโลกออนไลน์ ก็เป็นเรื่องยากในการสืบสวนของตำรวจจนนำไปสู่การจับกุม
นากเป็นสัตว์พื้นเมืองทางภาคใต้ของไทย แต่ชายวัย 54 ปี ใน จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า ระยะหลังๆ ประชากรนากตามธรรมชาติลดลงเพราะการขยายตัวของเมืองจนกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ชนิดนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของทางการไทย เชื่อว่าต้องมีแหล่งเพาะพันธุ์นากในตลาดมืด แต่ไม่สามารถระบุที่ตั้งได้ อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อกับกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “the society of otter owners” ให้ข้อมูลว่า มีการเพาะพันธุ์นากในมาเลเซียก่อนลำเลียงเข้าไปขายตัวละ 2,500 บาทในไทย
เมื่อถามต่อไปว่า กังวลหรือไม่กับการที่ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์หายาก กลุ่มดังกล่าวกล่าวว่า ไม่มีทางที่จะจัดการกับการลักลอบขนส่งนากได้ทั้งหมด ยังไม่ต้องนับว่ามีข้อตกลงที่ไม่เป็นที่รับรู้อีกมากมายกับเจ้าหน้าที่
ที่มา : japantoday.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี