29 กันยายน 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงาน เหล่าผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการประกาศแบนแอปพลิเคชันแชร์คลิปวิดีโอสัญชาติจีนอย่างติ๊กต็อก (TikTok) ของสหรัฐฯ และคดีความที่เกี่ยวข้องหลายคดีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กำลังผลักให้สหรัฐฯ ต้องเดินไปบนหนทางของการแยกตัวโดดเดี่ยว
คาร์ล เอฟ เฟย์ (Carl F. Fey) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยอัลโต (Aalto University) ในประเทศฟินแลนด์กล่าวว่า การประกาศแบนดังกล่าวถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบริษัทข้ามชาติจากบางประเทศ มากกว่าจะเป็นการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันกันอย่างเสรี
“ผมว่ามันน่าสงสัยนะว่าการประกาศแบนนี้สอดคล้องกับหลักการเปิดกว้างและความโปร่งใสขององค์การการค้าโลกหรือไม่ (WTO)”
“ผมอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อถึงกันชนิดที่แทบจะไร้อุปสรรค” เขากล่าวและเสริมว่าคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ละทิ้งแนวคิดเช่นนี้ไปแล้ว ซึ่งตนไม่เชื่อว่าการทำเช่นนี้คือค่านิยมที่สหรัฐฯ ยึดถือมาตั้งแต่เดิม
เฟย์กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากสำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่อย่างผมที่จะจินตนาการได้ว่ารัฐบาลของเราจะแบนแอปพลิเคชันการสื่อสารรายใหญ่อย่างติ๊กต็อกในสหรัฐอเมริกา”
“ทุกวันนี้ ชาวอเมริกันจำนวนมากใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อกเพื่อแบ่งปันวิดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด 19) สิ่งนี้ช่วยให้ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันและสร้างความสุขให้พวกเขาในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกไปพบปะสังสรรค์ได้”
“สิ่งสำคัญคือ ต้องจำไว้ว่าไม่มีใครทั้งนั้นที่ถูกบังคับให้ใช้งานติ๊กต็อกหรือวีแชท (แอปพลิเคชันรับส่งข้อความและโซเชียลมีเดียสัญชาติจีน) หากจะมีใครซักคนที่ไม่ต้องการใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล พวกเขาก็แค่ไม่ต้องใช้มัน”
เหมาซวี่ซิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันการศึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (National Institute of Economic and Social Research) ที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้าเสียมากกว่า
“อย่างที่เราทราบกันดี ติ๊กตอกปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศที่ตนเข้าไปดำเนินกิจการและแนวปฏิบัติที่ติ๊กต็อกใช้นั้นก็เหมือนกันกับของบริษัทโซเชียลมีเดียสัญชาติอเมริกันอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอื่นๆ” เหมากล่าว
อเล็กซานเดอร์ กูเซฟ (Alexander Gusev) ผู้อำนวยการสถาบันการวางแผนและการพยากรณ์เชิงกลยุทธ์ของรัสเซีย (Institute of Strategic Planning and Forecasting) กล่าวว่าเบื้องหลังคำสั่งแบนดังกล่าวเป็นความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่ต้องการจะกีดกันบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติซึ่งมีศักยภาพในการแข่งขันออกจากตลาดสหรัฐฯ
กูเซฟกล่าวว่า สหรัฐฯ จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาสถานะการผูกขาดในตลาดข้อมูล และไม่สนใจหลักการและกฎเกณฑ์สากลที่เกี่ยวข้องใดๆ
แดน รูลส์ (Dan Roules) หุ้นส่วนผู้จัดการของสไควร์แพตตันบ็อกส์สำนักงานเซี่ยงไฮ้ (Squire Patton Boggs) บริษัทกฎหมายที่มีสำนักงานใหญ่ในโอไฮโอ กล่าวว่าคำสั่งแบนนี้จะทำให้บริษัทต่างชาติไม่อยากมาลงทุนและดำเนินงานในสหรัฐฯ
“ผมเชื่อว่าการกระทำของฝ่ายบริหารของทรัมป์ในกรณีติ๊กต็อก รวมไปถึงกรณีอื่นๆ อาจทำให้เกิดความกังวลใจในหมู่บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ เกี่ยวกับการเปิดกว้างของตลาดสหรัฐฯ และสิ่งที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าการตัดสินจะมีขึ้นอย่างยุติธรรมภายใต้หลักนิติธรรม”
เมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) คาร์ล นิโคลส์ ผู้พิพากษาศาลเขตโคลัมเบียหรือกรุงวอชิงตันออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งมีผลให้ติ๊กต็อกดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะมีการพิจารณาคดีอย่างเต็มรูปแบบ
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ของสหรัฐฯ ออกคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้บริษัทของสหรัฐฯ ห้ามทำธุรกรรมใดๆ กับไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทเทคโนโลยีจีนเจ้าของแอปพลิเคชันติ๊กต็อก ภายใน 45 วันข้างหน้า โดยอ้างถึงความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ
ต่อมาในวันที่ 14 ส.ค. ทรัมป์ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ กำหนดให้ไบต์แดนซ์ขายกิจการติ๊กต็อกสหรัฐฯ หรือนำบริษัทลูกนี้แยกออกมาขายหุ้นแก่ประชาชน (Spin-Off) ภายใน 90 วัน
ติ๊กต็อกได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อค้านถึงความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของคำสั่งฝ่ายบริหารที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. โดยโต้กลับว่าไม่ปรากฏหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติกรรมอันเป็นภัยของติ๊กต็อกต่อความมั่นคงของชาติดังที่ทรัมป์กล่าวหา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี