จีนผลิตชุดตรวจโควิด
รู้ผลทันทีภายใน4นาที
ฮ่องกงแย่งซื้อผักสด
‘โควิด’ทำขาดแคลน
ทั่วโลกติดโควิดกว่า 398 ล้านรายตายทะลุ 5.7 ล้านศพ สหรัฐฯผู้ติดเชื้อนำโด่ง ส่วนฮ่องกง ประสบปัญหาผักขาดแคลน
อ้างโควิดระบาดส่งผลให้ผักจากจีนส่งมาลดลง ขณะที่ WHO เผยโควิดทำบริการสาธารณสุขประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า90% ประสบปัญหาชะงักงัน ชี้เป็นความท้าทายในการแก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ว่ามีผู้ติดเชื้อรวม 398,093,224 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 5,768,797 รายและรักษาหายแล้วรวม317,637,345รายสำหรับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ส่วนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในทวีปเอเชีย ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย ซึ่งอยู่ในอันดับที่30
ด้านนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ระบุในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่าการส่งผักจากประเทศจีนมายังฮ่องกงเกิดปัญหาขัดข้อง เนื่องจากมีคนขับรถบรรทุกติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ นางแคร์รี หล่ำเน้นย้ำว่า ฮ่องกงจะยังเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นศูนย์ตามนโยบายของรัฐบาลจีนต่อไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สภาพชั้นวางผักในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งของฮ่องกงเต็มไปด้วยความว่างเปล่า ขณะที่ชาวฮ่องกงต่างพากันแห่ไปที่ตลาดสดเพื่อแย่งกันซื้อผักที่เหลืออยู่ไม่มาก แต่อาหารประเภทอื่นๆ ยังคงมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนบรรยากาศช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่ตลาดแห่งหนึ่งในเขตหว่านไจ๋ของฮ่องกงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย พนักงานของร้านขายผักต้องตะโกนห้ามชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่ให้เข้ามาในร้าน เนื่องจากไม่มีผักเหลือแล้ว ทั้งยังระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนสนามรบ นอกจากนี้ยังมีร้านขายผักและผลไม้จากประเทศจีนหลายร้านที่ปิดบริการ และมีบางร้านที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาขายผักผลไม้แพงกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัวจากราคาปกติ
ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของฮ่องกงให้ความเห็นว่ายุทธศาสตร์การทำให้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นศูนย์ที่ทำให้ฮ่องกงต้องปิดพรมแดนกับทั่วโลกนั้นไม่มีความยั่งยืน ทั้งที่ประเทศต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปใช้แนวทางการอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 กันแล้ว ขณะที่แพทย์หลายรายระบุว่าการใช้มาตรการเข้มงวดทำให้ประชาชนเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อยหรือเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์จากบ้าน
ทั้งนี้ ทางการฮ่องกงรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่อย่างน้อย 380ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 16,000ราย และผู้เสียชีวิต 213ราย
ด้านคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในนครเซี่ยงไฮ้เผยแพร่บทความที่มีการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วลงในวารสารเนเจอร์ไบโอเมดิคัลเอนจิเนียริ่งเมื่อวันจันทร์ว่า ได้ใส่ตัวตรวจจับชีวภาพที่เป็นเครื่องกลไฟฟ้าไว้ในอุปกรณ์ต้นแบบที่พกพาได้ เพื่อวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสจากตัวอย่างสารคัดหลั่ง พบว่าสามารถพบตรวจเชื้อได้ภายในเวลาไม่ถึง 4นาที เป็นการทดสอบกับผู้ติดเชื้อ 33ตัวอย่าง ควบคู่ไปกับการทดสอบด้วยวิธีแบบพีซีอาร์ ได้ผลแม่นยำเทียบเท่ากัน แต่ใช้เวลาน้อยกว่า ง่ายกว่าและพกพาได้สะดวกกว่า ขณะที่วิธีแบบพีซีอาร์ใช้เวลาหลายชั่วโมง และต้องทำในห้องทดลองปฏิบัติการเท่านั้น ทำให้ตรวจได้ในจำนวนจำกัด คณะนักวิจัยยังได้นำวิธีใหม่ไปตรวจ 54 ตัวอย่างที่มีทั้งคนสุขภาพแข็งแรงและผู้ติดเชื้ออื่นที่ไม่ใช่โควิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ ผลตรวจไม่พบผลบวกปลอมเลยแม้แต่รายเดียว
คณะนักวิจัยจีนระบุว่า ทันทีที่พัฒนาแล้วเสร็จ อุปกรณ์นี้จะสามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็วในหลากหลายสถานที่ รวมถึงบ้านเรือนประชาชน ส่วนการใช้ชุดตรวจแอนติเจนแบบรวดเร็วหรือเอทีเค (ATK) ที่แพร่หลายในหลายประเทศมักมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกชุดตรวจโควิดรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ข้อมูลศุลกากรจีนระบุว่า เดือนธันวาคม 2564 จีนส่งออกชุดตรวจมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 52,750 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 เท่าจากเดือนพฤศจิกายน.
อีกด้านหนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสรุปว่าได้ทำให้เกิดการชะงักงันในการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน อาทิ โครงการฉีดวัคซีนและการรักษาโรคเอดส์ถึง 92% จาก 129 ประเทศทั่วโลก โดยการสำรวจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนที่จัดขึ้นในต้นช่วงปี 2564 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะสรุปว่าการให้บริการด้านสาธารณสุขต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย
องค์การอนามัยโลกระบุอีกว่า ผลสำรวจครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับความท้าทายของระบบสาธารณสุขที่มีความสำคัญยิ่ง ฟื้นฟูการให้บริการ และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลสำรวจชี้ว่าการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการให้บริการของรถพยาบาลและการดูแลคนไข้ในหอพักผู้ป่วยหนักแย่ลงถึง 36% ในประเทศที่มีรายงานว่าระบบสาธารณสุขประสบปัญหาชะงักงัน เมื่อเทียบกับต้นปี 2564อยู่ที่ 29% และ 21% ในประเทศที่มีการสำรวจทั้งหมด การผ่าตัดทางเลือก อาทิ การเปลี่ยนสะโพกและข้อเท้าประสบปัญหาที่ 59% ขณะที่การดูแลฟื้นฟูและการดูแลแบบประคับประคองที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเกิดช่องว่างขึ้นถึงครึ่งหนึ่ง
องค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่า ขนาดของปัญหายิ่งทำให้เกิดภาวะชะงักงันกับระบบสาธารณสุขที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งทำให้เกิดการลดลงของความต้องการในการให้การดูแลด้านสาธารณสุข แต่ไม่มีการให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม การสำรวจในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้โรงพยาบาลต้องรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี