วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ต่างประเทศ
สื่อญี่ปุ่นตีข่าวมรสุมยกลูกเหล็กไทย สมาคมเจอแบนอ้างโด๊ป นักกีฬาหญิงถูกมองไม่เข้ามาตรฐานความงาม

สื่อญี่ปุ่นตีข่าวมรสุมยกลูกเหล็กไทย สมาคมเจอแบนอ้างโด๊ป นักกีฬาหญิงถูกมองไม่เข้ามาตรฐานความงาม

วันศุกร์ ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565, 19.58 น.
Tag : นักกีฬาหญิง มรสุมยกลูกเหล็กไทย ไม่เข้ามาตรฐานความงาม สมาคม สังคมไทย
  •  

วันที่ 22 เมษายน 2565 เว็บไซต์ นสพ.Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น เสนอรายงานพิเศษ Thailand's female weightlifters defy gender expectations ว่าด้วย “ยกน้ำหนัก (Weightlifting)” ด้านหนึ่งเป็นกีฬาความหวังคว้าเหรียญรางวัลของไทยในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงที่เลือกเล่นกีฬาชนิดนี้ต้องเผชิญกับการถูกมองในแง่ลบเนื่องจากรูปร่างที่ได้จากการฝึกซ้อมขัดกับ “ขนบความงาม (Beauty Standard)” ในสังคมไทย

รายงานข่าวเริ่มต้นด้วยการพาย้อนไปในปี 2547 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อ อุดมพร พลศักดิ์ (Udomporn Polsak) หญิงไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่างโอลิมปิกมาครองได้จากกีฬายกน้ำหนัก และหลังจากนั้น ยกน้ำหนักก็กลายมาเป็นความหวังของคอกีฬาชาวไทย อย่างไรก็ตาม ยกน้ำหนักก็ไม่ใช่กีฬายอดนิยมของหญิงไทย เนื่องด้วยสังคมไทยมองว่า ผู้หญิงสวยต้องมีรูปร่างผอมเพรียว


ศานิกุณ ธนสาร (Sanikun Tanasan หรือชื่อเดิมคือ โสภิตา ธนสาร) หญิงไทยนักยกน้ำหนักเจ้าของเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2559 เปิดเผยว่า จริงๆ แล้วเธอไม่ได้อยากเป็นนักกีฬายกน้ำหนักมาตั้งแต่แรก ด้วยข้อกังวลจากรูปร่างที่ได้จากการฝึกซ้อม แต่อยากเป็นนักกีฬามวยไทย ตามรอยผู้เป็นพ่อเสียมากกว่า แต่ทางเลือกก็ไม่ได้มีมากนัก ในเวลานั้น ชุมพร จังหวัดทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ผู้หญิงส่วนใหญ่ไปไม่พ้นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจำนวนมากแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย 

ในวัย 11 ปี ศานิกุณ สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนกีฬา ซึ่งมีทั้งหมด 13 แห่งทั่วประเทศไทย ภายใต้การฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด เด็กที่เข้าเรียนที่นี่มีโอกาสที่จะได้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ในแต่ละรอบการฝึกตลอด 4 ปี มีเด็กสาวกว่า 10 คนเข้าร่วม โดยใช้พื้นที่โรงยิมของกองทัพบกไทย ขณะที่ อภิญญา ดัชถุยาวัตร (Apinya Dattuyawat) เลขาธิการสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ยกน้ำหนักไม่ใช่กีฬาที่สนุก เพราะนักกีฬาต้องฝึกสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พวกเขาทำได้เพียงเอาชนะตนเองไม่ใช่คู่ต่อสู้

มากไปกว่านั้น หากเป็นผู้หญิงที่เล่นกีฬาชนิดนี้ ยังต้องเผชิญกับการถูกมองด้วยขนบความงามในสังคมไทย อาทิ สำนักข่าวบางแห่งใช้คำเรียกว่า “สาวหล่อ (Tomboy)” เมื่อกล่าวถึงนักกีฬา โดย อภิญญา กล่าวว่า ชาวต่างชาติอาจมองนักกีฬายกน้ำหนักว่าสวย แต่สำหรับคนไทยนั้นไม่ใช่ ซึ่งนั่นทำให้บางคนต้องต่อสู้กับปัญหาภาพลักาณ์ด้านรูปร่าง อาทิ กรณีของ พิมศิริ ศิริแก้ว (Pimsiri Sirikaew) นักยกน้ำหนักทีมชาติไทย เจ้าของ 2 เหรียญเงิน ในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2555 และที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ปี 2559 

ย้อนไปเมื่อปี 2555 กับเหรียญเงินครั้งแรกในโอลิมปิกที่ลอนดอน บนโลกออนไลน์มีการนำภาพของ พิมศิริ ไปเปรียบเทียบกับศิลปินที่แต่งกายแนวแดร็ก (Drag) และมีชาวเน็ตรายหนึ่งถามว่า “นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงไทยเป็นจริงหรือ (Is this what Thai women really look like?)” ขณะที่ ศานิกุณ เล่าว่า เมื่อตอนเป็นเด็ก แม่มักจะห้ามไม่ให้ฝึกซ้อมกีฬายกน้ำหนัก เพราะกลัวว่าลูกสาวจะสูญเสีย “ลักษณะความเป็นหญิง (Femininity)” จากมัดกล้ามที่เพิ่มขึ้น ไม่ต่างจาก ดวงอักษร ใจดี (Duangaksorn Chaidee) เจ้าของเหรียญทองยกน้ำหนักในกีฬาโอลิมปิกเยาวชนเมื่อปี 2557 ก็ยอมรับว่า ไม่เคยรู้สึกว่าตนเองสวย 

ขณะที่กระแสสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ศานิกุณ มองว่า ชาวไทยรู้สึกกลัวที่เห็นผู้หญิงมีกล้าม แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ความงามไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และทุกคนก็สวยได้ในแบบของตนเอง เธอยังกล่าวอีกว่า ตนเองเป็นตัวอย่างใหม่ในคำจำกัดความของความงาม เห็นได้จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของกิจกรรมการยกน้ำหนักเพื่อการพักผ่อน และการออกกำลังกายแบบครอสฟิต (CrossFit) ซึ่งมีลักษณะของการยกน้ำหนักแบบเข้มข้นสูง ด้าน พิมศิริ กล่าวอย่างภูมิใจว่า ตนเป็นผู้หญิงมีกล้ามที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ อีกทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของตนเองและให้สิ่งต่างๆ กับครอบครัวได้มากกว่าที่เคยคิดไว้

อุรชา ตีระวานิชสันติ์ (Uracha Teerawanitsan) นักกีฬาครอสฟิตทีมชาติไทย เล่าว่า ย้อนไปแค่ปีก่อน ผู้หญิงไทยสงสัยเรื่องการออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักและไม่อยากตัวใหญ่ขึ้น แต่ปัจจุบันความกลัวดังกล่าวเริ่มลดลง เนื่องจากบรรดาคนดังบนโลกออนไลน์หันมาออกกำลังด้วยวิธีนี้มากขึ้น การที่คนไทยหันมาเข้ายิมกันมากขึ้น ตนเห็นว่าหมายถึงผู้คนเปิดใจยอมรับมากขึ้น เต็มใจที่จะมีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดีกันมากขึ้น

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว การตัดสินใจเป็นนักกีฬายกน้ำหนักอาจเปลี่ยนอนาคตของพวกเธอได้ ในประเทศไทย นักกีฬาจำนวนมากมาจากครัวเรือนยากจน เด็กๆ เหล่านี้ถูกดึงดูดด้วยการได้เรียนต่อโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงเรียนกีฬา และหากไปได้ไกลถึงได้เหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิก ก็จะได้เงินถึง 356,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 

ศานิกุณ ปัจจุบันรับราชการในกองทัพบก และมีธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า กีฬายกน้ำหนักเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนอย่างมาก เช่นเดียวกับ พิมศิริ ที่กล่าวว่า กีฬายกน้ำหนักช่วยให้ตนหาเลี้ยงครอบครัวในบ้านเกิดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีอะไรเลย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า นอกจากรางวัลอย่างเป็นทางการจากการแข่งขันแล้ว นีกกีฬาเหล่านี้หลายคนได้งานทำในหน่วยงานภาครัฐทั้งทหารและพลเรือน ทำให้มีรายได้มั่นคง นั่นหมายถึงการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับอนาคตของผู้หญิง จากคนในชุมชนบ้านเกิดของนักกีฬาเองด้วย

Thung Isarin ผู้ฝึกสอนกีฬายกน้ำหนัก ซึ่งจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนกีฬา กล่าวว่า พ่อแม่ของนักกีฬาส่วนใหญ่ไม่ใช่คนรวย นักกีฬาจึงมีแรงจูงใจ แม้บางครั้งพวกเขาได้รับบาดเจ็บแต่ก็พร้อมจะสู้ต่อไป ถึงกระนั้น สมาคมยกน้ำหนักของไทย ต้องเผชิญมรสุม เมื่อนักกีฬาไม่ผ่านการตรวจสอบการใช้สารกระตุ้น ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2564 ได้ (เดิมนั้นโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว จะจัดขึ้นในปี 2563 แต่ที่ต้องเลื่อนมาอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19)

ในเดือน ม.ค. 2563 ที่ประเทศเยอรมนี มีการเผยแพร่สารคดี Lord of the Lifters ทางโทรทัศน์ เนื้อหากล่าวอ้างว่านักกีฬาไทยใช้สารกระตุ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้คณะกรรมการของสมาคมยกน้ำหนักของไทยลาออก และต่อมา ทามาส อาจัน (Tamas Ajan) ประธานสหพันธ์กีฬายกน้ำหนักนานาชาติ ก็ลาออกเช่นกัน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าพัวพันการทุจริตผลการตรวจสอบการใช้สารกระตุ้น

อภิญญา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การยกน้ำหนักประสบกับอุปสรรคแน่นอน การเป็นนักกีฬาต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมถึง 10 ปี ตนไม่อาจอธิบายได้ว่ามันยากลำบากเพียงใด อย่างไรก็ตาม สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาข้างต้นหลังจากนั้น ด้วยการสั่งตรวจสารกระตุ้นทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน กับนักกีฬาทั้งที่เป็นตัวแทนทีมชาติไทย และนักกีฬาทั่วไปที่ลงแข่งยกน้ำหนักในกีฬาระดับประเทศทุกครั้ง

ในเดือน เม.ย. 2564 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คณะอนุญาโตตุลาการของศาลกีฬาโลก ยกเลิกคำสั่งแบนนักกีฬายกน้ำหนักชาวไทย โดยไทยสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป ขณะที่สมาคมยกน้ำหนักของไทย สามารถกลับมาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติได้ในวันที่ 7 มี.ค. 2565 แต่กีฬาชนิดนี้ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไปแล้ว
ในมุมมองของนักกีฬาที่เป็นผู้หญิง พวกเธอให้เหตุผลที่น่าสนใจว่าเหตุใดยกน้ำหนักจึงยังควรได้รับการสนับสนุนต่อไป นั่นคือมันสามารถสร้างค่านิยมใหม่ที่ดีให้กับผู้หญิงในสังคมที่หมกมุ่นอยู่กับมาตรฐานขนบความงามที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อีกทั้งยังเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างโอกาสให้กับเด็กในครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิงในชุมชนที่มีทางเลือกไม่กี่ทาง ให้มีอนาคตที่คุ้มค่ากว่านั้น

อภิญญา ในฐานะเลขาธิการสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย คาดหวังว่า นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติจะได้มีสถานที่ฝึกซ้อมของตนเอง เช่นเดียวกับกีฬาประเภทอื่นๆ และเรียกร้องให้สื่อมวลชนรวมถึงผู้สนับสนุนต่างๆ มองที่การทำงานหนักหลายทศวรรษของนักกีฬาเหล่านี้ มากกว่าที่จะเฉลิมฉลองเฉพาะช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก

รายงานข่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากผ่านมรสุมที่ทำให้ต้องห่างจากเวทีระดับนานาชาติไป วันนี้นักยกน้ำหนักทีมชาติไทย กำลังเตรียมความพร้อมที่จะกลับมาแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีเกมส์ ที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ค. 2565 ที่ประเทศเวียดนาม ทีมชาติชุดนี้เป็นผู้หญิง 7 คนจากทั้งหมด 14 คน ซึ่งรวมถึง ศานิกุณ และ ดวงอักษร 

“หวังว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนอย่างที่ควรได้รับ อย่ามองแค่เหรียญรางวัล เราต้องการให้คนอื่นๆ เห็นเส้นทางกว่าที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ชนะ สิ่งที่พวกเขาต้องใช้เพื่อไปให้ถึง ณ จุดนั้น ตอนนี้เรากลับมาแล้ว เราอยากให้คนไทยกลับมาสนับสนุนนักกีฬาเหล่านี้ พวกเขาต้องการมัน” อภิญญา กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณเรื่องจาก
https://asia.nikkei.com/Life-Arts/Life/Thailand-s-female-weightlifters-defy-gender-expectations

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

‘เด็จพี่’เย้ย‘นายกฯชั่วคราว’แค่ฝันกลางวัน ไล่‘ฝ่ายค้าน’ไปเคลียร์กันก่อนจะชูใคร

‘จิรวัฒน์’จวกวิธีการคนจี้ยุบสภาฯเร่งร้อน-ชิงความได้เปรียบเกินไป

‘เพื่อไทย’ชี้ไม่มีความจำเป็นยุบสภาฯ มั่นใจ'อิ๊งค์'จะเรียกความเชื่อมั่น-ฟื้นศรัทธาปชช.กลับมา

วิญญาณยังไม่ไปไหน! ทำบุญหอพักอุทิศบุญ นศ.สาวซดน้ำกระท่อมดับ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved