ลอนดอน/บรัสเซลส์ (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส/ยูโรนิวส์) - หลายประเทศต้องหันกลับมาพึ่งพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง เพื่อแก้ไขวิกฤตพลังงานขาดแคลนจากสงคราม โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาราคาก๊าซ พุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้ายุโรปพุ่ง 10 เท่า ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
วิกฤตขาดแคลนพลังงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้หลายประเทศสนใจที่จะหันกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และเบลเยียม ซึ่งนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน ทำให้ยุโรปยุติการสั่งซื้อพลังงานและเชื้อเพลิงจากรัสเซีย ทำให้ต้องมีการจัดหาแหล่งพลังงานทดแทนอย่างเร่งด่วน และหลายประเทศก็มองว่าพลังงานนิวเคลียร์คือทางออก โดยปัจจุบัน มี 32 ประเทศทั่วโลกที่ใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 10% ของที่ใช้ทั้งโลก แต่หลังจากเกิดเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2011 ทำให้หลายประเทศรู้สึกว่าพลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยง และเริ่มลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ บางประเทศมีแผนจะยุติการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศหันมาพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยเบลเยียมที่มีแผนจะหยุดใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด ภายในปี 2025 ก็ได้ตัดสินใจเลื่อนกำหนดการออกไปก่อน เยอรมนีที่มีแผนจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามแห่งสุดท้ายในช่วงสิ้นปีนี้ ก็กำลังพิจารณาเลื่อนแผนออกไปเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่มองว่าพลังงานนิวเคลียร์มีอันตรายและกังวลเรื่องสารปนเปื้อน ไม่เห็นด้วยกับการที่หลายประเทศจะหันกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ และมองว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์จะทดแทนการสูญเสียก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้เพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ส่วนใหญ่แล้วจะถูกนำไปใช้สำหรับเครื่องทำความร้อนในช่วงฤดูหนาว ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่หลายฝ่ายก็เห็นด้วยกับการหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง เพราะนอกจากตอนนี้ที่ยุโรปสูญเสียพลังงานที่ส่งมาจากรัสเซีย ยังเผชิญปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำลดน้อยลงไปอีก การผลิตกระแสไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ แม้จะช่วยได้เพียง 1%
ความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ เกิดขึ้นระหว่างที่ยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาราคาก๊าซพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยราคาก๊าซล่วงหน้าในยุโรป ปิดตลาดในวันศุกร์อยู่ที่ 3,164 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 114,552 บาท) ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตรหลังทะยานขึ้นเหนือ 3,500 ดอลลาร์ เกือบสูงสุดในรอบ 6 เดือน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซของครัวเรือนในยุโรปพุ่งขึ้นอย่างมาก ราคาพลังงานของอังกฤษ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 80อยู่ที่ 3.549 ปอนด์ (ราว 150,000 บาท) ต่อปี สำหรับค่าเฉลี่ยในครัวเรือนตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึง เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 1,971 ปอนด์ต่อปี ส่วนราคาไฟฟ้าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 1 ปีในเยอรมนี แตะระดับ 995 ยูโร (ราว 35,700 บาท) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง เช่นเดียวกับฝรั่งเศส พุ่งผ่านระดับ 1,100 ยูโร (ราว 39,500 บาท) หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากกว่า 10 เท่าในทั้ง 2 ประเทศ และอาจกระทบต่อประชากรนับร้อยล้านครัวเรือนใน 3 ประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี