อนามัยโลกเผย วัคซีนทดลองใช้สู้‘อีโบลา’ถึงยูกันดาสัปดาห์หน้า ท่ามกลางความเหนื่อยล้าของจนท.คุมโรค
17 พ.ย. 2565 เว็บไซต์ ungeneva.org ของสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่จดหมายข่าว Doses of Ebola candidate vaccines expected to be shipped to Uganda next week: WHO อ้างการเปิดเผยของ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 ว่า วัคซีน 3 ชนิด สำหรับใช้ทดสอบการรับมือการะบาดของไวรัสอีโบลา จะถูกส่งไปถึงประเทศยูกันดาภายในสัปดาห์หน้า
ซึ่งขณะนี้ ยูกันดากำลังเผชิญสถานการณ์โรคระบาดอีโบลา มีผู้ติดเชื้อยีนยันแล้ว 141 คน และรอผลอีก 22 คน ผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลา 55 ราย ผู้เสียชีวิตรอการยืนยัน 22 ราย และผู้ที่รักษาจนหายป่วยแล้ว 73 ราย นับตั้งแต่เริ่มประกาศการระบาดอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ก.ย. 2565 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของยูกันดาและหน่วยงานของ UN กำลังทำงานร่วมกันเพื่อเร่งการพัฒนาและปรับใช้วัคซีนเพื่อการทดลอง
ทีโดรส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของยูกันดาได้พิจารณาและยอมรับคำแนะนำของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแล้ว จึงคาดว่าวัคซีนโดสแรกจะถูกส่งไปยังยูกันดาภายในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มหนึ่งได้เลือกวิธีการรักษาเชิงวิจัย 2 รายการสำหรับการทดลอง เช่นเดียวกับการออกแบบการทดลอง ซึ่งได้ยื่นขออนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและทางการยูกันดา
สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Ugandan doctors face fear and shortages in Ebola outbreak ระบุว่า บุคลากรสาธาณณสุขในยูกันดาที่ต้องต่อสู้กับการระบาดของไวรัสอีโบลา กำลังเผชิญกับปัญหาด้านขวัญกำลังใจจากหลายสาเหตุ ทั้งความกลัวติดเชื้อ ความอ่อนล้า และการได้รับค่าจ้างที่ล่าช้า รวมถึงบางครั้งโรงพยาบาลก็ขาดของเหลวที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาโรค ซึ่งนับตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้น มีบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อแล้ว 15 คน และเสียชีวิต 6 ราย
ยูกันดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้น้อยที่สุดในโลก โดยอัตราส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 25,000 คน ในขณะที่อัตราส่วนซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำจะอยู่ที่แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน อีกทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนงบประมาณ โดยงบฯ ที่รัฐบาลจัดสรรให้ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็วในช่วงแรกๆ ของการระบาดที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีเงินบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อีก 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านพันธมิตรในท้องถิ่น
เฮนรี เคียวเบ โบซา (Henry Kyobe Bosa) ผู้บัญชาการเหตุการณ์แห่งกระทรวงสาธารณสุขยูกันดา ชี้แจงว่า ยูกันดาไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากรหรือบุคลากรแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยหนักทำงานเป็นกะสูงสุด 8 ชั่วโมง และบุคลากรจากภูมิภาคที่ปลอดเชื้อจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ถึงกระนั้น ถึงกระนั้น อโลเน นาฮับเว (Alone Nahabwe) หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการของสมาคมการแพทย์ยูกันดา ได้กล่าวว่า ความครอบคลุมของคนทำงานก่อนการระบาดอยู่ที่เพียงร้อยละ 40 และปัจจุบันอีโบลากำลังทำลายระบบในทางอ้อม ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็น ทั้งถุงมือ เฟซชิลด์ ชุดคลุม และรองเท้าบู๊ท
โบซา ยังเชื่อมั่นว่ายูกันดาสามารถรับมือการระบาดระลอกนี้ได้ โดยเทียบกับการระบาดระลอกก่อนช่วงปี 2556-2559 ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 11,300 ราย แต่ที่ยูกันดา จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังค่อยๆ ลดลง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องกังวลคือการที่เชื้อจะระบาดเข้าไปยังเมืองหลวงคือกรุงคัมปาลา ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 20 คน โดยกรุงคัมปาลามีประชากรอาศัยอยู่ราว 2 ล้านคน
ณ สถานที่กักกันโรคในเมืองมูเบนเด แพทย์รายหนึ่งเล่าว่า ปัญหาชุด PPE และบุคลากรไม่เพียงพอนั้นค่อยๆ ทุเลาลง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ในสัปดาห์ที่แล้ว มีเตียงผู้ป่วยถูกใช้จำนวน 12 เตียงจากความจุทั้งหมด 60 เตียง ลดลงจากจุดสูงสุดที่เคยพบคือ 48 เตียง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 พ.ย. 2565 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายแรกในภาคตะวันออกของประเทศ ก็ทำให้เกิดความกังวลขึ้น
มิเรียม นันยุนจา (Miriam Nanyunja) ที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ด้านการจัดการความเสี่ยงฉุกเฉินในยูกันดา กล่าวว่า จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องการภายใต้สถานการณ์ทั้งการติดเชื้อ การป้องกันและการควบคุม การเฝ้าระวัง การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ต้องใช้เป็นจำนวนมาก แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่การแพร่กระจายตามพื้นที่ก็เพิ่มขึ้น หากใช้เวลานานกว่านี้ก็ย่อมหมายถึงการต้องระดมทรัพยากรเพิ่มขึ้นด้วย
อีกด้านหนึ่ง Daily Monitor หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของยูกันดา เสนอข่าว Museveni urges tourists not to cancel plans on Ebola fears อ้างคำกล่าวของ โยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ประธานาธิบดียูกันดา เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 เรียกร้องชาวต่างชาติอย่ายกเลิกแผนการเดินทางมาท่องเที่ยวในยูกันดา เพราะสถานการณ์โรคระบาดอีโบลาอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว โดยจากทั้งหมด 146 เมือง มีเพียง 6 เมืองเท่านั้นที่พบการระบาด
ปธน.มูซาเวนี เปิดเผยว่า ตนได้ทราบเรื่องที่นักท่องเที่ยวบางคนยกเลิกแผนการเดินทางมาเที่ยวยูกันดา รวมถึงการเลื่อนจองโรงแรมและเลื่อนการจัดประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายและไม่จำเป็น และตนอยากสร้างความมั่นใจทั้งกับนักท่องเที่ยว ประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้จัดประชุมสัมมนาต่างๆ ว่า รัฐบาลได้วางมาตรการเพื่อควบคุมโรคระบาด
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 5 พ.ย. 2565 รัฐบาลยูกันดาขยายเวลาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเมืองคาสซานดาและมูเบนเด ซึ่งเป็น 2 เมืองที่เป็นศูนย์กลางการระบาดต่อไปอีก 3 สัปดาห์ โดยห้ามออกจากเคหสภานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ปิดศาสนสถาน ตลาดและสถานบันเทิง รวมถึงการห้ามเดินทางส่วนบุคคล ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการสั่งปิดภาคเรียนในวันที่ 25 พ.ย. 2565 เลื่อนขึ้นมาเร็วกว่ากำหนดเดิม 2 สัปดาห์ สืบเนื่องจากพบเด็กติดเชื้อ 23 คน และในจำนวนนี้ 8 รายเสียชีวิต
ความน่ากังวลของการระบาดระลอกล่าสุด อยู่ที่เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับใช้กับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ โดยกำลังมีวัคซีนหลานชนิดรอทำการทดลองทางคลินิก อีโบลาเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้ผ่านสารคัดหลั่งในร่างกาย ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ อาเจียน มีเลือดออกและท้องเสีย การระบาดนั้นควบคุมได้ยากโดยเฉพาะหากเป็นสภาพแวดล้อมแบบเมือง
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.ungeneva.org/en/news-media/news/2022/11/doses-ebola-candidate-vaccines-expected-be-shipped-uganda-next-week-who
https://www.reuters.com/world/africa/ugandan-doctors-face-fear-shortages-ebola-outbreak-2022-11-17/?rpc=401&
https://www.monitor.co.ug/uganda/news/national/museveni-urges-tourists-not-to-cancel-plans-on-ebola-fears-4022400