ม็อบหนุนอดีต ปธน.บราซิล บุกยึดอาคารสภา-ทำเนียบ-ศาล ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง
9 ม.ค. 2566 สื่อต่างประเทศรายงาน กลุ่มผู้สนับสนุน ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) อดีตประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ได้รับชัยชนะและเพิ่งเข้าพิธีรับตำแหน่ง ปธน. ไปเมื่อช่วงขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา รวมตัวปิดล้อมอาคารรัฐสภา โดยสถานีโทรทัศน์ France24 ของฝรั่งเศส Far-right supporters of former President Bolsonaro storm Brazil's Congress ระบุว่า ผู้ชุมนุมได้บุกเข้ายึดอาคารรัฐสภา ศาลฎีกา และทำเนียบประธานาธิบดี ที่กรุงบราซิเลีย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2566 ตามเวลาท้องถิ่นของบราซิล
ขณะที่ ปธน.ลูลา แถลงข่าวจากรัฐเซา เปาโล กล่าวหา โบลโซนาโร ว่าเป็นผู้สนับสนุนการจลาจลของกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรง พร้อมกับประกาศกฤษฎีกาเพื่อใช้อำนาจของรัฐบาลกลางเข้าควบคุมสถานการณ์ และเตือนด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างรวมถึงผู้กระทำต้องถูกลงโทษ ทั้งนี้ กลุ่มผู้สนับสนุนอดีต ปธน.โบลโซนาโร ยังเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อปลด ลูลา ออกจากตำแหน่ง
ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมเสื้อสีเหลืองและสีเขียวซึ่งเป็นสีของธงชาติบราซิล นำขยะเข้าไปเทในห้องประชุมของศาลฎีกา ซึ่งอดีต ปธน.โบลโซนาโร เคยมีข้อถกเถียงกับผู้พิพากษาหลายครั้ง ส่วนอาคารรัฐสภา ผู้ชุมนุมนำสายฉีดน้ำดับเพลิงมาฉีดน้ำไปทั่ว และที่ทำเนียบประธานาธิบดีผู้ชุนมุนได้รื้อค้นทรัพย์สิน อีกทั้งกระจกก็ถูกทุบจนแตก ทั้งนี้ อดีตผู้นำบราซิล ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ที่รัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ กับเรื่องนี้
กระทั่งการสลายการชุมนุมและยึดคืนอาคารโดยตำรวจเริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่ายยาวไปจนถึงค่ำ ทำให้มีผู้ถูกจับกุมไปมากกว่า 200 คน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานตำรวจของบราซิลถูกตั้งคำถามว่าเพิกเฉยละเลยหรือแม้แต่มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ โดย ปธน.ลูลา กล่าวว่า ในส่วนของตำรวจนั้นไร้ความสามารถหรือไร้ศรัทธา พวกเขายังพอใจเช่นกันเมื่อผู้สนับสนุน โบลโซนาโร ก่อจลาจลในเมืองหลวงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน และย้ำว่าเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรู้เห็นจะต้องถูกลงโทษและไล่ออกจากหน่วยงาน
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ที่บราซิลดูคล้ายกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ซึ่งผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2563 ที่ทรัมป์ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ปธน. สมัยที่ 2 เพราะพ่ายแพ้ต่อ โจ ไบเดน (Joe Biden) แล้วก่อเหตุพยายามบุกอาคารรัฐสภา ทั้งนี้ โบลโซนาโร ตั้งคำถามกับการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ และผลการเลือกตั้งก็ได้รับการยอมรับจากนักการเมืองทั่วโลก แม้กระทั่งพันธมิตรบางส่วนของ โบลโซนาโร ด้วยเช่นกัน
ปธน.ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ในบราซิลว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ ขณะที่ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า สหรัฐฯ ประณามความพยายามใดๆ ที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยในบราซิล และในเงลาต่อมา ปธน.ไบเดน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจลาจลที่เกิดขึ้นเป็นการทำร้ายประชาธิปไตยและการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติในบราซิล
เจมส์ เคลฟเวอร์ตี (James Cleverly) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า ความพยายามรุนแรงที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยในบราซิลนั้นไม่ยุติธรรม และรัฐบาลบราซิลโดย ปธน.ลูลา ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากอังกฤษ อนึ่ง สำนักงานเลขาธิการด้านความปลอดภัยของกรุงบราซิเลีย ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการรับมือของตำรวจ
เมาริซิโอ ซานโตโร (Mauricio Santoro) ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐริโอ เดอ จาเนโร ให้ความเห็นว่า ทางการบราซิลมีเวลา 2 ปีในการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ และวางแผนรับมือหากเกิดขึ้นในบราซิล แต่ฝ่ายความมั่นคงในบราซิเลียล้มเหลวในการป้องกันและตอบโต้กลุ่มหัวรุนแรงอย่างเป็นระบบ และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางชุดใหม่ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็ไม่สามารถดำเนินการอย่างเด็ดขาดได้
ไอบาเนส โรชา (Ibaneis Rocha) ผู้ว่าการเขตอำนาจรัฐบาลกลางของบราซิล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสหรัฐฯ เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ได้ลงนามคำสั่งไล่ออก แอนเดอร์สัน ตอร์เรส (Anderson Torres) หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของกรุงบราเลีย ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งขึ้นตรงกับ ปธน.ลูลา ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้สั่งจำคุกตอร์เรสด้วย ทั้งนี้ กลุ่มผู้สนับสนุน โบลโซนาโร ชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2565 ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของบราซิล ปฏิเสธคำร้องของ โบลโซนาโร ที่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ในเวลาต่อมา Hindustan Times นสพ.ท้องถิ่นของอินเดีย เสนอข่าว Brazil ex-prez Bolsonaro condemns 'pillaging' after supporters storm govt buildings ระบุว่า อดีต ปธน.โบลโซนาโร ของบราซิล ตอบโต้กรณี ปธน.ลูลา กล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุผู้ชุมนุมบุกยึดอาคารรัฐสภาในกรุงบราซิเลีย ว่าไม่เป็นความจริง และยังตำหนิผู้สนับสนุนของตนที่ก่อเหตุดังกล่าวด้วย โดยโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่า การชุมนุมอย่างสงบเป็นวิถีทางของประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงและบุกรุกอาคารสาธารณะ
ที่มา france24 , hindustantimes