วันที่ 20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ นสพ.South China Morning Post ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ Thai tour guides fret over return of Chinese interlopers, asking: who gains from mass tourism? ว่าด้วยปัญหา “ไกด์ผี” ได้กลับมาหลอกหลอนภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกครั้ง กล่าวคือ ตามกฎหมายไทยระบุว่า ไกด์หรือมัคคุเทศก์เป็นอาชีพสงวนของคนไทย แต่ในความเป็นจริงกลับพบชาวต่างชาติแอบแฝงประกอบอาชีพดังกล่าวอยู่ไม่น้อย นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงกับปัญหา “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หมายถึงตลอดการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะใช้บริการกิจการที่คนชาติเดียวกับนักท่องเที่ยวมาดำเนินการในประเทศไทยจนครบวงจร ทำให้คนไทยและธุรกิจไทยไมได้ประโยชน์ใดๆ
Saichon Chounchou มัคคุเทศก์ชาวไทย เปิดเผยว่า แม้ตนจะสื่อสารได้ทั้งภาษาอังกฤษและจีนกลาง แต่การกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนหนล่าสุด มีไกด์ชาวจีนแอบแฝงมาด้วย ซึ่งสามารถพบเห็นตั้งแต่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย แต่ก็เหมือนว่าเจ้าหน้าที่รัฐของไทยมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ทำให้บริษัททัวร์ที่ดำเนินการโดยต่างชาติสามารถตักตวงผลกำไรจากภาคการท่องเที่ยว ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของเศรษฐกิจประเทศไทย ก่อนจะตัดพ้อว่าตนกลายเป็นคนเสียเปรียบเพราะทำตามกฎ
ในปี 2562 ก่อนที่โลกจะเข้าสู่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยถึง 11 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปีนั้น กระทั่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงและมาตรการควบคุมการเดินทางถูกยกเลิก ในปี 2566 ทางการไทยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 25 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวจีน 5 ล้านคน การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความสำคัญต่อธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่บริษัททัวร์ คนขับรถรับ-ส่ง (เช่น รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก) โรงแรม ผู้ประกอบการทัวร์ดำน้ำ ไปจนถึงร้านขายของที่ระลึก
ชาดา เตรียมวิทยา (Chada Triamvithaya) อาจารย์สาขาภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม ภาควิชาภาษา คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ทัวร์จีนใช้วิธีจ้างไกด์ไทยในลักษณะเป็นผู้ร่วมเดินทาง แต่ใช้ชาวจีนเป็นคนทำงาน แต่หลังยุคโควิด-19 ทัวร์จีนทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน มีจำนวนน้อยลง และพวกเขาต้องการตารางการเดินทางที่ปรับให้เหมาะกับตัวเองมากขึ้น ดังนั้นจึงใช้บริการใช้บริษัททัวร์ที่ดำเนินการโดยชาวจีนซึ่งว่าจ้างชาวจีนในประเทศไทย
“มัคคุเทศก์ชาวจีนจำนวนมากถือวีซ่านักเรียน พวกเขาได้งานทำโดยเสนอค่าธรรมเนียมถูกกว่า แต่ได้ค่าคอมมิชชั่นจากการป้อนลูกค้าเข้าสู่ธุรกิจของชาวจีนในพื้นที่ท่องเที่ยว แต่ท้ายที่สุด ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกิจกรรมการท่องเที่ยว” ชาดา กล่าว
Paisarn Suethanuwong หนึ่งในไกด์ไทยจำนวน 5,000 คนทั่วประเทศที่ใช้ภาษาจีนกลางได้ เปิดเผยว่า ตนกำลังระดมการสนับสนุนจากสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย และมีเป้าหมายที่จะยื่นคำร้องต่อรัฐบาลไทยในเร็ววันนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวหายไปในต่างประเทศ ซึ่งบริษัททัวร์จีนมักขายแพ็คเกจทัวร์ในราคาที่ต่ำมาก ขณะที่ไกด์ไทยและไกด์จีนมักพบว่าตนเองแข่งขันกันเพื่อเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นซึ่งผูกมัดกับการขายแพ็คเกจทัวร์เสริมให้กับนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2566 โดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ระบุว่า ในประเทศไทยมีมัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาตประมาณ 59,000 คน ซึ่งในเดือนดังกล่าวเช่นกัน สุชาติ ชมกลิ่น (Suchart Chomklin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทย ยอมรับว่า ปัญหาไกด์ต่างชาติสร้างความเสียหายต่อการจ้างงานด้านการท่องเที่ยว และเรียกร้องให้ประชาชนรายงานการใช้ไกด์ต่างชาติไปยังสายด่วนของรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์ที่ในเวลานั้น จีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศให้พลเมืองออกไปท่องเที่ยวในต่างแดนอีกครั้ง
ไม่เฉพาะแต่ทัวร์จีนเท่านั้นที่ใช้บริการไกด์ผี แต่ทัวร์เกาหลีใค้ก็เช่นกัน โดย Wanna (นามสมมติ) ไกด์ไทยวัย 52 ปี ซึ่งใช้ภาษาเกาหลีได้ เปิดเผยว่า มีบริษัททัวร์เกาหลีประมาณ 100 แห่งในประเทศไทย พวกเขาใช้ไกด์ชาวเกาหลีเพื่อลดค่าธรรมเนียม ในขณะที่ไกด์ไทยไม่ต้องพูดคุยกับนักท่องเที่ยว แต่ให้ทำงานช่วยจัดการการจองและติดต่อประสานงานกับคนในท้องถิ่น ซึ่งตามข้อมูลของรัฐบาลไทย ในเดือน ม.ค. 2566 เพียงเดือนเดียว มีชาวเกาหลีใต้เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยแล้ว 170,000 คน
“หลายคนถูกพาไปที่สถานประกอบการของชาวเกาหลี เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ร้านนวด หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การท่องเที่ยวไทยจะตกอยู่ในมือต่างชาติ ถ้าคนงานในท้องถิ่นไม่มีอำนาจควบคุมหรือพูดในเรื่องใดๆ ก็จะไม่มีแรงจูงใจให้ใครมาอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และเมื่อเร็วๆ นี้ ชาวรัสเซียหรือแม้แต่ชาวเวียดนามก็เริ่มประกอบอาชีพมัคคุเทศก์อย่างผิดกฎหมายเช่นกัน” Wamna กล่าว
ประเด็นการไหลเวียนของเม็ดเงินจากจีนในระบบเศรษฐกิจไทยได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อปลายปี 2565 เมื่อชายชาวจีนชื่อ “ตู้ห่าว (Tuhao)” ซึ่งได้รับสัญชาติไทยถูกจับกุมในข้อหาฟอกเงินและอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายขนาดใหญ่ที่โอนเงินผ่านธุรกิจอัญมณี คาสิโน และธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่สำหรับลูกค้าชาวจีนในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด
คดีของตู้ห่าว นำไปสู่การขยายผลว่าธุรกิจต่างชาติเข้ามามีส่วนในเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างไร โดยทางตำรวจไทยยอมรับว่า ผู้มีอิทธิพลชาวต่างชาติใช้บริการเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นซึ่งมีพฤติกรรมฉ้อฉลในการเปิดทางให้เข้ามาในประเทศไทย จากนั้นก็หาคนไทยมาเป็นตัวแทนเปิดบริษัทบังหน้า ซึ่ง Paisarn ไกด์ไทยที่ทำงานกับนักท่องเที่ยวจีน ให้ความเห็นว่า เจ้าของธุรกิจสีเทาเหล่านี้จำนวนมากเริ่มต้นจากการท่องเที่ยวก่อนที่จะขยายไปในอุตสาหกรรมอื่น
รายงานข่าวทิ้งท้ายด้วยการกลับไปที่ Saichon ไกด์ไทยที่สั่งสมประสบการณ์ในอาชีพมานานถึง 27 ปี และภูมิใจกับการได้ทำหน้าที่แสดงให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความสุขของประเทศไทย แต่วันนี้กำลังตกอยู่ในอันตรายเมื่อชาวต่างชาติย่างกรายเข้ามายุ่งเกี่ยวกับงานของตน
“มันเป็นมากกว่าการบอกให้นักท่องเที่ยวไปทางซ้ายหรือขวา ผมแบกภาพลักษณ์ประเทศไทยไว้บนบ่า” Saichon กล่าว
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.scmp.com/week-asia/people/article/3213953/thai-tour-guides-fret-over-return-chinese-interlopers-asking-who-gains-mass-tourism