ทางรอดคนฐานรากยุคศก.ซบเซา! ‘จีน’ปรับนโยบาย‘หาบเร่แผงลอย’จากสั่งห้ามสู่ผ่อนปรน
30 พ.ค. 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอรายงานพิเศษ Hawkers back on China's streets as economic recovery teeters ว่าด้วยมุมมองของทางการประเทศจีนกับการขายสินค้าริมทาง หรือหาบเร่แผงลอย ดูเหมือนมีแนวโน้มผ่อนปรนมากขึ้น จากเดิมที่ก่อนหน้านี้หลายเมือง หน่วยงานปกครองท้องถิ่นมีการสั่งห้ามประกอบอาชีพดังกล่าวด้วยเหตุผลว่าทำให้เกิดภาพที่ไม่สวยงามน่ามอง และเมื่อชีวิตในจีนกลับสู่ภาวะปกติหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง อย่างน้อยผู้คนก็มองหารายได้เสริมท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ ในสภาวะที่การจ้างงานและการเติบโตของค่าจ้างเป็นไปอย่างซบเซา
ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ หวังชุนเซียง (Wang Chunxiang) แม่ค้าวัย 43 ปี ซึ่งกลับมาขายของริมถนนอีกครั้งหลังหยุดไป 6 ปี เล่าว่า ชีวิตประจำวันเหมือนกับการเล่นเกม “แมวจับหนู (cat and mouse)” กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็ต้องทำเพราะตนเองอายุมากและความรู้ไม่สูง หากจะหางานประจำก็มีเพียงงานคนทำความสะอาด ซึ่งรายได้อยู่ที่เดือนละ 5,000-6,000 หยวน (ประมาณ 25,000-30,000 บาท) แต่ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยนั้นแพงมาก แม้แต่ที่พักคุณภาพต่ำที่สุดค่าเช่าก็ยังอยู่ที่เดือนละ 2,000-3,000 หยวน (ประมาณ 10,000-15,000 บาท) แต่การขายขนมอบใส่กล่อง ราคากล่องละ 15 หยวน (ประมาณ 75 บาท) ในช่วงที่ขายดีสามารถทำรายได้มากถึงเดือนละ 10,000 หยวน (ประมาณ 50,000 บาท) เลยทีเดียว
ขณะนี้ทางการของเมืองเซี่ยงไฮ้ กำลังเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎระเบียบของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และได้เปิดพื้นที่อนุญาตทำการค้าจำนวน 74 แห่งแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 ส่วนที่เมืองจื่อปั๋ว มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน กลายเป็นที่ฮือฮาตามหน้าสื่อในเดือน พ.ค. 2566 เมื่อปรากฏภาพนักท่องเที่ยวไปจับจ่ายซื้อสินค้ากับร้านค้าหาบเร่แผงลอย จนทางการต้องออกประกาศเตือนเรื่องความแออัด
เช่นเดียวกับทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมืองเสินเจิ้น ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน ซึ่งมีประกาศห้ามขายสินค้าริมถนนมาตั้งแต่ปี 2542 จะปรับเปลี่ยนสู่มาตรการผ่อนปรนตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 เป็นต้นไป รวมถึงที่เมืองหลานโจว มณฑลกานซู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน หน่วยงานท้องถิ่นของเมืองเปิดเผยว่า ภายในเดือน พ.ค. 2566 จะกำหนดพื้นที่สำหรับแผงลอยริมถนน เนื่องจากต้องการส่งเสริมนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ
บรูซ ผัง (Bruce Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ โจนส์ แลง ลาซาลล์ (Jones Lang Lasalle) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งจะเริ่มการทดลองอนุญาตการประกอบอาชีพขายสินค้าตามท้องถนน เนื่องจากกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างมากในการสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและตลาดงาน
รายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสแรก ซึ่งตามหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ตลาดงานยังคงซบเซาด้วยการว่างงานของคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่อีกด้านหนึ่ง แรงกดดันทางเศรษฐกิจก็ทำให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยยอมเสี่ยงกับการถูกปรับหรือยึดสินค้า ดังกรณีของ หวังเสวี่ยเสวี่ย (Wang Xuexue) หญิงวัย 28 ปี แม่ค้าขายดอกไม้ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำงานในร้านขายดอกไม้มาก่อน ยอมรับว่าขายสินค้านอกพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องหนีให้ทันเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาจับกุม
แม้แต่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งประธานาธิบดีของจีนอย่าง สีจิ้นผิง (Xi Jinping) เคยเปรยว่าควรเป็นสถานที่ที่อยู่เหนือการเมืองและไม่มีเศรษฐกิจริมถนน ก็ยังพบเห็นหาบเร่แผงลอยตามจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ลู่เว่ย (Lu Wei) เล่าว่า ในยุคสมัยก่อนโควิด-19 ระบาด ตนเคยเช่าสถานที่เปิดร้านขายปากกา แต่สถานการณ์โรคระบาดในปี 2563 ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาเช่าเพราะยอดขายที่น้อยลงจนไม่คุ้มค่ากับการจ่ายค่าเช่าอีกต่อไป และเปลี่ยนมาเป็นการเดินเร่ขายปากการาคา 30 หยวน (ประมาณ 150 บาท) ในบริเวณทะเลสาบโฮ่วไห่ในกรุงปักกิ่ง แม้จะขายไม่ค่อยดีนักก็ตาม
“ผู้คนไม่มีเงินในกระเป๋า แม้ว่าพวกเขาจะมีเงิน พวกเขาก็ไม่ต้องการใช้เงิน” นายลู่ กล่าว
ขอบคุณเรื่องจาก reuters