‘ลูกระนาด’เยอะเกินไปไหม? ชาวอินเดียโวยตร. ติดตั้งหวังลดอุบัติเหตุแต่ทำสัญจรลำบาก
วันที่ 9 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์ นสพ.The Hindu ของอินเดีย เสนอข่าว A traffic calming measure that is driving motorists up the wall in Hyderabad ระบุว่า ที่เมืองไฮเดอราบัด รัฐเตลังคานาของอินเดีย ประชาชนแสดงความไม่พอใจที่หน่วยงานตำรวจนำแท่งลูกระนาดไปติดตั้งไว้ในหลายจุดบนท้องถนน ซึ่งทำให้ผุ้ขับขี่ยานพาหนะประสบความยากลำบากในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ใช้มอเตอร์ไซค์
พี. เกาธรรม (P. Gautham) ประชาชนในย่านมาดินากูดาของเมืองไฮเดอราบัด กล่าวว่า ตำรวจกำลังใช้แถบลูกระนาดเพื่อปกปิดความไร้ประสิทธิภาพในมาตรการควบคุมการใช้ความเร็วบนท้องถนน และเมื่่อถนนในเมืองเต็มไปด้วยแถบลูกระนาด นั่นคือฝันร้ายของคนขี่มอเตอร์ไซค์โดยแท้ เช่นเดียวกับผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี Sreekanth (ศรีขันธ์) โพสต์ข้อความระบุว่า คงมีแต่คนใช้รถยนต์หรูราคาแพงที่จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่คนทั่วไปหากมาขับขี่ยานพาหนะที่นี่คงได้ไปหาหมอกันแน่ๆ
ที่ย่านกาชิบาวลี (Gachibowli) อีกย่านหนึ่งในเมืองไฮเดอราบัด มีการติดตั้งแถบลูกระนาดบนถนนเป็นระยะทางยาวถึง 50 เมตร เรื่องนี้ถึงขั้นที่ เค.ที. รามา เรา (K.T. Rama Rao) รัฐมนตรีกระทรวงการบริหารเทศบาลและการพัฒนาเมืองของรัฐเตลังคานา ต้องสั่งการให้สำนักงานอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานแห่งรัฐเตลังคานา (TSIIC) รื้อย้ายลูกระนาดดังกล่าวออกทันที
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ใช้ความเร็วสูงบนสะพานข้ามแยกจนตกลงมาสู่ถนนด้านล่าง บริเวณแยกอุทยานความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Junction) ในเมืองไฮเดอราบัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 2 ราย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นทาง เจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งแถบลูกระนาดบนทางยกระดับหลายแห่ง อาทิ สะพานแขวน เดอร์กัม เชอรูวู (durgam cheruvu) , สะพานข้ามแยกบนถนนหมายเลข 45 รวถมึงสะพานข้ามแยกบริเวณย่าน แอลบี นาการ์ (LB Nagar) ที่เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อเร็วๆ นี้
เค.รามกฤษณัย (K. Ramakrishnaiah) ประชาชนในย่านแอลบี นาการ์ กล่าวว่า มีแถบลูกระนาด 3 ชุดที่ทางลงมาจากสะพานข้ามแยก แอลบี นาการ์ เพื่อป้องกันไม่ให้รถชนเข้ากับวัดระหว่างทาง หลังจากทำให้ทางเดินรถแคบลงโดยการติดตั้งเครื่องกีดขวาง ยังมีแถบลูกระนาดบนสะพานข้ามแยก นาโกลี (Nagole) ด้วย ซึ่งเป็นเส้นตรงเหมือนลูกศร และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย สะพานข้ามแยกหล่านี้กลายเป็นความเจ็บปวด
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็นคือวิธีการก่อสร้างที่ผิดหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งขัดกับแนวทางของสภาถนนอินเดีย (IRC) ซึ่งระบุความสูง 20-30 มิลลิเมตร สำหรับแถบลูกระนาดบนทางหลวงระดับประเทศและทางหลวงของรัฐ โดยติดตั้งไม่เกิน 6 แถบในแต่ละตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่า หากติดตั้งแถบลูกระนาดในเมืองไม่ควรสูงเกิน 5 มิลลิเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นด้วย แต่ที่นี่ติตั้งกันสูงถึง 15 มิลลิเมตร ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกระดูกสันหลัง ระยะห่างระหว่างแถบลูกระนาด 2 แถบที่ต่อเนื่องกันควรมีอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ก็ไม่ได้รักษาระยะนี้ไว้เช่นกัน แต่ทั้งหมดเป็นนโยบายจากหน่วยงานตำรวจที่ดูแลเรื่องการจราจร มีการระบุจุดติดตั้งแต่เสนอราคาให้เสร็จสรรพ
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.thehindu.com/news/national/telangana/a-traffic-calming-measure-that-is-driving-motorists-up-the-wall-in-hyderabad/article66942077.ece