สื่อนอกมองเหตุกราดยิงพารากอน ย้ำไทยยังมีเคสแบบนี้น้อยแต่ห่วงปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืน
4 ต.ค. 2566 สื่อต่างประเทศรายงานข่าวเด็กชายวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย โดยสำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว 14-year-old boy arrested after deadly Thai shopping mall shooting ระบุว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 3 ต.ค. 2566 ตามเวลาท้องถิ่น ในช่วงแรกมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย แต่ต่อมาได้แก้ไขโดยยืนยันผู้เสียชีวิตคือ 2 ราย เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด โดยเป็นชาวจีน 1 ราย และชาวเมียนมา 1 ราย
หลายคนบรรยายถึงเหตุการณ์วุ่นวายของพนักงานและนักช้อปที่พยายามจะหลบหนีห้างสรรพสินค้า ขณะที่การโจมตีเกิดขึ้น อาทิ Shir Yahav วัย 26 ปี กล่าวว่าเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่นาที ตนเห็นผู้คนทั้งหมดวิ่ง วิ่ง วิ่ง แต่ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อตามคนเหล่านั้นไปก็ได้ยินเสียงปืน 6-7 นัด ดังนั้นจึงเข้าไปหลบในร้านค้าแล้วล็อกประตูไว้ ขณะที่ Susinee วัย 35 ปี กล่าวว่า ตนและพนักงานอีกประมาณ 6 คน เพิ่งจกออกจากร้านราเมนญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล (Torsak Sukvimol) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย เปิดเผยว่า ผู้ก่อเหตุรอมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อตรวจสอบก็พบว่าปืนของผู้ก่อเหตุยังมีกระสุนอยู่ขณะที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ได้ เนื่องจากผู้ก่อเหตุยังเป็นเด็ก แต่เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับพ่อแม่ของผู้ก่อเหตุแล้ว และกล่าวเสริมว่า ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยจิตเวช มีประวัติเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนั้นยังกล่าวชื่นชมทางห้างสรรพสินค้า ที่สามารถรับมือเหตุระทึกขวัญครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สื่อสหรัฐฯ ยังให้ความสนใจกับประเด็นการเข้าถึงอาวุธปืนในประเทศไทย โดยอ้างอิงจากองค์กรสำรวจอาวุธปืนขนาดเล็ก (Small Arms Survey-SAS) ที่มีสำนักงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ในปี 2560 คนไทย 10.3 คน มีอาวุธปืนในครอบครอง หรือคิดเป็นสัดส่วนประชากรทุกๆ 100 คน จะพบคนมีปืนได้ 15 คน ขณะที่จำนวนปืนที่จดทะเบียนครอบครองอย่างถูกกฎหมายอยู่ที่ 6.2 ล้านกระบอก
ขณะที่ส่วนรายงานของสถาบันเมตริกและการประเมินด้านสุขภาพ (IHME) จากฐานข้อมูลภาระโรคทั่วโลกประจำปี 2562 ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกเฉียงใต้ (อาเซียน) รองจากฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม เหตุกราดยิงในไทยเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2565 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 36 รายจากการโจมตีด้วยปืนและมีดที่ศูนย์ดูแลเด็กเล็กใน จ.หนองบัวลำภู ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศ
The Telegraph นสพ.ท้องถิ่นในเมืองกัลกัตตาของอินเดีย เสนอข่าว 14-year-old with a gun opens fire at a luxury shopping mall in downtown Bangkok, killing three ระบุว่า เหตุกราดยิงเกิดขึ้นน้อยมากในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนค่อนข้างเข้มงวด ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเด็กอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุนั้นเข้าถึงอาวุธปืนได้อย่างไร เพราะผู้ซื้ออาวุธปืนได้จะต้องมีอายุมากกว่า 20 ปี ผ่านการตรวจสอบประวัติและระบุเหตุผลในการครอบครอง
ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นห้างสรรพสินค้าหรูที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ เหตุกราดยิงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดสถานีรถไฟใต้ดินที่เชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ โดยเหตุโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 3 ต.ค. 2566 เกือบ 1 ปีพอดีหลังเหตุอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีอาวุธปืนและมีดก่อเหตุในศูนย์รับเลี้ยงเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 24 ราย ถือเป็นเหตุสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดโดยผู้กระทำความผิดเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ของไทย ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่ากฎหมายอาวุธปืนควรเข้มงวดหรือไม่
เบื้องต้นยังไม่ทราบแรงจูงใจของเด็กชายผู้ก่อเหตุ ที่เพิ่งมีอายุ 14 ปี ในเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่คลิปวิดีโอขณะตรำวจเข้าควบคุมตัว จเผยให้เห็นเด็กชายสวมแว่นตา สวมหมวกแก๊ปที่มีลายธงชาติสหรัฐฯ สวมเสื้อยืดโปโลสีดำ และกางเกงขาสั้นที่มีเลือดกระเด็นอยู่ ด้าน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง (Archayon Kraithong) โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย กล่าวว่า สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งห้างสรรพสินค้าแห่งนี้จำหน่ายสินค้าแฟชั่นระดับไฮเอนด์ และรถยนต์หรูหรา รวมถึงมีโรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และโรงแรมระดับ 5 ดาว
สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอข่าว Thailand’s Bangkok mall shooting: 2 dead, suspect arrested at Siam Paragon ระบุว่า คลิปวิดีโอที่ไม่ผ่านการตรวจสอบที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เผยให้เห็นเหตุการณ์วุ่นวาย ผู้คนรวมถึงเด็กๆ วิ่งออกจากประตูห้างสรรพสินค้า ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพาพวกเขาออกไป คลิปวิดีโอหนึ่งแสดงให้เห็นผู้คนกำลังคลุมตัวอยู่ในห้องมืดภายในร้านอาหาร ขณะที่รายการสดทางโทรทัศน์เผยให้เห็นการจราจรหนาแน่นด้านนอกห้างสรรพสินค้าท่ามกลางฝนตกหนัก
หลิวซีหยิง (Liu Shiying) นักท่องเที่ยวชาวจีน กล่าวว่า ตนเห็นผู้คนวิ่งหนีและบอกว่ามีคนเปิดฉากยิง ตนได้ยินเสียงปืนและเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้น และไฟในห้างสรรพสินค้าก็ดับลง จึงต้องหาที่ซ่อน กระทั่งสามารถออกจากห้างสรรพสินค้าได้ในเวลาต่อมา ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน (Srettha Thavisin) นายกรัฐมนตรีของไทย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานแล้วว่าหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตรวมถึงผู้บาดเจ็บ
สื่อกาตาร์ยังย้ำเช่นกันว่า แม้เหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนจะเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่การก่อเหตุในลักษณะกราดยิงนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก โดยก่อนหน้านี้เพิ่งเกิดไปเพียง 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้งที่เกิดเหตุอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อาทิ ในปี 2563 ผู้ก่อเหตุเป็นทหาร ก่อเหตุใน 4 จุด ในเขตเมืองของ จ.นครราชสีมา มีผุ้เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 57 คน จากนั้นในปี 2565 อดีตตำรวจก่อเหตุในศูนย์เด็กล็ก ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู มีเด็กเสียชีวิต 22 ราย
นสพ.The Jerusalem Post ของอิสราเอล เสนอข่าว Suspected gunman in Thai mall shooting modified handgun designed to fire blanks – police ระบุว่า เด็กชายวัย 14 ปี ที่ก่อเหตุกราดยิงในห้างดังใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ต.ค. 2566 ก่อนถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ได้ พบอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืน “แบลงก์กัน (Blank Gun)” ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อยิงจะมีเพียงแสงและเสียงเท่านั้น แต่ถูกนำไปดัดแปลงให้สามารถยิงกระสุนจริงได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี