15 พฤศจิกายน 2566 นสพ.The Japan Times ของญี่ปุ่น เสนอข่าว Heat projected to kill nearly five times more people by 2050 ระบุว่า The Lancet Countdown เผยแพร่รายงานประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการประเมินประจำปีครั้งสำคัญที่ดำเนินการโดยนักวิจัยและสถาบันชั้นนำ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดในทศวรรษต่อๆ ไปเกือบ 5 เท่า และหากไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของมนุษยชาติจะตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรง โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นักวิจัยเตือนว่า ภัยแล้งที่พบบ่อยมากขึ้นจะทำให้ผู้คนหลายล้านคนเสี่ยงต่อการอดอยาก ยุงที่แพร่กระจายไปไกลกว่าในอดีตจะเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อไปด้วย และระบบสุขภาพจะต้องดิ้นรนเพื่อรับมือกับภาระดังกล่าว โดยการประเมินอันเลวร้ายนี้เกิดขึ้นในช่วงที่คาดว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพียงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบบติดตามสภาพอากาศของยุโรปประกาศว่า เดือน ต.ค. 2566 เป็นเดือนตุลาคมที่อบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์
รายงานของ The Lancet Countdown ถูกเผยแพร่ก่อนการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศของ COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะเป็นเจ้าภาพ "วันสุขภาพ" ในวันที่ 3 ธันวาคม เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญพยายามให้ความกระจ่างเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสุขภาพ รายงานยังชี้ด้วยว่า แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการดำเนินการทั่วโลกมากขึ้น แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานก็พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เห็นได้จากเงินอุดหนุนของภาครัฐและเงินลงทุนจากธนาคารเอกชนที่ยังสูง
ในปี 2565 ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่เป็นอันตรายถึงชีวิตโดยเฉลี่ย 86 วัน ประมาณร้อยละ 60 ของวันเหล่านั้นเกิดขึ้นมากกว่าสองเท่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 เมื่อเทียบระหว่างช่วงปี 2534-2543 กับช่วงปี 2556-2565
มารินา โรมาเนลโล (Marina Romanello) ผู้อำนวยการบริหารของ The Lancet Countdown กล่าวว่า ผลกระทบที่เราเห็นในวันนี้อาจเป็นเพียงสัญญาณเริ่มต้นของอนาคตที่อันตรายมาก และหากไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้นในการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เสี่ยงที่จะเป็นเพียงคำพูดที่ว่างเปล่า
ภายใต้สถานการณ์ที่โลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษ ซึ่งขณะนี้อุณหภูมิอยู่ที่ 2.7 องศาเซลเซียส การเสียชีวิตจากความร้อนต่อปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 370 ภายในปี 2593 หรือเพิ่มขึ้นถึง 4.7 เท่า ตามการคาดการณ์ ผู้คนอีกประมาณ 520 ล้านคนจะประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางหรือรุนแรงในช่วงกลางศตวรรษ และโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะจะยังคงแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ การศึกษาพบว่าการระบาดของโรคไข้เลือดออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ภายใต้สถานการณ์ภาวะโลกร้อน 2 องศาเซลเซียส
ในขณะเดียวกัน เมืองมากกว่า 1 ใน 4 ที่สำรวจโดยนักวิจัย พวกเขากังวลว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกินความสามารถในการรับมือ หนึ่งในนั้นคือสมาชิกทีมวิจัยอย่าง จอร์เจียนา กอร์ดอน-สตราชาน (Georgiana Gordon-Strachan) ผู้มีบ้านเกิดอยู่ในประเทศจาไมกา ที่เล่าว่า ที่นั่นกำลังเผชิญสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาด และขณะนี้เรากำลังเผชิญวิกฤติที่อยู่บนยอดของวิกฤติ (crisis on top of a crisis)
“ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศยากจน ซึ่งมักมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด กลับต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างรุนแรง แต่สามารถเข้าถึงเงินทุนและความสามารถทางเทคนิคได้น้อยที่สุดในการปรับตัวให้เข้ากับลมพายุที่แรงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และความแห้งแล้งของพืชผลที่เหี่ยวเฉา ซึ่งแย่ลงจากภาวะโลกร้อน” จอร์เจียนา กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ให้ความเห็นภายหลังรายงานของ The Lancet Countdown ถูกเผยแพร่ ว่า มนุษยชาติกำลังจ้องมองไปที่อนาคตที่ไม่อาจยอมรับได้ เรากำลังเห็นหายนะของมนุษย์ที่เกิดขึ้นแล้ว สุขภาพและการดำรงชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในอันตรายจากอากาศร้อนที่ทำลายสถิติ ความแห้งแล้งที่พืชผลล้มเหลว ระดับความหิวโหยที่เพิ่มขึ้น โรคติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงพายุและน้ำท่วมที่มีความรุนแรง
ดานน์ มิทเชลล์ (Dann Mitchell) ประธานด้านอันตรายจากสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า คำเตือนด้านสุขภาพที่เป็นหายนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ไม่สามารถโน้มน้าวรัฐบาลชาติต่างๆ ทั่วโลก ให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากพอที่จะหลีกเลี่ยงเป้าหมายแรกของข้อตกลงปารีสที่ 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ว่า คำมั่นสัญญาของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกเพียงร้อยละ 2 ภายในปี 2573 จากระดับปี 2562 ซึ่งยังต่ำกว่าที่ลดลงร้อยละ 43 ที่จำเป็นในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.japantimes.co.jp/environment/2023/11/15/climate-change/heat-kill-five-times-2050/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี