"เอกวาดอร์"ประกาศชื่อ 20 แก๊งเข้าข่ายกลุ่มก่อการร้าย หลังเหิมบุกสถานีโทรทัศน์ขณะออกอากาศ
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 สื่อต่างประเทศรายงาน ภายหลัง แดเนียล โนบัว (Daniel Noboa) ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 60 วัน เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 เพื่อจัดการกับกลุ่มแก๊งอาชญากรรมต่างๆ รวมถึงจัดระเบียบการบริหารจัดการเรือนจำ ซึ่งที่ผ่านมาแม้สมาชิกระดับสูงของแก๊งจะถูกคุมขังแต่ก็ยังสั่งการออกมาภายนอกได้ ก็ทำให้สถานการณ์ในเอกวาดอร์เต็มไปด้วยเหตุรุนแรงจากกลุ่มแก๊งที่ออกมาป่วนเมือง ทั้งวางเพลิง วางระเบิด และลักพาตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงล่าสุดได้บุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ขณะที่กำลังออกอากาศ
Buenos Aires Times สำนักข่าวออนไลน์ในเครือ นสพ.Perfil ของอาร์เจนตินา เสนอข่าว Gunmen burst into Ecuador television studio live on air ระบุว่า ในวันที่ 9 ม.ค. 2567 เกิดเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนบุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในเมืองกัวยาคิล จับผู้ประกาศข่าวและทีมงานเป็นตัวประกัน ท่ามกลางสายตาของผู้ชมที่ได้เห็นวินาทีระทึกก่อนไฟในห้องส่งจะดับลง ขณะที่ตำรวจเมืองกัวยาคิลและกรุงคีโต ได้รับแจ้งเหตุแล้วและเร่งระดมกำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ใช้เวลา 30 นาที จึงเข้าถึงที่เกิดเหตุ
ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ส่งข้อความผ่านวอทส์แอป ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว AFP ว่า คนร้ายต้องการฆ่าพวกตน และคนเหล่านั้นกำลังออกอากาศ ทั้งนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลเอกวาดอร์ เกิดขึ้นภายหลัง โฮเซ อดอลโฟ มาซิอาส (Jose Adolfo Macías) หรือฉายา “ฟิโต (Fito)” หัวหน้าแก๊ง “ลอส โชเนรอส (Los Choneros)” หลบหนีออกจากเรือนจำ ซึ่งนี่คือหนึ่งในบุคคลอันตรายที่สุดของประเทศ รัฐบาลยังออกประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว)
ขณะที่ฝ่ายกลุ่มแก๊งต่างๆ ก็ตอบโต้รัฐด้วยการจับตำรววจเป็นตัวประกัน มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่น่าสยดสยอง รวมถึงคลิปที่เจ้าหน้าที่ถูกบังคับให้อ่านข้อความของแก๊ง เป็นการส่งสารท้าทายถึงผู้นำเอกวาดอร์ ว่า “ในเมื่ออยากได้สงคราม เราก็จะจัดให้ตามนั้น (You declared war, you will get war,)” และ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใช่ไหม? เราก็บอกเลยว่า ตำรวจ พลเรือน หรือแม้แต่ทหาร ก็จะได้รับผลของสงครามนี้ (You declared a state of emergency. We declare police, civilians and soldiers to be the spoils of war.)”
แดเนียล โนบัว ได้รับการเลือกตั้เงเป็นประธานาธิบดีเอกวาดอร์เมื่อเดือน ต.ค. 2566 เขาให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหาองค์กรอาชญากรรมและขบวนการค้ายาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงต่างๆ ซึ่งแผ่ขยายไปทั่วทวีปอเมริกาใต้ ภูมิภาคที่ในอดีตมีแต่สันติภาพ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นชุมทางสำคัญสำหรับการลำเลียงยาเสพติดอย่างโคเคน โดยมีปลายทางเป็นสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป
โฮเซ อดอลโฟ มาซิอาส หรือฟิโต ชายวัย 44 ปี หัวหน้าแก๊ง ลอส โชเนรอส ถูกตัดสินจำคุก 34 ปี ในข้อหาฆาตกรรมและค้ายาเสพติด หลบหนีออกจากเรือนจำในเมืองกัวยาคิล เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดของเอกวาดอร์ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่เรือนจำ 2 คน ที่ต้องสงสัยว่าช่วยให้หัวหน้าแก๊งรายนี้หลบหนี นอกจากนั้นยังมีรายงานด้วยว่า โคลอน พิโก (Colon Pico) หัวหน้าแก๊ง “ลอส โลบอส (Los Lobos)” ที่เพิ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 ในข้อหาร่วมวางแผนลอบสังหารอัยการสูงสุด ก็หลบหนีไปเช่นกันในวันที่ 9 ม.ค. 2567
การหลบหนีของ ฟิโต จุดดชนวนการก่อเหตุจลาดจลในเรือนจำใน 6 จังหวัด จากทั้งหมด 24 จังหวัดของเอกวาดอร์ มีรายงานตำรวจและทหารพร้อมอาวุธบุกจู่โจมเรือนจำหลายแห่ง ขณะที่ ปธน. โนบัว กล่าวว่า การจลาจลเหล่านี้เป็นความพยายามต่อต้านนโยบายจัดระเบียบเรือนจำ และประกาศเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 ว่า จะไม่มีการเจรจากับผู้ก่อการร้ายหรือหยุดพัก จนกว่าจะทำให้เอกวาดอร์กลับมาสงบสุขอีกครั้ง
ก่อนหน้าเหตุรุนแรงครั้งใหญ่และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพียง 1 สัปดาห์ ผู้นำเอกวาดอร์ ได้ประกาศแผนก่อสร้างเรือนจำความมั่นคงสูง 2 แห่ง ซึ่งได้รับแนวคิดมาจาก นายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) ประธานาธิบดีประเทศเอลซัลวาดอร์ ในทวีปอเมริกากลาง ซึ่งมีปัญหาอาชญากรรมสูงเช่นกัน โดยเรือนจำที่จะสร้างใหม่นี้ใช้สำหรับกักขังผู้กระทำผิดในกลุ่มที่เป็นอาชญากรระดับอันตรายที่สุด
รายงานของสื่ออาร์เจนตินา ยังกล่าวอีกว่า เอกวาดอร์เคยเป็นประเทศที่สงบสุข อยู่คั่นกลางระหว่างประเทศผู้ส่งออกโคเคนชั้นนำอย่างโคลอมเบียและเปรู แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เอกวาดอร์เผชิญกับความรุนแรงที่ปะทุขึ้นเนื่องจากการต่อสู้กันของบรรดาแก๊งค้ายาเสพติด ที่เชื่อมโยงกับขบวนการใหญ่ในเม็กซิโกและโคลอมเบีย เหตุฆาตกรรมเพิ่มขึ้น 4 เท่า ระหว่างปี 2561 - 2565 และในปี 2566 เอกวาดอร์ที่มีประรชากร 17 ล้านคน เกิดเหตุฆาตกรรมถึง 7,800 คดี และทางการยึดยาเสพติดได้มากถึง 220 ตัน ขณะที่นั้บตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลในเรือนจำ 460 ราย หลายคนถูกตัดศีษะหรือเผาทั้งเป็น
สถานีวิทยุ National Public Radio (NPR) สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว Armed men are arrested after storming an Ecuador TV studio during a live broadcast รายงานเหตุกลุ่มคนร้ายบุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ TC Television ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ ในเมืองกัวยาคิลของเอกวาดอร์ วันที่ 9 ม.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น โดย อลินา มันริเก (Alina Manrique) หัวหน้าฝ่ายข่าวช่องดังกล่าว เล่าว่า กลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธครบมือทั้งปืนและระเบิด บุกเข้ามาในห้องควบคุม ตรงข้ามกับสตูดิโอ หนึ่งในนั้นใช้ปืนจีศีรษะของตนบอกให้หมอบลงกับพื้น
เหตุการณ์คนร้ายบุกสถานีโทรทัศน์ออกอากาศสดไปอีกประมาณ 15 นาที ก่อนที่ไฟจะดับ มันริเก เล่าต่อไปว่า ตนเห็นคนร้ายบางรายวิ่งออกจากห้องส่งเพื่อหาที่ซ่อยตัวหลังทราบว่าตำรวจได้ปิดล้อมพื้นที่ไว้แล้ว หัวหน้าฝ่ายข่าวรายนี้ ยังให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AP ด้วยว่า ตนยังคงตกใจ และทุกอย่างพังทลายลง ถึงเวลาที่ตนต้องออกจากประเทศนี้ให้ไกล
ด้านประธานาธิบดีเอกวาดอร์ แดเนียล โนบัว หลังทราบเรื่องกลุ่มคนร้ายบุกยึดสถานีโทรทัศน์ ได้ออกประกาศเพิ่มเติม โดยระบุชื่อแก๊งอาชญากรรมต่างๆ รวม 20 กลุ่ม ว่าเข้าข่ายองค์กรก่อการร้าย และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการจัดการ ภายในขอบเขตของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ พร้อมกับประกาศด้วยว่า ขณะที่เอกวาดอร์เข้าสู่สถานการณ์ความขัดแย้งภายในด้วยอาวุธ
เซซาร์ ซาปาตา (Cesar Zapata) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เอกวาดอร์ เปิดเผยว่า ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์ยังสถานโทรทัศน์ TC Television ที่เกิดเหตุ และจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 13 คน พร้อมของกลางทั้งอาวุธปืนและวัตถุระเบิด ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดเอกวาดอร์ แถลงว่า ทั้งหมดจะถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 13 ปี โดยมีพนักงานอัยการลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม
รายงานของสื่อสหรัฐฯ กลาวเพิ่มเติมว่า โฮเซ อดอลโฟ มาซิอาส หัวหน้าแก๊ง ลอส โชเนรอส มีประวัติแหกคุกมาแล้วครั้งหนึ่งในเดือน ก.พ. 2556 แต่ถูกจับได้ในอีก 1 สัปดาห์ให้หลัง ก่อนจะหนีอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ทั้งนี้ ลอส โชเนรอส และแก๊งอื่นๆ เป็นสาเหตุของความรุนแรงในเอกวาดอร์จากการต่อสู้แย่งชิงอิทธิพลในพื้นที่และเส้นทางลำเลียงยาเสพติด ซึ่งรวมถึงความรุนแรงในเรือนจำ และเป็นที่ทราบกันดีว่า แม้สมาชิกระดับแกนนำของแก๊งจะอยู่ในเรือนจำ แต่ยังสามารถสั่งการเครือข่ายที่อยู่ภายนอกได้
ด้านสถานีโทรทัศน์ CGTN ในเครือ CCTV ของจีน เสนอข่าว Peru declares emergency on northern border as violence rocks Ecuador ระบุว่า รัฐบาลของเปรู ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเอกวาดอร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามแนวชายแดนที่ติดกับเอกวาดอร์ ท่ามกลางความรุนแรงซึ่งส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรอาญากรรมในประเทศเพื่อนบ้าน โดย อัลแบร์โต โอตาโรลา (Alberto Otarola) นายกรัฐมนตรีเปรู กล่าวว่า จะมีการส่งทหารเข้าไปสนับสนุนการทำงานของตำรวจ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี