เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 สำนักข่าว Voice of America สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ Political change prompts concerns about Thailand's economy ว่าด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนของประเทศไทย ส่งผลต่อความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งปัจจุบันกำลังดิ้นรนกับภาวะซบเซาและการเติบโตที่ช้ากว่าเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเดียวกัน
ในเดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญของไทย มีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน (Srettha Thavisin) พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมตรี ด้วยข้อหา “ละเมิดจริยธรรม” เนื่องจากแต่งตั้งบุคคลที่มีประวัติเคยถูกจำคุกเนื่องจากพัวพันกับข้อกล่าวหาพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ จากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเลือกนายกฯ คนใหม่ คือ แพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) ลูกสาวของ ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra) อดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งเดินทางกลับไทยเมื่อปี 2566 หลังลี้ภัยในต่างประเทศนานถึง 15 ปี
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ (Thitinan Pongsudhirak) อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัญหามายาวนานเนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549 ประเทศไทยเสียหลัก มีทั้งการรัฐประหารสองครั้ง (ในปี 2549 และ 2557) การเลือกตั้ง การที่พรรคการเมืองหลักหลายพรรคถูกยุบ มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น 3 ฉบับ แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการเสื่อมถอยทางการเมือง
ในวันที่ 22 ส.ค. 2567 ซึ่งอดีตนายกฯ ทักษิณ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะครั้งแรกหลังจากเดินทางกลับประเทศไทย ได้วางกลยุทธ์ 14 ประการเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่การปฏิรูปหนี้สาธารณะ ภาคการเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุนในศูนย์รวมความบันเทิง และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ฐิตินันท์ ชี้ว่า ประเทศไทยคงต้องมองไปที่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
“ผมคิดว่าตอนนี้ทุกอย่างได้ก้าวไปข้างหน้าแล้ว ดังนั้นต้องพูดถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากขึ้น เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่องจักร การปฏิรูปการศึกษา ประเทศไทยพลาดนวัตกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และตอนนี้ก็พลาดกระแสบูมของปัญญาประดิษฐ์ เหตุผลก็เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ” ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าว
นักรัฐศาสตร์ผู้นี้ ยังมองไปที่เครือข่ายของขั้วอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตของไทย ว่า ตนไม่แน่ใจว่า รัฐบาลที่นำโดยคนของตระกูลชินวัตรจะอยู่ได้นานเพียงใด จะได้รับอนุญาตให้บริหารงประเทศหรือไม่ หรือจะยังคงถูกสกัดขัดขวาง ซึ่งหากคำตอบคือไม่ ประเทศไทยจะไปต่อไม่ได้เลย มีแต่จะหยุดชะงักและถอยหลัง ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังมีแผนอยู่ นั่นคือโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชน 50 ล้านคน ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ซึ่งในขณะที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ระบุว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเริ่มในเดือน ก.ย. 2567 แต่ก็มีการคาดเดากันว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในฝ่ายรัฐบาล ต้องการยกเลิกโครงการนี้ โดย ศ.ดร.ฐิตินันท์ ให้ความเห็นว่า แหล่งเงินจะมาจากปีงบประมาณปัจจุบันและปีงบประมาณหน้า ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นจะลดน้อยลง และเพื่อให้มีประสิทธิผล จำเป็นต้องมีการกระตุ้นทางการคลังครั้งใหญ่ในช่วงเวลาสั้นๆ และปล่อยให้สิ่งนั้นสร้างผลกระทบทวีคูณ โดยปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ์เข้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตราว 20 ล้านคน และหากยังคงเดินหน้าต่อไป ก็จะใช้งบประมาณเกือบ 5 แสนล้านบาท
ด้าน ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (Kiatanantha Lounkaew) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1.หนี้ครัวเรือน ซึ่งสูงถึงร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศ กับ 2.โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นแบบเดิมนับตั้งแต่ปี 2543 จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้นต้องมีแผนงานกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับประเทศไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาพรวมจะต้องน่าเชื่อถือ ประเทศไทยจึงจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ภาคส่วนเศรษฐกิจหลัก 3 ประเภทที่ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย ได้แก่ การผลิต (อุตสาหกรรม) เกษตรกรรม และบริการ (ท่องเที่ยว) ซึ่งการผลิตได้ชะลอตัวลง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีโรงงานเกือบ 2,000 แห่งปิดตัวลง ส่งผลให้คนงานหลายพันคนต้องตกงาน นอกจากนั้น สื่อท้องถิ่นยังรายงานว่า การนำเข้าสินค้าราคาถูก โดยเฉพาะจากประเทศจีน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยขาดความสามารถในการแข่งขัน
“ประเทศไทยจำเป็นต้องคิดหาวิธีใหม่ๆ ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือภาคส่วนสำคัญ เช่น เกษตรกรรม เราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเวลานานแล้ว เราสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดเพื่อเพิ่มเศรษฐกิจหลักของเราได้ ตัวอย่างเช่น [เปลี่ยน] เกษตรกรรมให้เป็นเกษตรกรรมอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าการส่งออกวัตถุดิบ” ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังมีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ และจีน ต่างก็ลงทุนอย่างมากในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ระบุว่า ไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนของแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน ว่า เมื่อพวกเขาเลือกประเทศไทยแล้วจะมีคนทำงาน
อนึ่ง การท่องเที่ยวเป็นเพียงภาคส่วนเดียวของเศรษฐกิจไทยที่ยังถือว่าดำเนินไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ ย้อนไปในปี 2562 ภาคส่วนดังกล่าวมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 11.5 ขณะที่สถิติ ณ เดือนสิงหาคม 2567 มีชาวต่างชาติเดินทางไปเยือนประเทศไทยแล้วถึง 21 ล้านคน และคาดว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 36 ล้านคน เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์การเข้าเมือง โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศได้รับอนุญาตให้อยู่ได้ 60 วันเมื่อเดินทางมาถึง นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัววีซ่า Destination Thailand เพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่สามารถทำงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลจากที่ใดก็ได้ (Digital Nomad) เลือกไทยเป็นสถานที่ทำงานและท่องเที่ยว
นักเศรษฐศาสตร์จาก ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตมากขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังต้องมีการปรับปรุง เพราะยังคงเน้นไปที่แหล่งท่องเที่ยวเพียงไม่กี่เมือง เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย นั่นยังคงเป็นปัญหา จนกว่าเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น อนึ่ง บริการด้านสุขภาพสามารถเสริมศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวได้ โดยผสมผสานระหว่างการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมารับบริการด้านสุขภาพผสมผสานไปกับการพักผ่อน ซึ่งนี่เป็นความถนัดของประเทศไทย
“การท่องเที่ยวยังคงเป็นเป้าหมาย แต่ต้องยั่งยืน เราต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยกำลังซื้อที่มากขึ้น” ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี