5 ธ.ค. 2567 นสพ.The Straits Times ของสิงคโปร์ เสนอรายงานพิเศษ South Korea’s Yoon unlikely to resign even as impeachment looms: Analysts ว่าด้วยท่าทีของ ยูน ซุก ยอล (Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังเผชิญแรงกดดันจากองคาพยพต่างๆ ของสังคม เรียกร้องให้ลาออก รวมถึงในรัฐสภาก็ยังมีความพยายามเริ่มกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากประกาศกฎอัยการศึกษาเมื่อช่วงดึกของวันที่ 3 ธ.ค. ก่อนจะต้องยกเลิกในช่วงเช้ามืดของวันที่ 4 ธ.ค. 2567 เพราะเจอแรงต้านอย่างหนักจากประชาชนและสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติไม่เห็นชอบ
แต่นอกจากไม่มีทีท่าที่จะยอมลาออกแล้ว ตรงกันข้ามดูเหมือนยูนพร้อมจะต่อสู้ไปตามกระบวนการทางกฎหมายอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ศ.ยง-ชูล ฮา (Yong-Chool Ha) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า ยุนเป็นบุคคลที่แปลกประหลาด เขามองว่าทุกอย่างควรทำตามกฎหมาย และอาจคิดว่าปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด แม้กระทั่งในครั้งนี้ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่ยูนจะยอมรับความผิดพลาดของตนเอง
นอกจากนั้น หากดูภูมิหลังของยูน ก่อนจะมาเล่นการเมือง เขาเคยเป็นอัยการมานานถึง 27 ปี จึงมีความชำนาญทางกฎหมายเป็นอย่างดี ดังนั้นยูนคงเลือกที่จะไม่ปฏิเสธเส้นทางของการต่อสู้คดี ที่กระบวนการพิจารณาน่าจะกินเวลายืดเยื้อยาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ซุง-ยูน ลี (Sung-yoon Lee) นักวิจัยระดับโลกจากศูนย์วิจัย Woodrow Wilson International Center for Scholars ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ที่เชื่อว่าชายวัย 63 ปีอย่างยูน เลือกที่จะต่อสู้ทางกฎหมายมากกว่าจะยอมลาออก
ลี ซึ่งเป็นอดีตศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกาหลี ชี้ให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจชี้ขาดเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปกติแล้วจะมีองค์คณะตุลาการจำนวน 9 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 6 คน อีกทั้งในจำนวนนี้ 4 คน ได้รับการแต่งตั้งโดยยูน จึงอาจทำให้กระบวนการซับซ้อนมากขึ้น ส่วนการประกาศกฎอัยการศึก ตนมองว่ายูนน่าจะเชื่อว่าตนเองมีผู้สนับสนุนมากพอ ที่จะสนับสนุนการตัดสินใจอันน่าโต้แย้งของเขา แต่การเดิมพันของเขากลับกลายเป็นผลเสีย
ยูนนั้นยืนกรานว่ากฎอัยการศึกคือหนทางเดียวที่เขาจะใช้เพื่อช่วยประเทศชาติจากสิ่งที่เรียกว่าศัตรูของรัฐ กิจกรรมต่อต้านรัฐ และกลุ่มที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ยูนไม่ได้ให้หลักฐานใดๆ เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างนั้น และถูกบังคับให้เปลี่ยนคำพูดเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา หลังจากสมาชิกรัฐสภา รวมถึง 18 คนจากพรรคของยูนเองด้วย ลงมติให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ซึ่ง ลี เห็นว่า เหมือนกับการเล่นฟุตบอลแล้วยิงเข้าประตูตัวเอง เป็นความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ทำให้เส้นทางการเมืองทั้งของยูน ผู้สนับสนุน และพรรคต้นสังกัดตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างยิ่ง
พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคได้ยื่นคำร้องถอดถอนยูน โดยให้เหตุผลว่าการประกาศกฎอัยการศึกของเขานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยหัวหน้าพรรค Democratic Party ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน บอกว่า การกระทำของยูนนั้นเข้าข่ายพยายามก่อรัฐประหาร ขณะที่สื่อท้องถิ่นของเกาหลีใต้อย่างสำนักข่าว Yonhap รายงานว่า คาดว่าจะมีการลงคะแนนเสียงในคำร้องดังกล่าวในวันที่ 7 ธ.ค. 2567 และหากจะให้มติผ่าน จะต้องได้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมีนักการเมืองจากพรรค People Power Party ต้นสังกัดของยูน อย่างน้อย 8 คน เห็นชอบด้วย
ฮัน ตง-ฮุน (Han Dong-hoon) หัวหน้าพรรค People Power Party ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ประกาศว่า ตนจะรวมเสียงของคนในพรรคให้เป็นหนึ่งเพื่อขัดขวางการถอดถอนยูนออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่การปกป้องยูน แต่เป็นการป้องกันความวุ่นวายที่ประชาชนไม่ได้เตรียมการไว้ พร้อมกับเรียกร้องให้ยูนลาออกจากพรรค และรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป
ยูนเป็นประธานาธิบดีที่อ่อนแอตั้งแต่พรรคฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน เม.ย. 2567 ทำให้ฝ่ายค้านได้ครองเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลของเขาจึงไม่สามารถผ่านกฎหมายที่ต้องการได้ ซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายงบประมาณที่ยุนเสนอ โดย ลี กล่าวว่า การที่ยุนดำรงตำแหน่งได้ล้มเหลวทำให้เขาอ่อนแอลงกว่าเดิม อีกทั้งยังเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับ คิม กึน-ฮี (Kim Keon-hee) ภรรยาของเขา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตและเป็นผู้มีอิทธิพล
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า เกาหลีใต้มีประวัติศาสตร์อันมืดมนกับการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ซึ่งเต็มไปด้วยความโหดร้ายและการปราบปราม จึงถือว่าเป็นประเทศใหม่ในโลกการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกเข้ารับตำแหน่งในปี 2532 นักวิเคราะห์มองาชาวเกาหลีใต้รู้สึกภูมิใจกับความก้าวหน้าอันยาวนานที่ประเทศชาติได้เดินทางมา และมองว่าการกระทำของยูนเป็นการถดถอยของประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องลำบากกว่าจะได้มา
ลี ฉายภาพชะตากรรมอันเลวร้ายในอดีตที่ชาวเกาหลีใต้ต้องเผชิญ เช่น การปราบปรามประชาชนที่ไม่มีอาวุธด้วยปืนและรถถัง การจับกุมและทรมานผู้คนตามอำเภอใจ ดังนั้นการกระทำของยูนจึงทำให้ชาวเกาหลีใต้มองว่าการเมืองกำลังถอยหลัง และเป็นการดูหมิ่นจิตใจของผุ้คนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้คะแนนนิยมของยูนในสายตาประชาชนจะต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งล่าสุดอยู่แค่ราวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนประกาศกฎอัยการศึก แต่ยูนกลับมีสถานะที่ดีในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
กล่าวคือ ยูนถูกมองว่าทำได้ดีมากในแง่ของการแก้ไขความขัดแย้งกับญี่ปุ่นและการกระตุ้นระบบพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่สิ่งที่เขาทำลงไปล่าสุดถือเป็นความตกตะลึงครั้งใหญ่และสร้างความผิดหวังสำหรับสหรัฐฯ และประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ นักวิเคราะห์มองว่าคงจะเริ่มกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อในเร็วๆ นี้ ซึ่งทั้ง 2 เกาหลียังคงอยู่ในภาวะสงครามทางเทคนิค และความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศก็ผันผวนไปตามผู้นำที่แตกต่างกัน
ลี ทิ้งท้ายว่า ยูนยังคงยืนกรานในจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมาเป็นเวลานาน ในขณะที่เกาหลีเหนือก็ได้โจมตียูนอย่างรุนแรงเช่นกัน นับตั้งแต่ที่ยูนเข้ารับตำแหน่งเมื่อกว่า 2 ปีก่อน ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องผิดปกติที่เกาหลีเหนือจะปล่อยให้วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้และยุนสูญเปล่า ตนคาดว่าเกาหลีเหนือจะยืนกรานและยั่วยุมากกว่านี้ และกล่าวโทษยูนสำหรับนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศชาติและประชาชน ถ้อยคำแบบนั้นอาจสะท้อนไปทั่วเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เช่นกัน
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี