20 ม.ค. 2568 สำนักขาวรอยเตอร์ รายงานข่าว Trump tells 'dictator' Zelenskiy to move fast or lose Ukraine ระบุว่า ในวันที่ 19 ม.ค. 2568 โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่า โวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครน ต้องรีบจบสงครามกับรัสเซียโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เหลือประเทศ แต่ที่เรียกเสียงฮือฮา คือทรัมป์เรียกเซเลนสกีว่าเป็น “เผด็จการ (Dictator)” ขณะที่ อันดรี ซีบีฮา (Andrii Sybiha) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน ก็ตอบโต้ว่า ไม่มีใครบังคับให้ประเทศของตนยอมแพ้ได้
หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่ถึง 1 เดือน ทรัมป์ได้พลิกกลับนโยบายของสหรัฐฯเกี่ยวกับสงคราม โดยยุติการรณรงค์แยกรัสเซียออกไปด้วยการโทรศัพท์สายตรงคุยกับ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ตามด้วยการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯและรัสเซีย ที่ทำให้ยูเครนต้องอยู่เฉยๆ ซึ่งท่าทีล่าสุดของทรัมป์ เกิดขึ้น 1 วันหลังจากทรัมป์อ้างว่ายูเครนเป็นต้นเหตุของการรุกรานของรัสเซียในปี 2565 ทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปมีความกังวลมากขึ้นว่าแนวทางของทรัมป์ในการยุติความขัดแย้งนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อรัสเซีย
ในเวลาต่อมา ระหว่างการพูดคุยกับนักลงทุนและผู้บริหารในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ทรัมป์ได้ย้ำครั้งในการเรียกผู้นำยูเครนว่าเป็นเผด็จการ โดยขยายความว่าต้องการยืดเวลาสงครามเพื่อให้ขบวนรถไฟแห่งความสุขดำเนินต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ย่อมมีผลต่อความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ทั้งนี้ วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชองเซเลนสกี หากเป็นสถานการณ์ปกติจะต้องสิ้นสุดลงในปี 2567 แต่เพราะเกิดสงครามจึงทำให้ยังดำรงตำแหน่งต่อไปได้โดยอาศัยการประกาศกฎอัยการศึกที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 เมื่อรัสเซียยกกองทัพบุกยูเครน
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ท่าทีที่ไม่พอใจของทรัมป์ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2568 เซเลนสกีได้กล่าวว่าผู้นำสหรัฐฯ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับรัสเซีย โดยทรัมป์ชี้ว่ายูเครนไม่ควรเป็นฝ่ายเริ่มสงคราม ขณะที่ในวันที่ 19 ก.พ. 2568 เจดี แวนซ์ (JD Vance) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนเซเลนสกีว่าอย่า “พูดจาไม่ดี (Badmouthing)” กับทรัมป์ เพราะทุกคนที่รู้จักทรัมป์จะบอกว่านี่เป็นวิธีการที่เลวร้ายในการเจรจากับรัฐบาลชุดนี้
เซเลนสกี กล่าวกับสื่อในยูเครน ว่า เรื่องที่ทรัมป์พูดว่าคะแนนนิยมของตนอยู่ที่เพียงร้อยละ 4 เป็นการบิดเบือนข้อมูลของรัสเซีย และความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะหาคนมาแทนที่ตนจะล้มเหลว ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของสถาบันสังคมวิทยานานาชาติเคียฟเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2568 พบว่าชาวอูเครนร้อยละ 57 ไว้วางใจเซเลนสกี
รัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนได้ประมาณร้อยละ 20 และค่อยๆ ขยายดินแดนทางตะวันออกอย่างช้าๆ แต่สม่ำเสมอ โดยทางรัสเซียกล่าวว่า การเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของยูเครนที่พยายามเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขณะที่ยูเครนและกลุ่มชาติตะวันตกเรียกการกระทำของรัสเซียว่าเป็นการแย่งชิงดินแดนของลัทธิจักรวรรดินิยม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนบุคคลระดับสูงของนานาชาติจะส่ายหัวกับท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ อาทิ สเตฟาน ดูจาร์ริก (Stephane Dujarric) โฆษกสหประชาชาติ กล่าวว่า เซเลนสกีอยู่ในตำแหน่งหลังจากการเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างเหมาะสม และย้ำว่ารัสเซียเป็นฝ่ายรุรานยูเครน เช่นเดียวกับ โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า การที่ทรัมป์เรียกเซเลนสกีว่าเป็นเผด็จการเป็นเรื่องเท็จและอันตราย
รวมถึงพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ อย่างออสเตรเลีย ซึ่งให้การสนับสนุนยูเครนในสงครามกับรัสเซียเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย ผู้นำทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างประสานเสียงไปในทางเดียวกัน โดย ริชาร์ด มาร์ลส์ (Richard Marles) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวว่า สงครามในยูเครนต้องได้รับการแก้ไขตามเงื่อนไขของยูเครน เพราะผู้รุกรานคือรัสเซีย ส่วน ปีเตอร์ ดัตตัน (Peter Dutton) ผู้นำฝ่ายค้าน ก็กล่าวว่า ตนคิดว่าผู้นำสหรัฐฯ คงเข้าใจอะไรผิด ออสเตรเลียควรยืนหยัดอย่างเข้มแข็งและภาคภูมิใจกับประชาชนชาวยูเครน นี่คือระบอบประชาธิปไตย และนี่คือการต่อสู้เพื่ออารยธรรม ปูตินเป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยมที่ไม่ควรให้โอกาสแม้แต่น้อย
แม้กระทั่งในสหรัฐฯ นักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน ต้นสังกัดเดียวกันกับทรัมป์ ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่ยังสงวนท่าทีไม่วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์โดยตรง อาทิ จอห์น ธูน (John Thune) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รัฐเซาท์ดาโกตา ที่กล่าวว่า ทรัมป์ต้องการพื้นที่เพื่อทำงานเกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพ
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า มีความพยายามเจรจากันระหว่างยูเครนกับสหรัฐฯ โดยเซเลนสกีพร้อมให้สัมปทานบริษัทสหรัฐฯ ทำเหมืองแร่มีค่าและได้ส่วนแบ่งแร่ แลกกับการที่สหรัฐฯ จะรับประกันความปลอดภัยให้ยูเครน แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำยูเครนได้ปฏิเสธข้อเสนอที่สหรัฐฯ จะขอส่วนแบ่งแร่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งรวมถึงแร่ลิเทียม อันเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV)
โดยในการเปิดเผยกับสื่อเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 เซเลนสกี อธิบายว่า เงื่อนไขนี้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์มากเกินไป และตนไม่สามารถขายเผ่นดินได้ แต่อีกด้านหนึ่ง ในวันเดียวกัน ทรัมป์ได้ออกมาบอกว่า ยูเครนยอมรับเงื่อนไขแล้ว และบ่นว่า สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถูกปฏิบัติอย่างหยาบคายขณะเยือนยูเครน
ทั้งนี้ ผู้นำชาติยุโรปต่างตกตะลึงและลังเลใจกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทรัมป์ที่มีต่อยูเครนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยในการประชุมครั้งที่ 2 ของผู้นำยุโรปที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นอย่างเร่งรีบโดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน มีการเรียกร้องให้มีการดำเนินการทันทีเพื่อสนับสนุนยูเครนและเสริมกำลังด้านการป้องกันประเทศของยุโรป แต่มีการตัดสินใจที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อย
ไมค์ วอลทซ์ (Mike Walt) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว เปิดเผยว่า มาครงและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) จะเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ขณะที่หลังจากการแสดงท่าทีของทรัมป์ เซเลนสกีได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างสันติภาพกับมาร์ก รุตเต (Mark Rutte) เลขาธิการนาโต มาครง และสตาร์เมอร์ รวมถึงความสำคัญของการรับประกันความปลอดภัย ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 ว่า นายกฯ สตาร์เมอร์ สนับสนุนเซเลนสกีในฐานะผู้นำยูเครนที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
คีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) ผู้แทนสหรัฐฯ ประจำยูเครน เดินทางถึงกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา เพื่อพบกับเซเลนสกี และได้กล่าวว่า ตนเข้าใจถึงความจำเป็นในการรับประกันความปลอดภัย และเสริมว่าภารกิจส่วนหนึ่งของตนคือการนั่งฟัง ในวันเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ ตกลงกันในมาตรการคว่ำบาตรชุดที่ 16 ต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงมาตรการคว่ำบาตรอลูมิเนียมและเรือที่เชื่อว่าบรรทุกน้ำมันที่ถูกคว่ำบาตรจากรัสเซีย
ทรัมป์ เปิดเผยว่า ในเดือนนี้ตนอาจไปรัสเซียเพื่อพบกับปูติน ขณะที่ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า ยูเครนจะไม่ถูกห้ามไม่ให้เจรจาสันติภาพ แต่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับการยกระดับความไว้วางใจระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ทั้งนี้ ปูตินกล่าวเมื่อหนึ่งวันหลังจากที่รัสเซียและสหรัฐฯ พบกันที่กรุงริยาดของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหารือครั้งแรกเกี่ยวกับวิธีการยุติความขัดแย้ง โดยเขากล่าวว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการกำหนดการประชุมสุดยอดกับทรัมป์ ซึ่งทั้ง 2 คนกล่าวว่าต้องการ
รัฐบาลยูเครนและยุโรปไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาที่เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบียในวันที่ 18 ก.พ. 2568 ซึ่งยิ่งทำให้ทั้งยูเครนและยุโรปแสดงความกังวลมากขึ้นว่ารัสเซียและสหรัฐอาจบรรลุข้อตกลงที่ละเลยผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่สำคัญ ขณะที่ในวันที่ 19 ก.พ. 2568 เซเลนสกี กล่าวว่า ยูเครนคาดหวังในความสามัคคีของยุโรปและการเป็นนักปฏิบัตินิยมของอเมริกา ส่วนทรัมป์ได้กล่าวว่า ยุโรปต้องก้าวขึ้นมาเพื่อรับประกันข้อตกลงหยุดยิงใดๆ
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.reuters.com/world/europe/zelenskiy-says-trump-is-disinformation-bubble-ukraine-2025-02-19/
043...
27 ก.ย. 2567 (รอยเตอร์) โดนัลด์ ทรัมป์ (ขวา) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน พูดคุยกับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี (ซ้าย) ประธานาธิบดียูเครน ที่อาคารทรัมป์ทาวเวอร์ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี