15 พฤษภาคม 2568 สื่อท้องถิ่นนิวซีแลนด์รายงานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คนจากพรรค Te Pāti Māori (พรรคของชาวเมารี) ถูกสั่ง “พักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว” ซึ่งเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรัฐสภานิวซีแลนด์ หลังแสดงการเต้นฮากาในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยหลักการของสนธิสัญญาไวตังกี (Treaty Principles Bill)
ผู้นำร่วมของพรรค Te Pāti Māori ได้แก่ เด็บบี งาเรวา-แพคเกอร์ (Debbie Ngarewa-Packer) และ ราวิริ ไวติติ (Rawiri Waititi) พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อายุน้อยที่สุดของพรรค ฮานา-ราวิริ ไมปี-คลาร์ก (Hana-Rawhiti Maipi-Clarke) ได้แสดงฮากา (haka) คือการเต้นรำดั้งเดิมของชาวเมารี กลางห้องประชุม ระหว่างการลงมติในวาระแรกของร่างกฎหมายที่เป็นประเด็นถกเถียงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย Maipi-Clarke ถึงขั้นฉีกเอกสารร่างกฎหมายต่อหน้าสภา ซึ่งคลิปวิดีโอดังกล่าวกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว มีผู้ชมทั่วโลกนับร้อยล้านครั้ง
ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอให้ตีความสนธิสัญญาไวตังกีใหม่ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ลงนามในปี 1840 ระหว่างชนเผ่าเมารีและรัฐบาลอังกฤษ ถือเป็นรากฐานทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของชาวเมารี ข้อเสนอของพรรคการเมืองสายเสรีนิยม (ACT) ในรัฐบาลผสมสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศ และจุดกระแสการประท้วงเพื่อสิทธิของชาวเมารีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ร่างกฎหมายจะถูกโหวต “ตก” ในวาระที่สองเมื่อเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการด้านสิทธิและจริยธรรมของรัฐสภาได้มีมติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ให้ลงโทษ งาเรวา-แพคเกอร์ และ ไวติติ ด้วยการพักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว 3 สัปดาห์ ขณะที่ ไมปี-คลาร์ก ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว 7 วัน โดยระบุว่าการกระทำของทั้งสามอาจมีลักษณะข่มขู่สมาชิกสภาคนอื่น และเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อกระบวนการรัฐสภา
แม้ในอดีตจะมีการแสดงฮากาในรัฐสภามาแล้ว รวมถึงโดยไวติติเองด้วย แต่คณะกรรมการชี้ว่า กรณีนี้แตกต่างออกไป เพราะเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาคนอื่นในช่วงเวลาสำคัญ จึงถือเป็น “เรื่องร้ายแรง”
รายงานยังระบุว่า งาเรวา-แพคเกอร์ แสดงท่าทางคล้ายการยิงปืนใส่เพื่อนสมาชิกด้วยมือของเธอ ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธ พร้อมชี้แจงว่าเป็น “วิริ” (wiri) หรือท่าทางในวัฒนธรรมเมารีที่เป็นส่วนหนึ่งของฮากา
ด้าน จูดิธ คอลลินส์ (Judith Collins) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่านี่คือ “เหตุการณ์เลวร้ายที่สุด” ในรอบ 23 ปีที่เธออยู่ในสภา พร้อมยืนยันว่าคณะกรรมการไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลงโทษอย่างรุนแรง
บทลงโทษจะถูกเสนอให้ลงมติโดยสภาในวันอังคารนี้ หากผ่านความเห็นชอบ สมาชิกทั้งสามจะไม่ได้รับเงินเดือนและไม่สามารถเข้าร่วมการอภิปรายงบประมาณประจำปีในสัปดาห์หน้า
พรรค Te Pāti Māori แถลงผ่านโซเชียลมีเดียว่า การลงโทษดังกล่าวเป็น “บทลงโทษที่หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา” และเป็นการส่งสัญญาณจากอำนาจอาณานิคมเพื่อควบคุมผู้ต่อต้าน พร้อมระบุว่า “เมื่อชาวพื้นเมืองลุกขึ้นต่อต้าน รัฐก็พร้อมจะตอบโต้อย่างเต็มที่”
ขณะที่พรรคแรงงาน (Labour) เห็นว่าการกระทำของทั้งสามถือเป็นการดูหมิ่นสภาจริง แต่เห็นว่าการพักงานนานหลายวันถือว่า “รุนแรงเกินไป” ควรแค่ 1-2 วันเท่านั้น ส่วนพรรคกรีน (Green) คัดค้านการพักงานโดยสิ้นเชิง โดยมองว่าบทลงโทษ “เกินกว่าเหตุ” และกังวลว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งของพรรค Te Pāti Māori จะไม่มีตัวแทนในสภาระหว่างช่วงอภิปรายงบประมาณ
อย่างไรก็ดี ทั้งสาม ส.ส. ยืนยันว่าการแสดงฮากาในวันนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเพื่อปกป้องสิทธิของชาวเมารี โดย งาเรวา แพคเกอร์ กล่าวในรายงานว่า “ในที่ประชุมซึ่งกำลังตัดสินอนาคตและสิทธิของพวกเราในฐานะชาวพื้นเมือง ฮากาคือหนทางเดียวที่เราจะใช้เพื่อตอบโต้แทนคนของเราหลายแสนชีวิตที่กำลังได้รับผลกระทบ”
ขอบคุณข้อมูลจาก : theguardian
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี