3 ก.ค. 2568 ยังคงต้องติดตามกันต่อไปกับสถานการณ์ของกัมพูชา ซึ่งนอกจากจะมีความขัดแย้งในประเด็นเส้นเขตแดนกับไทยแล้ว นานาชาติยังเพ่งเล็งในฐานะศูนย์กลางอาชญากรรมการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับการฉ้อโกงทางคมนาคม หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่เผยแพร่ในเดือน เม.ย. 2568 และรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ที่เผยแพร่ในเดือน มิ.ย. ปีเดียวกัน ชี้ว่า กัมพูชาล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงอาจมีบุคคลในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์จากอาชญากรรมนี้ด้วย
รวมไปถึงสำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ ที่เผยแพร่สารคดีเชิงข่าว เมื่อเดือน พ.ค. 2568 ในตอนหนึ่งอ้างถึงคลิปเสียงที่ระบุว่าเป็นเสียงของ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และอดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา สั่งการให้ประสานกับเครือข่ายของตนที่ฝังตัวอยู่ในประเทศไทย จัดการกับชาวกัมพูชาที่เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งสารคดีดังกล่าวเผยแพร่หลังจากที่ ลิม กิมยา อดีตนักการเมืองฝ่ายค้านชาวกัมพูชา ถูกลอบสังหารในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ในเดือน ม.ค. ปีเดียวกัน
ล่าสุดมีรายงานว่า เพจ CSI LA โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า ฮิง บุน เหียง รองผู้บัญชาการกองทัพ และหัวหน้าหน่วยอารักขาครอบครัว ฮุน เซน และ ฮุย พิเซธ รัฐมนตรีช่วยกลาโหม และรองหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของ ฮุน มาเนต ลูกชายฮุน เซน เป็นบุคคลที่ถูกทางการฝรั่งเศสออกหมายจับในปี 2564 และในวันที่ 12 มี.ค. 2568 ศาลฝรั่งเศสเปิดการไต่สวน ในคดีระเบิดกลางกรุงพนมเปญเมื่อปี 2540 ซึ่งทั้ง 2 คน ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง
รายงานของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (Congress) เรื่อง “THE MARCH 30, 1997 GRENADE ATTACK IN CAMBODIA” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สหรัฐฯ เผยแพร่ในเดือน ต.ค. 2542 บรรยายภูมิหลังก่อนเกิดเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าวไว้ดังนี้ (หน้า 1 – 3) ..
วันที่ 30 มี.ค. 2540 เกิดเหตุระเบิดในการชุมนุมทางการเมืองที่จัดโดย สม รังสี นักการเมืองฝ่ายค้านของกัมพูชา ไม่นานหลังจากการชุมนุมเริ่มขึ้น โดยเวลาประมาณ 08.30 น. คนร้ายไม่ทราบชื่อได้ขว้างระเบิดมือ 4 ลูกใส่ฝูงชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 รายและบาดเจ็บกว่า 150 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้การ์ดของ สม รังสี เสียชีวิตด้วย ในขณะที่ตัวของ สม รังสี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายการโจมตีครั้งนี้ ไม่ได้รับอันตราย อีกทั้งยังมีพลเมืองสหรัฐฯ คือ รอน แอบนีย์ ชาวเมืองโคชราน มลรัฐจอร์เจีย ที่เดินทางไปกับสม รังสี ได้รับบาดเจ็บ
หลังเกิดเหตุ สม รังสี กล่าวหา ฮุน เซน ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของกัมพูชา ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ ฮุน เซน ในตอนแรกกล่าวว่าเป็นฝีมือกลุ่มเขมรแดง แต่หลังจากนั้นก็หันมากล่าวหา สม รังสี ว่าเป็นผู้จัดฉากเรื่องนี้ขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่รัฐบาลกัมพูชามีคำเชิญ ประกอบกับมีพลเมืองสหรัฐฯ ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) จึงได้เข้าไปร่วมสืบสวนคดีนี้ด้วย
จนถึงปัจจุบัน (ปี 2542 ที่รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่) ยังไม่มีใครได้รับความยุติธรรมสำหรับอาชญากรรมนี้ ผู้ที่ขว้างระเบิดมือจริงยังคงไม่สามารถระบุตัวตนได้ รวมถึงผู้วางแผนหลักด้วย อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดทำรายงานเชื่อว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ฮุน เซน และกองกำลังคุ้มกันของเขาอยู่เบื้องหลังเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าว
ในวันที่ 30 มี.ค. 2540 ที่เกิดเหตุการณ์โจมตีด้วยระเบิดใส่ฝูงชน กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลผสม โดยมีอำนาจร่วมกันระหว่างพรรค CPP ซึ่งนำโดย ฮุน เซน และพรรค FUNCINPEC ซึ่งนำโดย สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ โดยสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และ ฮุน เซน เป็นนายกฯ คนที่ 2 นอกจากนั้นยังมีพรรค Son Sann ร่วมอยู่ในรัฐบาลผสมด้วยอีกพรรคหนึ่ง
นั่นคือข้อมูลเอกสารลายลักษณ์อักษร แต่ในทางปฏิบัติ พรรค CPP ของฮุน เซน คือผู้มีอำนาจที่แท้จริงในกัมพูชา โดยพรรค CPP นั้น แยกตัวออกมาจากพรรค KRP ที่ก่อตั้งโดยเวียดนามซึ่งยกกองทัพเข้าปกครองกัมพูชาตลอดทศวรรษที่ 1980 (ปี 2523 – 2532) ให้เป็นรัฐบาลหุ่นเชิด โดยมีกองกำลังติดอาวุธของชาวกัมพูชาที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ชาวกัมพูชาที่เรียกร้องประชาธิปไตย และแนวร่วมกลุ่มเขมรแดงเป็นฝ่ายต่อต้าน กระทั่งในปี 2532 เวียดนามได้ถอนกำลังออกไปจากกัมพูชา และปล่อยให้พรรค CPP ปกครองประเทศแทนโดยลำพัง
ในปี 2534 รัฐบาลฮุนเซนและฝ่ายค้านได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีส ซึ่งปูทางไปสู่การเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติในปี 2536 ซึ่งสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ จากพรรค FUNCINPEC และพันธมิตรได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 62 แต่ฮุน เซน ปฏิเสธที่จะยอมลงจากอำนาจ แม้พรรค CPP จะพ่ายแพ้ ได้รับคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 38 และขู่ว่าจะใช้การควบคุมกองทัพเพื่อก่อสงครามกลางเมือง สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ จึงต้องยอมจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับฮุน เซน
รายงานของรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่า ฮุน เซน มีกองกำลังองครักษ์มากถึง 2,500 คน ซึ่งกองกำลังกลุ่มนี้มีชื่อเสียงมานานแล้วในเรื่องความก้าวร้าวรุนแรง และการไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ ขณะที่บทบาทของ สม รังสี ขณะนั้นยังเป็นสมาชิกพรรค FUNCINPEC ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แต่การเคลื่อนไหวอย่างดุเดือดในความพยายามแก้ไขปัญหาการทุจริตในกัมพูชา ทำให้มีปัญหากับทั้งฮุน เซน และสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ จนถูกขับออกจากพรรค FUNCINPEC และจากตำแหน่งในรัฐบาล จึงหันไปเคลื่อนไหวในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้าน ด้วยการตั้งพรรค KNP
วันที่ 4 ก.ค. 2540 หรือ 3 เดือนเศษหลังเหตุระเบิด ฮุน เซน ใช้กำลังยึดอำนาจการปกครอง สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และพรรค FUNCINPEC ถูกขับออกจากการเป็นรัฐบาลผสม สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ต้องหลบหนีไปต่างประเทศ ขณะที่สมาชิกพรรค FUNCINPEC กว่า 100 ราย ถูกสังหารโดยกองกำลังของฮุน เซน กระทั่งในปี 2541 ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นคนกลาง ทำให้สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ รวมถึงสม รังสี ได้เดินทางกลับกัมพูชาเพื่อจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อถกเถียงถึงผลการเลือกตั้งนานถึง 4 เดือน จนวันที่ 13 พ.ย. 2541 จึงได้ข้อสรุป โดยฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรี สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ เป็นประธานรัฐสภา ส่วนสม รังสี เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
รายงานดังกล่าวอ้างผลการสอบสวนของ FBI ที่ให้ข้อสรุปดังนี้ (หน้า 3 – 6)
1.ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการชุมนุมตกอยู่ที่กองกำลังตำรวจเทศบาลกรุงพนมเปญ (PPMPF) ในเวลานั้น กองกำลังตำรวจเทศบาลกรุงพนมเปญมีนาย Mok Chito หลานชายของฮุน เซนเป็นหัวหน้า
2.มีตำรวจปรากฏตัวในการชุมนุมเพียงเล็กน้อยผิดปกติก่อนการชุมนุมจะเริ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Mok Chito ซึ่งถูกถ่ายวิดีโอได้ขณะเกิดเหตุ
3.หลังจากสัญญาณที่ดูเหมือนจะเป็นการจัดเตรียมล่วงหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงถอนกำลังออกจากที่เกิดเหตุ และหมู่ทหารคุ้มกันของ ฮุน เซน 4 หมู่ (กองพันที่ 2 กรมที่ 17 หรือหน่วยที่ 2) ก็เคลื่อนพลไปประจำตำแหน่งตามแนวเส้นตรงตามแนวเขตด้านตะวันตกของสวนสาธารณะที่จัดการชุมนุม
4.หน่วยทหาร เช่น กองกำลังคุ้มกัน มักไม่ได้ถูกส่งไปในการชุมนุมทางการเมืองของพลเรือนในกัมพูชา และไม่ได้ถูกส่งไปในการชุมนุมของพรรค KNP ครั้งใดเลยจาก 14 ครั้งที่ผ่านมา
5.หลังจากที่คนร้ายขว้างระเบิดมือ คนร้ายอย่างน้อย 2 คนได้หลบหนีด้วยการเดินเท้า ผ่านแนวกองกำลังคุ้มกัน และมุ่งหน้าสู่ที่ตั้ง (Compound) ของพรรค CPP ที่อยู่ใกล้เคียง
6. เจ้าหน้าที่พรรค CPP และผู้นำกองกำลังคุ้มกันไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน อาทิ
- ผู้บัญชาการคณะกรรมการสอบสวน Teng Savon สมาชิกพรรค CPP ปฏิเสธที่จะให้ Mok Chito หัวหน้าตำรวจและหลานชายของ ฮุน เซน ให้ปากคำกับ FBI
- ผู้บัญชาการกองกำลังคุ้มกัน Huy Pised ปฏิเสธว่าไม่เห็นสิ่งใดในเช้าวันนั้น และ FBI อธิบายว่าเขาให้ความร่วมมือในการสอบสวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (moderately cooperative)
- พันตรี Chhin Savon ผู้บัญชาการกองกำลังคุ้มกันที่เกิดเหตุในการชุมนุม ปฏิเสธเช่นกันว่าไม่เห็นสิ่งใด และ FBI อธิบายว่าเขาไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน (uncooperative)
- รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของพรรค CPP Sar Kheng ปฏิเสธคำขอของ FBI ที่จะสัมภาษณ์ผู้ต้องสงสัยที่มีชื่อรหัสว่า “บราซิล”
7.หน่วยองครักษ์ที่ 2 รับคำสั่งจากฮุน เซน หรือ Huy Pised เท่านั้น (Pised กล่าวหลายครั้งว่า เขาได้รับคำสั่งให้ส่งกำลังไป และครั้งหนึ่งเขากล่าวว่าคำสั่งนั้นมาจาก "คณะรัฐมนตรี" ของฮุน เซน)
ซึ่งแม้ข้อมูลข้างต้นยังไม่อาจสรุปได้ว่า ฮุน เซน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดวันที่ 30 มี.ค. 2540 แต่ก็มีข้อมูลอีกหลายอย่างที่สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าว
ต้เนเดือน มิ.ย. 2541 ปรากฏคลิปวีดีโอที่ชาย 2 คน คือ Chhay Vee และ Chom Bun Theun บันทึกไว้กับทีมงานพรรคการเมืองของสม รังสี โดยอ้างว่าพวกตนเกี่ยวข้องกับการโจมตีด้วยระเบิดดังกล่าว พร้อมพาดพิงถึง Him Bun Heang ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองกำลังคุ้มกัน ว่า ได้เสนอเงินว่าจ้างให้พวกตนร่วมการโจมตีสม รังสี และที่ต้องออกมาเปิกเผยก็เพราะกลัวว่ากองกำลังของฮุนเซนจะตามมาสังหารเพราะภารกิจล้มเหลว
ในเดือน ก.พ. 2542 คลิปวีดีโอดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ในพื้นที่ Capitol Hill (ที่ตั้งของอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ) โดยมีชาวอเมริกันเชื้อสายกัมพูชา 2 รายเป็นล่ามแปล ซึ่งล่ามทั้ง 2 ให้ความเห็นว่า Chhay Vee และ Chom Bun Theun น่าจะออกมาให้ข้อมูลเพราะรู้สึกหวาดกลัวอันตรายจริงๆ ต่อมามีการนำตัวทั้ง 2 ไปให้ข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UNCHR) ที่กรุงพนมเปญ นอกจากนั้นยังมีรายงานด้วยว่า วันที่ 4 มิ.ย. 2540 สม รังสี ได้พาทั้ง 2 ไปให้การกับทีมงานของ FBI ในกรุงเทพฯ ประเทศไทยด้วย และทั้งคู่ก็ยืนยันว่าเกี่ยวข้องจริง
ตามรายงานของ FBI ผู้ต้องสงสัยหลักในคดีนี้คือชายนิรนามที่มีชื่อรหัสว่า “บราซิล” โดยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในเดือน มิ.ย. 2540 บราซิลถูกควบคุมตัวโดยพลเอก Nhiek Bun Chhay จากพรรค FUNCINPEC ในช่วงเวลาดังกล่าว พลเอก Bun Chhay ได้บันทึกคลิปวิดีโอสัมภาษณ์บราซิล และได้ส่งสำเนาวิดีโอและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงพนมเปญ FBI ยืนยันว่าได้รับสำเนาวิดีโอและคำให้การที่อ้างว่าเป็นของบราซิล แต่ผู้ต้องสงสัยรายนี้ได้หลบหนีออกจากการควบคุมตัวเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2540 ซึ่งอาจอยู่ในช่วงความวุ่นวายของการรัฐประหารของฮุนเซน และไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใด
ตามรายงานของตำรวจกัมพูชาในเดือน พ.ค. 2540 เจ้าหน้าที่ FBI ผู้รับผิดชอบได้ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมว่าชายที่ขว้างระเบิดไม่ใช่คนธรรมดาแต่เป็นทหารของฮุน เซน เจ้าหน้าที่ได้อ้างอิงหลักฐานหลายชิ้น รวมถึงพยานที่เชื่อถือได้รายงานว่าผู้ขว้างระเบิดคนแรกมองไปที่ทหารองครักษ์ก่อนจะขว้างระเบิด องครักษ์ได้จัดกำลังเป็นแนวตรงเพื่อป้องกันที่ตั้งของพรรค CPP และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เปิดประตูเพื่อให้ผู้ก่อเหตุเข้าไป
FBI ปฏิเสธว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเคยให้คำกล่าวเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม รายงานของตำรวจกัมพูชาสอดคล้องกับรายงานของ นสพ. Washington Post เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2540 ซึ่งรายงานว่า รายงานเบื้องต้นของ FBI ซึ่งเป็นความลับยังชี้ตัวเจ้าหน้าที่คุ้มกันของฮุน เซนโดยอ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ 4 คนที่ทราบเนื้อหาในรายงาน ขณะที่รายงานของตำรวจกัมพูชาเต็มไปด้วยคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์ว่าผู้ก่อเหตุวิ่งเข้าไปในบริเวณที่ตั้งของพรรค CPP โดยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากกองกำลังคุ้มกันของฮุนเซน ซึ่งไม่เพียงแต่ปล่อยให้ผู้ก่อเหตุผ่านแนวไปได้เท่านั้น แต่ยังป้องกันไม่ให้ผู้สนับสนุนของสม รังสีไล่ตามผู้ก่อเหตุอีกด้วย
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าผู้ก่อเหตุ 2 คนอาจถูกผู้เกี่ยวข้องของฮุนเซนควบคุมตัวออกจากที่เกิดเหตุ ตามรายงานระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันเกิดเหตุ เฮลิคอปเตอร์ได้ลงจอดใกล้กับสวนสาธารณะ Chea Sim
ในกรุงพนมเปญ สวนสาธารณะดังกล่าวอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุระเบิดมาก มีรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นแลนด์ครุยเซอร์ หลายคันจอดรอเฮลิคอปเตอร์คันดังกล่าว โดยคันหนึ่งมี Him Bun Heang นั่งอยู่พร้อมกับชาย 2 คนซึ่งดูเหมือนเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่ง Him Bun Heang นี้เป็นคนที่พยายามควบคุมการพูดของ Huy Pised ระหว่างการให้ข้อมูลกับ FBI และเป็นคนเดียวกับที่ Chhay Vee และ Chom Bun Theun สารภาพว่าเป็นคนชักชวนพวกเขาให้เข้าร่วมในการโจมตีครั้งนี้
ข้อมูลข้างต้นเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ากองกำลังคุ้มกัน และฮุน เซนมีส่วนเกี่ยวข้องในการโจมตีด้วยระเบิดมือที่พุ่งเป้าไปที่สม รังสี หากไม่มีทฤษฎีทางเลือกที่น่าเชื่อถือ หลักฐานที่บ่งชี้ว่าฮุน เซนมีส่วนรู้เห็นก็มีมากมาย
(VOA Khmer) 30 มี.ค. 2554 ชายชาวกัมพูชากำลังดูภาพสถานที่เกิดเหตุของเหยื่อจากการโจมตีด้วยระเบิดมือเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2540 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยมีพิธีทางศาสนาพุทธในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีพระสงฆ์และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านในกัมพูชาเข้าร่วม เพื่อรำลึกเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าว
ในวันที่ 19 มี.ค. 2568 สถานีโทรทัศน์ France24 ของฝรั่งเศส รายงานข่าว France tries Cambodian ex-PM's guards over 1997 massacre ระบุว่า ทางการฝรั่งเศสเปิดการไต่สวนคดีการโจมตีด้วยระเบิดในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2540 โดยผู้ต้องสงสัย 2 ราย คือ Hing Bun Heang ซึ่งปัจจุบันอายุ 68 ปี และ Huy Piseth ซึ่งปัจจุบันอายุ 69 ปี ไม่ได้มาปรากฏตัวเพราะอยู่ในกัมพูชา ในยุคที่ ฮุน เซน ลงจากตำแหน่งนายกฯ ส่งไม้ต่อให้ ฮุน มาเนต บุตรชายขึ้นปกครองกัมพูชาแทน ซึ่งทางการฝรั่งเศสได้ออกหมายจับทั้งคู่เมื่อปี 2563 ในข้อหาพยายามฆ่า โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิตหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง
นี่เป็นอีกหนึ่ง “เรื่องอื้อฉาว” ที่โลกกำลังจับตามอง “รัฐบาลตระกูลฮุน” ผู้ปกครองกัมพูชามาหลายทศวรรษ!!!
อ่านรายงาน “THE MARCH 30, 1997 GRENADE ATTACK IN CAMBODIA” ฉบับเต็มได้ที่
https://www.govinfo.gov/content/pkg/CPRT-106SPRT59737/pdf/CPRT-106SPRT59737.pdf
อ้างอิง
https://www.france24.com/en/live-news/20250319-france-tries-cambodian-ex-pm-s-guards-over-1997-massacre France tries Cambodian ex-PM's guards over 1997 massacre
https://khmer.voanews.com/a/article-1997-grenade-attack-will-not-be-forgotten-sam-rainsy-145230675/1358218.html 1997 Grenade Attack Will Not Be Forgotten: Sam Rainsy
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/inter/892548 ‘ยูเอ็น’ยังกังวล! รายงานชี้‘กัมพูชา’หลายเมืองกลายเป็นแหล่งซ่องสุม'โจรออนไลน์'
https://www.naewna.com/inter/894584 ‘แอมเนสตี้’เปิดรายงาน‘กัมพูชา’ล้มเหลวแก้ปัญหา‘ค้ามนุษย์แก๊งคอลฯ’
https://www.naewna.com/inter/893173 ‘เพจดัง-สื่อนอก’แฉคลิป‘ฮุน เซน’สั่งจัดการชาวกัมพูชาฝ่ายต่อต้านที่เคลื่อนไหวในไทย
https://www.naewna.com/likesara/896231 เพจดังเปิดแผลเก่า! 2 นายพลบอดี้การ์ด'ฮุน เซน' ถูกศาลฝรั่งเศสฟ้องคดีสังหารหมู่ 1997 กลางกรุงพนมเปญ
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี