15 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางเว็บไซต์ ThePhnom Penh Post ที่มีผู้ติดจามบนเฟซบุ๊กว่า 1 ล้านคน ได้ออกมาโพสต์บทความของนักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสต์ชาวกัมพูชา 'ร็อธ สันติภาพ' (Roth Santepheap) ระบุว่า "คนไทยบางส่วนกล่าวหากัมพูชาว่าขโมย"ผลงานทางวัฒนธรรมของไทย ทั้งที่ผลงานเหล่านั้นมีอยู่ก่อนยุคอยุธยา"
เป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยรับบท "เหยื่อ" พร้อมกับลบประวัติศาสตร์การฉกฉวยทางวัฒนธรรมที่ทำมานานหลายศตวรรษอย่างง่ายดาย กระแสความไม่พอใจครั้งล่าสุดในโลกออนไลน์ของไทยต่อกรณีที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนวรรณกรรม 22 เรื่องที่เชื่อมโยงกับนาฏศิลป์ชั้นสูงของกัมพูชานั้น ไม่เพียงแต่เป็นความเข้าใจผิด แต่ยังเต็มไปด้วยความย้อนแย้งทางประวัติศาสตร์อย่างน่ารังเกียจ รายงานดังกล่าวยืนยันว่า กัมพูชาไม่ได้ขโมยมรดกทางวัฒนธรรมของไทย แต่ประเทศไทยต่างหากที่ได้รับประโยชน์จากประเพณี ตำรา และศิลปะของเขมรเป็นเวลาหลายศตวรรษ
กัมพูชาไม่ได้กำลังอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในวรรณกรรมของไทย แต่กำลังขึ้นทะเบียนวรรณกรรมดังกล่าวในฐานะผลงานที่ถูกแสดงและสืบทอดภายใต้กรอบของนาฏศิลป์ราชสำนักและมรดกทางการละครของตนเองอย่างชอบธรรม ซึ่งเป็นประเพณีที่เคยหยุดชะงักไปเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2545 การแสดงเหล่านี้ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ แต่เป็นการตีความตามเอกลักษณ์ของกัมพูชา ซึ่งมีรากฐานมาจากการปฏิบัติที่เก่าแก่หลายศตวรรษ และมีมาก่อนที่ราชสำนักไทยจะนำไปดัดแปลง
นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสต์ชาวกัมพูชา ยังระบุต่ออีกว่า ว่า สิ่งที่ประเทศไทยเรียกว่า 'ความเป็นไทย' ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม รูปแบบการร่ายรำ หรือมหากาพย์วรรณกรรม ล้วนมีต้นกำเนิดหรือได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากจักรวรรดิขอมโบราณ ซึ่งเคยแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่ออยุธยาเรืองอำนาจขึ้นมา ก็ได้ซึมซับวัฒนธรรมเหล่านี้ไป และเมื่ออำนาจของจักรวรรดิขอมอ่อนแอลง ไม่ใช่แค่ดินแดนที่ถูกยึดไป แต่ยังเป็นวัฒนธรรมที่ถูกฉกฉวยไปด้วย
โดยบทความดังกล่าวยังอ้างต่ออีกว่า วรรณกรรมเรื่อง'รามเกียรติ์' ที่ไทยระบุว่าดัดแปลงมาจากรามายณะของอินเดียนั้น แท้จริงแล้วได้รับการถ่ายทอดผ่านทางราชสำนักขอม เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่อง 'อิเหนา' และ 'อุณรุท' ที่ไม่ใช่ของไทยแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกัมพูชาก็มีฉบับของตนเองที่ถูกนำมาแสดงและปรับให้เข้ากับท้องถิ่นมานานก่อนของไทย
ซึ่งไทยเคยปล้นสะดมวัดวาอารามของขอม ขโมยคัมภีร์ใบลาน และฉกฉวยเอาประเพณีต่างๆ ไปเป็นของตน แม้แต่กรมศิลปากรของไทย ที่วันนี้ได้รับมอบหมายให้ ตรวจสอบ การขึ้นทะเบียนของกัมพูชา ก็ตั้งอยู่บนมรดกแห่งการฉกฉวยทางวัฒนธรรมอันยาวนานนี้เช่นกัน เมื่อกัมพูชายื่นเอกสารต่อยูเนสโกเพื่ออนุรักษ์ประเพณีการแสดงวรรณกรรมภายในขอบเขตวัฒนธรรมของตน ไทยกลับมาร้องโวยวายว่าถูกขโมย จริงๆ แล้วประเทศไทยไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นขโมยที่เรียกร้องให้คนอื่นมองว่าตนเป็นเจ้าของต่างหาก "กัมพูชามีสิทธิ์ทุกประการที่จะฟื้นฟูและขึ้นทะเบียนศิลปะ นาฏศิลป์ และละครของตนเอง และยืนยันว่ากัมพูชาไม่ได้กำลังขโมยวัฒนธรรมของไทย"
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี