เมื่อสุนัขมีอาการคัน เกา ผิวหนังแดง อักเสบ ขนร่วง มีสะเก็ดรังแค มีกลิ่นเหม็น หรือเมื่อมองเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นที่ผิวหนังแล้ว เจ้าของสัตว์หลายท่านมักจะสรุป (ไปเอง) ทันทีเลยว่า “เป็นขี้เรื้อน” ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นเลยครับ
แม้ว่า “ขี้เรื้อน” ก็เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจาก “ตัวไรขี้เรื้อน” แต่เมื่อได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ความเชื่อที่ว่า การเอาน้ำมันขี้โล้ว (น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว) มาทาผิวหนังสุนัขเพื่อรักษาขี้เรื้อนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ “ผิด” อย่างมหันต์เลยครับ เพราะนอกจะจะแสบอย่างแสนทรมานแล้ว ยังเป็นการเติม “สารตะกั่ว” และ “โลหะหนักที่อันตราย” ผ่านทางบาดแผลเข้าร่างกายสุนัขอีกด้วย
บางคนบอกว่าให้เอา “น้ำแช่หน่อไม้ดอง” มาราดตัวสุนัขเพื่อรักษาขี้เรื้อน (อันนี้ยังดูธรรมชาติบำบัดมากกว่า และดูอันตรายน้อยกว่า) แต่น้ำหน่อไม้ดองนั้น ไม่ได้ฆ่าตัวไรขี้เรื้อนครับ เพียงแต่ในน้ำหน่อไม้ดองจะมีแร่ธาตุกำมะถัน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เล็กน้อย แต่ยังไงก็ไม่คุ้มกับความ “แสบ” ที่สุนัขได้รับหรอกครับ ลองจินตนาการดูว่า เวลาเรามีแผลหรือรอยถลอกจากน้ำร้อนลวก จนผิวหนังแดง แฉะ แล้วเอาทิงเจอร์ราดลงไป จะรู้สึกอย่างไร ผมคนนึงล่ะ..ที่ไม่เอาด้วยแน่ครับ
ปัญหาโรคผิวหนังนั้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนัขมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตเสียไป เนื่องจาก ต้องคอยหมกมุ่นกับการเกาอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจที่จะกินอาหาร หรือทำกิจกรรมอื่นเท่าไหร่ บางครั้งผิวหนังที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย จะทำให้มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นเหตุให้คนที่พบเห็นและได้กลิ่นมีท่าทาง “รังเกียจ” ปัญหาเหล่านี้จึงทำให้เจ้าของสุนัขก็ต้องกุมขมับและปวดศีรษะอยู่ไม่น้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “โรคผิวหนัง” ในสุนัข ไม่ได้เกิดจาก “ไรขี้เรื้อน” เพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ มีหลายสาเหตุและหลายชนิดอีกด้วย แม้จะมีอาการที่แสดงออกคล้ายกัน แต่จะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งการรักษาที่ใช้ก็จะแตกต่างกัน “อย่างสิ้นเชิง” เช่นกันครับ
ในตอนนี้ ผมจะพูดโปรยคร่าวๆถึง สาเหตุ อาการ การรักษาและการป้องกันโรคผิวหนังแต่ละชนิดแบบรวมๆ กันก่อน แล้วจะเจาะลึกลงไปในแต่ละโรคต่อไปครับ
ปัญหาโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยๆ ในบ้านเรา ได้แก่
1. ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากปรสิตภายนอกขนาดใหญ่ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น เห็บ หมัด และเหา พยาธิภายนอกเหล่านี้จะกัดผิวหนัง กินเลือดและสะเก็ดที่ผิวหนัง ทำให้เกิด การคัน การแพ้ รวมถึงเป็นตัวนำพยาธิในเม็ดเลือดอีกด้วย
2. ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากปรสิตภายนอกขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกไร ซึ่งได้แก่ ไรขี้เรื้อน (ทั้งขี้เรือนเปียกและขี้เรื้อนแห้ง) ไรในหู ซึ่งจะทำให้สุนัขคันมาก และสลัดหูจนอาจทำให้เกิดถุงเลือดขังที่ใบหู (Aural hematoma) ซึ่งจะเห็นว่าใบหูบวมเป่ง เดินหัวเอียง บางครั้งอาจมีอาการชักเกร็งด้วย
3. ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย ซึ่งโรคผิวหนังจากเชื้อรานั้น เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าช่วงนั้น ผิวหนังของคนที่สัมผัสมีสภาพออนแอ ก็จะเป็นโรคที่สามารถติดต่อถึงคนได้ครับ ส่วนโรคผิวหนังจากยีสต์นั้น มักพบในสุนัขที่มีผิวหนังอับชื้น มักมีการอักเสบของต่อมไขมันที่ผิวหนัง รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนด้วย ทำให้สุนัขมีกลิ่นตัวแรง
4. ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) สุนัขที่เป็นโรคนี้จะมีปฏิกิริยาตอบสนอง “ไว”ต่อสิงที่สัมผัสหรือสิ่งที่แพ้เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น แพ้อาหาร แพ้ฝุ่นละออก เกสรดอกไม้ โดยปกติจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาจต้องกินยาช่วยลดการแพ้ไปตลอดชีวิต เพียงแต่ปริมาณยาที่ใช้ในการควบคุมจะไม่มากเท่าในช่วงแรกของการรักษา
5. โรคผิวหนังที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน สาเหตุนี้มักจะทำให้เกิดอาการขนร่วงแต่มักไม่มีอาการคัน และมักไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จึงมักไม่มีกลิ่นเหม็น มักจะเกิดในสุนัขอายุมาก หรือตัวที่ทำหมันแล้ว เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ครับ
6. สาเหตุอื่นๆ เช่นการขาดสารอาหารและแร่ธาตุบางประเภท เช่น แร่ธาตุสังกะสี และกรดไขมันบางชนิด เช่น omega-3 และ omega-6 เป็นต้น
ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังนั้น อาจอยู่ในรูปแบบของยากิน ยาฉีด ยาทาที่มีลักษณะเป็นครีม/ขี้ผึ้ง ยาสำหรับแช่ตัวสัตว์ แล้วแต่กรณี ซึ่งรวมไปถึงแชมพูรักษาผิวหนังที่ใช้ก็มีความสำคัญ เช่น แชมพูกำจัดเห็บ-หมัด แชมพูฆ่าเชื้อรา/ยีสท์/แบคทีเรีย หรือแชมพูที่ช่วยลดการระคายเคืองผิวหนัง
สิ่งที่สำคัญในการการรักษาโรคผิวหนังนั้น คือการวินิจฉัยให้ทราบถึงสาเหตุ “ที่แท้จริง” ของการเกิดโรค และการใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เหมาะสมและตรงกับโรค เนื่องจากอาการที่สัตว์แสดงนั้นอาจคล้ายกัน แต่เกิดจากคนละสาเหตุ การรักษาจึงแตกต่างกัน ดังนั้น การพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วย จึงน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องและเหมาสมที่สุดครับ อย่ารอ หรือ ลองรักษาเอง จนทำให้มีอาการมากจนเกินจะเยียวยานะครับ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี