กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ร่วมเปิดโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะเหล็กเกินเอ็กซ์แพป (EXPAP) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาขับเหล็ก Deferasirox ได้มากขึ้น
รศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศแรกที่เริ่มดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะเหล็กเกินเอ็กซ์แพป (EXPAP) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีภาวะเหล็กเกินให้สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาขับเหล็ก Deferasirox ซึ่งจะเป็นประโยชน์และส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ตลอดจนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีภาวะเหล็กเกิน โดยโครงการนี้เกิดขึ้นได้จากความอนุเคราะห์จากกรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กระทรวงสาธารณสุข ในการนำเข้ายาบริจาคที่ใช้ในโครงการและกรรมการจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ได้วางนโยบาย ในการควบคุมการใช้ยาดังกล่าวให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ เลขานุการมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยปัจจุบันทางมูลนิธิฯได้จัดการอบรมผู้ดูแลโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะเหล็กเกินเอ็กซ์แพป (EXPAP) ในระดับโรงพยาบาล เพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการและขั้นตอนการดำเนินการให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายรวมทั้งหมด 56 แห่ง และมีคนไข้อยู่ภายใต้การดูแลรวมกว่า 600 คน ที่จะได้รับยาขับเหล็ก Deferasirox ในรูปแบบการสนับสนุนร่วมกัน (Share Contribution Model) ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้สิทธิบัตรประกันสังคม บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค
รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต กรรมการมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ที่มีภาวะเหล็กเกิน ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อย หรือผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6-10 ปี โดยปกติคนไข้กลุ่มนี้ จะได้รับยาฉีดที่ชื่อว่า เดสเฟอรอล (desferal) ซึ่งมีความยุ่งยากในการบริหารยา เพราะต้องฉีดยาทุกๆ 8-12 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 5-7 วันต่อสัปดาห์ ผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่สามารถ ฉีดยาเดสเฟอรอลได้ก็น่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ EXPAP สำหรับกลุ่มคนไข้ธาลัสซีเมียที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป ส่วนมากจะได้รับยาขับเหล็กดีเฟอริโพรน (deferiprone) ซึ่งเป็นยาชนิดรับประทานที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาดังกล่าวทำให้มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่มีทางออก หรือไม่มีทางเลือกในการใช้ยาขับเหล็ก ผู้ป่วยเหล่านี้นี่เองจึงไม่สามารถเข้าถึงยาขับเหล็ก และได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาขับเหล็กที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียเหล่านี้ ซึ่งควรจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยภาวะแทรกซ้อนทางตับ หัวใจ และต่อมไร้ท่อจากภาวะเหล็กเกินที่เกิดขึ้น
นับได้ว่าโครงการ EXPAP เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงยา รวมทั้งการมีโครงการ EXPAP ยังส่งผลทำให้ราคายาขับเหล็ก Deferasirox ลดลงไปมากกว่า 75% และถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาขับเหล็กเดสเฟอรอล (desferal) ชนิดฉีด ที่เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักของประเทศ นับว่าเป็นโอกาสดี ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียสามารถเข้าถึงยาขับเหล็กได้มากขึ้น และได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน ขณะที่องค์กรผู้กำหนดงบประมาณ ต่างๆ ก็มีโอกาสบริหารจัดการ การใช้งบประมาณในการซื้อยา สามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ยาได้อีกทางหนึ่งด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี