รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์, รศ.นพ.โศภณ นภาธร และ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ พร้อมทีมแพทย์พยาบาล ตัดริบบิ้นเปิดศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ
ศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยร่วมกับ รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ม หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เป็นประธานเปิด “ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ” (Chula Refractive Surgery Center) พร้อมเปิดตัวและสาธิตแนะนำ “เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์” (Femtosecond Laser) เพื่อการรักษาด้วยวิธี Femto LASIK, ReLEx (Refractive Lenticule Extraction), SMILE (Small Incision Lenticule Extraction) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการบริการด้าน การแก้ไขสายตาผิดปกติของสายตาชนิดต่างๆ ที่จะให้บริการอย่างปลอดภัย ทันสมัย ครบวงจร อีกทั้ง ยังจะเป็นศูนย์การเรียนการสอนที่ครบถ้วนและล้ำสมัย
รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ กล่าวว่าศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ ที่ได้ปรับปรุงใหม่นี้ได้ดำเนินการติดตั้ง เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ (Femtosecond Laser) เพื่อการรักษาด้วยวิธี Femto LASIK, ReLEx, SMILE รวมทั้งยังมีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถปรับแต่งเนื้อเยื่อกระจกตาภายใน โดยไม่ต้องเปิดฝากระจกตา (เหมือนวิธี LASIK) นับเป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีใหม่และทันสมัย สามารถใช้ผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ ด้วยวิธี LASIK ให้ผลดียิ่งขึ้น มีการฟื้นตัวของการมองเห็นรวดเร็วขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดเปิดฝากระจกตาด้วยใบมีด และยังสามารถผ่าตัดแก้ไขสายตาโดยไม่ต้องเปิดฝากระจกตา (Small Incision Lenticule Extraction : SMILE) ทำให้ภายหลังการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยจะมีภาวะแทรกซ้อนลดลง มีการฟื้นตัวของการมองเห็นดีขึ้นกว่าแบบเปิดฝากระจกตา หรือ LASIK และนอกเหนือจากการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติแล้ว เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ เครื่องนี้ ยังสามารถสร้างช่องเพื่อใส่วงแหวนปรับรูปกระจกตา ในผู้ป่วยโรคกระจกตาโก่ง และสายตาเอียงผิดปกติ ซึ่งพบมากภายหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา
รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์ฯ นำชมความพร้อมการให้บริการ
“ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาแห่งแรกในประเทศไทย และยังนับเป็นโรงพยาบาลที่มีการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตามากที่สุดในประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ได้ร่วมมือประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทยดังนั้น การผ่าตัดใส่วงแหวนปรับรูปกระจกตาในผู้ป่วยสายตาเอียงผิดปกติ ภายหลังการปลูกถ่ายกระจกตา จึงทำให้ฝ่ายจักษุวิทยาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สามารถรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ ยังสามารถใช้ในการสร้างช่องสำหรับใส่เลนส์ปรับระยะการมองเห็น ในผู้ป่วยที่มี ภาวะสายตายาวตามอายุ(presbyopia) ทดแทนการใช้แว่นมองใกล้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไป”
ทั้งนี้ การพัฒนาปรับปรุงศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ ให้มี “ความทันสมัย สะดวกสบาย ครบวงจร” ก็เพื่อประโยชน์ในการให้บริการรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยศูนย์ฯ ยังได้วางแผนสร้างระบบประสานงานการส่งต่อผู้ป่วย ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยต่างชาติเดินทางเข้ารับการรักษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากด้วย โดยศูนย์ฯ เปิดให้บริการที่ ตึก 14 ชั้นล่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ ในเวลาราชการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. นอกเวลาราชการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 16.00-20.00 น. และ วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 08.00-12.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-6494041
สาธิตการทำงานเครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี