อาการเลือดกำเดาไหล เป็นอาการที่เกิดได้ในทุกวัยตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งสาเหตุการเกิดอาการของแต่ละคนแตกต่างกันไป ในบางรายปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็สามารถช่วยให้หายได้ แต่ในบางรายอาการดังกล่าวสามารถบ่งชี้ความผิดปกติของร่างกายและโรคที่ซ่อนอยู่ได้
วันนี้เราจึงมี 7 สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหล พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น มานำเสนอ เพื่อให้คุณได้มีความเข้าใจโรคเพิ่มขึ้นและรู้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง
1. สั่งน้ำมูกแรง-อาการอักเสบต่าง ๆ
อาการดังกล่าวอาจเกิดจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตก ด้วยการสั่งน้ำมูกที่รุนแรง หรืออาการอักเสบต่างๆ รวมไปถึง การแคะจมูก ขยี้จมูกแรงๆ หรือการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ขณะนั่งเครื่องบินหรือดำน้ำ ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ง่ายกว่าปกติ
2. ปัญหาสุขภาพ
American Heart Association เผยว่า หากอาการเลือดกำเดาไหลของคุณมาพร้อมกับอาการปวดหัว หนักหัวเป็นอย่างมาก หายใจถี่ สั้น และมีอาการใจสั่น อาจบ่งชี้ภาวะโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินเลือดอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ เพราะภาวะของโรคเหล่านี้อาจทำให้เกิดความดันเลือดสูงเกินกว่าปกติ จนเลือดไหลออกมาทางจมูกเพื่อลดความดันลง ซึ่งอาการเลือดกำเดาไหลแบบนี้ไม่ควรไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงอาการของโรคที่กำลังเป็นอยู่กำลังกำเริบนั่นเอง
3. อากาศแห้ง
อากาศที่แห้งจนเกินไปอาจทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกเปราะและแตกได้ จึงทำให้เลือดกำเดาไหล ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ด้วยการเพิ่มความชื้นในอากาศ โดยในเวลานอนหลับให้นำถ้วยน้ำไปวางข้างๆ เตียง หรือจะเป็นวิธีดูแลสุขภาพตนเองด้วยการทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ มะขามป้อม สับปะรด ฯ เป็นประจำ จะช่วยเพิ่มสุขภาพดีและป้องกันเลือดกำเดาไหลได้
4. ฤทธิ์ยาบางชนิด
โดยเฉพาะยาลดการจับตัวของเลือด (blood-thinning) เช่น แอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเลือดกำเดาไหลได้เนื่องจากตัวยาอาจลดประสิทธิภาพการจับตัวของเลือด ทำให้เลือดไหลออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น จนทำให้เกิดอาการเลือดกำเดาไหลนั่นเอง
5. ผนังกั้นช่องจมูกคด โค้งงอ หรือเป็นสันแหลม
อาการนี้สังเกตได้ว่าเลือดกำเดาจะไหลแค่ข้างเดียว และมักจะเป็นที่ข้างเดิม เนื่องจากผนังกั้นช่องจมูกที่แคบ จะมีลมหายใจหรืออากาศเข้า-ออก มากกว่าและเร็วกว่า ทำให้เยื่อบุจมูกแห้งกว่าอีกข้าง จนทำให้เกิดสะเก็ดและมีเลือดออกได้ง่าย
6. เนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก
เนื้องอกที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งเนื้อร้ายและเนื้อที่ไม่ร้าย แต่ที่เลือดกำเดาไหลก็เพราะเมื่อร่างกายมีเนื้องอกขึ้นมา เลือดจะมาหล่อเลี้ยงเนื้องอกนั้น ๆ จำนวนมาก และอาจทำให้เลือดออกมาทางจมูกได้ ดังนั้นหากมีเลือดกำเดาแบบเป็นๆ หายๆ ปริมาณเลือดกำเดาที่ไหลมากกว่าปกติ น้ำหนักตัวลด มีก้อนที่คอ เสียงแหบนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือรู้สึกคัดจมูกเรื้อรัง ควรรีบไปส่องกล้องเพื่อตรวจโพรงจมูกจะดีที่สุด
7. ความผิดปกติของหลอดเลือด
เลือดกำเดาไหลอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูก เช่น ภาวะเส้นเลือดโป่งพอง เส้นเลือดแดงผิดปกติจากอุบัติเหตุที่มีการกระทบกระเทือนมาถึงโพรงจมูกเป็นต้น
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. นั่งโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้เลือดกำเดาไหลออกมา ไม่ควรนั่งแหงนหน้าไปด้านหลัง เพราะจะทำให้เลือดไหลลงคอ และอาจเกิดการสำลักได้
2. ใช้นิ้วมือบีบบริเวณที่สูงขึ้นเลยปลายจมูกขึ้นมาเล็กน้อย ควรบีบไว้ตลอดเวลาประมาณ 6-10 นาที ระหว่างนั้นให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทน
3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบที่บริเวณจมูก ความเย็นจะช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว กระตุ้นให้เลือดหยุดเร็วขึ้น หรืออาจใช้ผ้ากอซ ม้วนเป็นชิ้นเล็ก แล้วใส่ในโพรงจมูกเพื่อกดตำแหน่งที่เส้นเลือดเปราะบางแต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเลือดกำเดาที่ไม่เป็นอันตราย เลือดจะหยุดไหลเองประมาณ 5 นาที
4. ในกรณีที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วแต่เลือดยังไม่หยุดไหล ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ที่มา : healthkapook
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี