นอกจากจะเป็นนักบริหารแล้ว “วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์” ทายาทรุ่นที่ 3 เจ้าของธุรกิจ “เถ้าฮงไถ่” ยังเป็นอาจารย์ นักออกแบบ และนักพัฒนาอีกด้วย รายการ “ผู้หญิงแนวหน้ากับคุณแหน” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางสถานี TNN2 ช่อง 784 ช่วง Focus On พิธีกร “ขิม-ทิพย์ลดา พูนศิริวงศ์” ได้เดินทางพูดคุยกับอาจารย์ถึงโรงงานในจังหวัดราชบุรี
อาจารย์วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์เล่าว่า “ประวัติของโรงงานตั้งแต่ปี 2476 อากงเป็นชาวจีนอพยพโพ้นทะเล มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทยช่วงแรก แล้วก็เห็นว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุการจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ เพื่อทดแทนการนำเข้า ก็เลยตั้งเป็นโรงงานผลิตโอ่งมังกรแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี ซึ่งนั่นก็เป็นประวัติที่มาของ เถ้าฮงไถ่
มาถึงเจนเนอเรชั่นที่ 3 คือ รุ่นผมผมเกิดและก็เติบโตอยู่ในโรงงาน ก็ได้เห็นสิ่งที่อากงทำ พ่อแม่ทำมาตลอด แต่เด็กๆ ก็รู้สึกอย่างเดียวว่ามันเป็นงานที่หนักมาก รู้สึกว่าไม่ชอบไม่ชอบสิ่งที่อากงทำ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอมาในความรู้สึกของเราที่ว่า ความรู้สึกผูกพันกับสถานที่นี้อย่างมาก ตอนเด็กๆ ก็คิดมาตลอดว่าไม่รู้โตขึ้นเราจะเรียนอะไรจบมาก็แล้วแต่ก็อยากจะมาทำที่นี่ต่อ เพราะเสียดายสิ่งที่อากงทำและพ่อแม่ทำมาก
จนวันหนึ่งคุณพ่อก็ส่งไปเรียนต่อที่เยอรมนี และช่วงเวลาที่อยู่ที่โน่นก็ทำให้เรียนรู้ว่าสิ่งที่อากงทำมา พ่อแม่ทำมา เป็นแค่รูปแบบหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปได้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา หลังจากนั้นเราก็เจอหนทางของตัวเอง เจอรูปแบบที่ตัวเองชอบ และก็เจอสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำต่อ ก็เลยกลายเป็นว่าแทนที่จะแค่มาสานต่อกิจการของครอบครัว เพราะรู้สึกเสียดาย กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันก็โชคดีที่ได้สานต่อกิจการของครอบครัวและทำด้วยความสนุกด้วย
จากยุคนั้นมาถึงยุคนี้ การพัฒนาทางธุรกิจของที่โรงงานก็มีความต่อเนื่องมาตลอดยุคอากงเราทำโอ่งขึ้นมาเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ คือ ประเทศจีน แล้วความต้องการในตลาดในช่วงเวลานั้นก็ค่อนข้างจะสูง และยังไม่เพียงพอ พอเรามาผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าได้ก็เป็นทางเลือก และเป็นทางออกในรูปแบบในสมัยนั้น
แต่พอรุ่นคุณพ่อ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ความจำเป็นในการใช้โอ่งก็เริ่มลดน้อยลง เพราะว่ามันมีการประปา ถังพลาสติก หรือว่าวัสดุอื่นๆ เข้ามาเพราะสมัยก่อนทุกบ้านจะต้องมีโอ่งใช้ในชีวิตประจำวัน และรุ่นคุณพ่อก็เลยมาคิดว่าแทนที่จะทำโอ่งให้กักเก็บน้ำ ก็มาทำโอ่งที่สามารถใช้กักเก็บน้ำได้ด้วย และสามารถใช้ประดับตกแต่งได้ด้วย ก็เกิดการพัฒนาในรุ่นที่ 2 ต่อมา
และพอรุ่นที่ 3 คือรุ่นคุณพ่อรุ่นที่ 2 คำว่า โนฮาว เป็นสิ่งที่โรงงานเราได้เปรียบกว่าโรงงานอื่น ในเรื่องการทำสี การทำเทคนิคอะไรต่างๆ แต่พอรุ่นที่ผมกลับมาประมาณ 16-17 ปี คำว่าโนฮาวเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบอีกต่อไป แต่ว่าเป็นสิ่งที่ทุกโรงงานสามารถทำได้เสมอกันหมด เพราะฉะนั้นตอนที่ผมกลับมา ผมก็ยังไม่มีความรู้ทางด้านการตลาดในบ้านเราในช่วงเวลานั้น ว่าต้องการอะไร ในวงการศิลปะเป็นอะไร อย่างไร แต่สิ่งที่ผมคิดตลอดว่าเราถนัดอยู่เรื่องนี้ คือเรื่องการออกแบบ หรือเรื่องการทำงานศิลปะต่างๆ เราก็เอาสิ่งที่โรงงานเราทำอยู่มาประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งที่เราต้องการจะทำออกมา
เพราะฉะนั้นจริงๆ ในรุ่นที่ 3 ตั้งแต่ผมเริ่มกลับมาทำ ก็จะมีความหลากหลายทางด้านรูปแบบมากขึ้น เอางานศิลปะเอางานออกแบบต่างๆ ผมชอบทำสีเคลือบต่างๆ ก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเสริมมาเพิ่มขึ้นมา เป็นรูปแบบการพัฒนาที่แตกต่างกันไปจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว และก็เทคนิคใหม่ๆ ที่ผมเรียนมาด้วย
เรื่องข้อแตกต่างหรือจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เถ้าฮงไถ่นั้น จริงๆ สิ่งที่ผมพยายามทำขึ้นมา คือ ผมไม่เคยเปลี่ยนสิ่งที่อากงทำหรือคุณพ่อคุณแม่ทำเลย แต่สิ่งที่พยายามทำขึ้นมาคือ ทำเสริมหรือเพิ่มขึ้นมา แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราพยายามคงไว้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเก่า รูปแบบใหม่ก็ตาม คือ ช่างฝีมือต่างๆ หรือว่าการขึ้นรูปต่างๆ เทคนิคการทำต่างๆ เราพยายามคงความดั้งเดิม และความเป็นหัตถกรรมให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นจริงๆ สิ่งที่มีคุณค่าก็คือ มูลค่าและความแตกต่างของงานสินค้าของบ้านเรากับต่างประเทศ
นอกจากนี้ในรุ่นที่ 3 รุ่นผมก็ได้มีการขยับขยายนำงานศิลปะไปโชว์ต่างประเทศด้วย ก็ได้มีโอกาสไปแสดงงานศิลปะที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 55th Venice Biennale ชื่องาน Poperomia ร่วมกับศิลปินไทยอีกท่านหนึ่ง ก็เป็นอีกความภูมิใจและก็เราเอาผลงานเกี่ยวกับเรื่องราวของความเป็นท้องถิ่นของชุมชนเราไปแสดงในคนนานาชาติได้ชม ซึ่งเสียงตอบรับค่อนข้างจะดี และก็มีการพัฒนาที่สามารถต่อยอดงานได้หลายชิ้นงาน ต่อเนื่องจากงานในครั้งนั้น
สำหรับตัวผมตอนนี้ก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ที่ศิลปากร แล้วก็เป็นผู้บริหารที่ เถ้าฮงไถ่จริงๆ ก็มีหลายๆ ภาคส่วนที่เราเข้าไปช่วยเหลือในส่วนของชุมชน และการทำโครงการต่างๆ กับจังหวัดราชบุรี และก็มีหอศิลป์ ที่เราพยายามทำให้ศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของคนในจังหวัดราชบุรี
ล่าสุดได้มีโอกาสทำกับสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นโครงการที่ชื่อว่า ศูนย์บันดาลไทย ซึ่งทางกระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกจังหวัดนำร่อง 2 จังหวัด คือ เชียงราย และราชบุรี แต่ละจังหวัดก็มีการตีความ ความหมายของคำว่า บันดาลไทย แล้วแต่ความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ หรือว่าแล้วแต่รูปแบบของความจำเป็นในแต่ละพื้นที่
ในส่วนของจังหวัดราชบุรี ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะเป็นแรงบันดาลให้คนรู้จักความเป็นไทยได้ดีที่สุด คือว่าเราต้องทำอย่างไรให้คนในชุมชนรู้จักสิ่งที่ตัวเองมี เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองเป็น และพยายามรักษาสิ่งที่ตัวเองคงไว้ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษได้อย่างไร
และจุดนี้ผมคิดว่าคำว่าศิลปะและการออกแบบ สามารถเอามาเป็นตัวเชื่อมในสิ่งนี้ได้เพราะฉะนั้นโครงการ ศูนย์บันดาลไทย ของจังหวัดราชบุรี เราไม่ได้เชื่อมเฉพาะแค่งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่านั้น แต่เรายังเอาคำว่าศิลปะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดึงให้คนรู้จักตัวตนของตัวเองเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นเรายังมีเป็น 6 พื้นที่ในจังหวัดราชบุรี และยังมีภาคส่วนที่เป็นศูนย์ย่อยๆ ของศูนย์บันดาลไทย ที่จะเอาผลิตภัณฑ์ของเราที่ทำขึ้นมา สามารถไปใช้แสดงได้ และส่วนหลักๆ ของศูนย์บันดาลไทย ก็จะอยู่ที่โรงงานแห่งนี้ คือที่เถ้าฮงไถ่ เพิ่งมีการเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
เราก็จะเลือกผลิตภัณฑ์ 4 อย่างของท้องถิ่น คือ 2 อย่างจะเป็นการต่อยอดภูมิปัญญา หรือวิธีการดั้งเดิมของสิ่งที่เรามีในจังหวัดราชบุรี เช่น หลายๆ คนทราบว่าที่ราชบุรีมีหนังใหญ่วัดขนอน แต่ว่าหนังใหญ่ วัดขนอน อาจจะเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม คนที่สนใจทางด้านศิลปวัฒนธรรม หรือว่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ว่าถ้าเราเอาหนังใหญ่ วัดขนอน มาทำเป็นผลิตภัณฑ์บางอย่าง ด้วยการออกแบบให้ดูร่วมสมัยและก็เข้ากับวิถีในการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เขาอาจจะถามหาว่าที่มาในดั้งเดิมนี้คืออะไร วิธีการดั้งเดิมคืออะไร แล้วแต่ก่อนทำเพื่ออะไร จุดนี้จะเป็นจุดเชื่อมได้
และอีกส่วนหนึ่งคือว่า หลายคนอาจจะเคยผ่านจังหวัดราชบุรี เห็นโอ่งเห็นหลายๆ อย่าง เห็นผ้า แต่หลายๆ คนไม่ทราบว่าราชบุรีมีการหล่อทองเหลืองด้วย หล่อทองเหลืองเป็นภูมิปัญญาของที่นี่มากว่า 200 ปี สำหรับกระดิ่งวัวลูกกระพรวนต่างๆ แต่ปัจจุบันภูมิปัญญาชุดนี้กำลังจะเริ่มหายไป หายากขึ้น และการสืบทอดเขาไม่เห็นคุณค่า รู้สึกว่าทำไปไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องลงทุนไป ถ้าเราเอางานออกแบบมาทำบางสิ่งบางอย่างให้มูลค่าเท่าเดิม หรือการทำบางสิ่งบางอย่าง คือลงทุนเท่าเดิม แต่ว่ามูลค่ามันสูงมากขึ้น เขาอาจจะเห็นคุณค่าและการต่อยอดภูมิปัญญาตรงนี้ต่อไป
และอีก 2 รูปแบบ เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างจะท้าทายสำหรับนักออกแบบที่เราเชิญเขามา คือ 2 ผลิตภัณฑ์แรก ก็จะเป็นนักออกแบบและทำงานออกแบบตามสายงานปกติทั่วไป แต่อีก 2 รูปแบบ ผมอยากให้นักออกแบบ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซับซ้อน แล้วคนที่เราต้องการให้เขาไปช่วยเหลือ สามารถทำเองได้ ในกรณีนี้ผมเอาเด็กและเยาวชน ให้มาเป็นจุดตั้งตนของเราก่อน เพราะฉะนั้นจริงๆ โจทย์ของนักออกแบบคือว่าเราต้องทำอย่างไร ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างไร ให้เด็กตั้งแต่ ป.4 – ม.1 สามารถลงมือทำด้วยตัวเองได้
เพราะว่าที่ผ่านมา เราจะมีโครงการที่เราให้ทุนการศึกษาเด็ก ก็มีหลายๆ ครั้ง หลายๆ โรงเรียนที่สอบถามเพิ่มเติมถึงโครงการนี้ ผมคิดว่าถ้าสมมุติเราจะทำบางอย่างเพื่อช่วยให้การศึกษาของเด็ก คนที่ต้องการโอกาสไม่ควรจะรอให้ความช่วยเหลือ แต่เขาต้องมาลงมือทำด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นจริงๆ โครงการนี้ก็เป็นจุดได้ว่า เด็กทุกคนที่ต้องการโอกาส ต้องการเงินสำหรับการศึกษา ก็ต้องมาหัดทำ และก็เริ่มลงมือทำ ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างจะเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
คือว่าเราเริ่มโครงการนี้มาประมาณ 3 เดือน โครงการทำปลาตะเพียน เป็นปลาตะเพียนที่สานขึ้นมา แล้วก็มีโครงการทำลูกปัดเซรามิกเล็กๆ ขึ้นมา เหตุผลที่เลือก 2 วัสดุนี้ คือว่าปลาตะเพียน เราได้รับการเสนอเข้ามาจากน้องๆ โรงงานในจังหวัดราชบุรี แล้วเซรามิกว่าสามารถทำเรื่องวัสดุดิบได้
และจุดนี้เป็นจุดตั้งต้นว่า เราจะทำอย่างไรให้เด็กได้เงิน ให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นจริงๆ ผ่านไป 3 เดือน โครงการปลาตะเพียนที่เราเริ่มไป 3 เดือนก่อนเป็นโครงการนำร่อง เด็กบางคนอาจจะได้ 800-1,000 บาท หรือบางคนได้ 5,000-6,000 บาท หรือคนที่ได้มากที่สุดอาจจะได้เป็น 30,000 กว่าบาทเลย
วัตถุประสงค์หลักของเรา ที่เราประกาศออกไปคือว่า ต้องการให้เงินส่วนนี้สำหรับเพื่อการศึกษาของน้องๆ เท่านั้น ไม่ใช่แปลว่าเขาเอาเวลาเรียนทั้งหมดมาทำ เพราะคนที่ได้มากที่สุดจะเป็นเด็กที่เรียกว่ามีพรสวรรค์มากคนหนึ่งของจังหวัดราชบุรี เพราะว่าเขาสอบเข้าห้องพิเศษของโรงเรียนอันดับต้นๆ ของจังหวัดราชบุรีได้ แต่ว่าเขาไม่มีเงินลงทะเบียน เพราะว่าตอนนั้นเขาไม่มีความพร้อม แต่คนที่ได้น้อยไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ขยันหรืออะไรนะ
แต่ว่าอย่างที่บอกเด็กหลายๆ คนที่เราเข้าไปช่วย ก็มีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือครอบครัวในแต่ละวันที่แตกต่างกัน ต้องทำงานด้วยอะไรด้วยหลายๆ อย่าง เพราะจุดนี้เราได้มากหรือได้น้อย แล้วมาเสริมในส่วนที่ผมมีอยู่แล้ว ผมมองว่าอย่างน้อยก็เป็นกำไร ที่เราพยายามทำให้เขาขึ้นมา เพื่อช่วยให้เขาดำเนินชีวิตต่อด้วยตัวเองได้
สำหรับเรื่องข้อคิดในการดำเนินธุรกิจและประกอบอาชีพนั้น จริงๆ ในการดำเนินธุรกิจของครอบครัว ผมคิดว่าผมโชคดีมากๆ และได้ทำกิจการสานต่อของครอบครัว แล้วยังเป็นสิ่งที่ตัวเองสนุกและชอบที่จะทำด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราต้องเอาจุดนี้มาเป็นจุดเด่น และก็จุดที่สร้างความแตกต่างให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายแล้วกิจการของครอบครัวกับสิ่งที่เราทำ เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งเล็กๆ ของภาพจิ๊กซอว์ของสังคมสังคมหนึ่ง หรือชุมชนชุมชนหนึ่ง เพราะว่าถ้าจริงๆ เราพยายามทำแล้วมันสามารถสานต่อเป็นภาพของชุมชนที่สมบูรณ์ได้แล้วเมื่อไหร่ ผมว่าเรากำลังจะช่วยกันสร้างชุมชนและสังคมในอุดมคติที่มีความเพอร์เฟ็กท์ แล้วก็มีความสวยงามร่วมกันได้”
พิธีกรรายการ ขิม-ทิพย์ลดา พูนศิริวงศ์ และ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี