วันอาทิตย์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
หนังใหญ่วัดขนอน ราชบุรี ยังคงมีลมหายใจ

หนังใหญ่วัดขนอน ราชบุรี ยังคงมีลมหายใจ

วันเสาร์ ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567, 06.00 น.
Tag : หนังใหญ่วัดขนอน ราชบุรี
  •  

หนังใหญ่วัดขนอนมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่กล่อม เจ้าอาวาสวัดขนอนองค์เดิม ท่านรู้จักกับครูทำหนังใหญ่ แล้วจึงชวนให้ทำตัวหนังใหญ่ไว้ที่วัดขนอน ในสมัยที่บริเวณนี้ยังเป็นด่านเก็บอากร ในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดขนอนจึงมีตัวหนังใหญ่ และมีการแสดงหนังใหญ่สืบต่อมา

ไลฟ์ วาไรตีสัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ไปนมัสการเรียนสัมภาษณ์พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน ราชบุรี ถึงความเป็นมาของหนังใหญ่วัดขนอน และการแสดงหนังใหญ่ของวัดขนอน


● กราบนมัสการเรียนถามพระคุณเจ้าถึงประวัติหนังใหญ่วัดขนอนครับ ขอความกรุณาช่วยเล่าให้ฟังโดยสังเขปครับ

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม : ขอเจริญพร หนังใหญ่ถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง เป็นการละเล่นของหลวงอยู่ในรั้วในวังมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พบว่ามีเขียนไว้ในกฎมณเฑียรบาล เมื่อพ.ศ.2001 สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังนั้นถือว่าหนังใหญ่เป็นศิลปะประจำชาติของไทยเรามาตั้งแต่อยุธยา เป็นต้นแบบการแสดงโขนในปัจจุบัน หนังใหญ่เป็นมหรสพที่แสดงในเวลากลางคืน เพราะต้องใช้เงา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเล่นเงาหนังใหญ่ได้แพร่มาสู่ชุมชน โดยแรกๆ ก็อยู่ในบ้านของเจ้านาย เจ้าเมือง แล้วก็วัด วัดถือเป็จุดศูนย์กลางของชุมชน หนังใหญ่เป็นมหรสพที่เล่นเกี่ยวกับเรื่องของงานราชประเพณี ราชพิธีต่างๆ ในสมัยหลังๆ นี้นักวิชาการด้านศิลปะการแสดงหนังใหญ่ได้ค้นคว้าศึกษาเรื่องหนังใหญ่มากขึ้น ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับหนังใหญ่มากขึ้นเป็นลำดับ อาจจะกล่าวได้ว่าหนังใหญ่มีความสำคัญตั้งแต่เกิดจนตายของคน ตามหลักฐานได้ปรากฏถึงเรื่องของการเล่นในงานวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เฉลิมฉลองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาราชครูแต่งเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ แล้วทรงให้เล่นหนังใหญ่ในงานฉลองวัยเบญจเพส 25 พรรษา ถือว่าเป็นการเล่นในวันเกิดแล้วยังเล่นในงานออกพระเมรุ และงานเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญของบ้านเมือง งานเฉลิมฉลองต่างๆ ใช้หนังใหญ่แสดง มาถึงยุครัตนโกสินทร์กล่าวถึงเรื่องหนังใหญ่ว่า ในงานฉลองวัดโพธิ์ วัดพระเชตุพนฯ เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพฯเสร็จแล้วเมื่อทรงสถาปนาวัดโพธิ์ ก็มีการเฉลิมฉลอง

โดยทรงให้เล่นหนังใหญ่ถึง 9 คณะแล้วในงานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเวทีหนังใหญ่ 1 เวที เพื่อแสดงในการนี้ด้วย นี่คือความสำคัญของหนังใหญ่ นอกจากนั้น หนังใหญ่ยังถูกนำไปแสดงในงานศพของผู้ใหญ่ของบ้านเมืองอีกด้วย นี่คือหนังใหญ่จากวังสู่บ้าน หนังใหญ่วัดขนอนถือเป็นหนังราษฎร์  เป็นหนังของชาวบ้าน วัดขนอนได้รับการกล่าวขานถึงเรื่องหนังใหญ่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระครูศรัทธาสุนทร หรือว่าหลวงปู่กล่อม อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน เป็นผู้ที่สร้างไว้ คำว่าขนอนนั้น แปลว่าอากรตลาด เพราะในบริเวณแถวนี้เป็นสถานที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากรการค้าขาย ในสมัยนั้นมีด่านเก็บภาษีอากร แล้วมีคนเอาหนังสัตว์มาเสียเป็นค่าผ่านทาง แล้วนำหนังมาถวายวัด หลวงปู่กล่อมกับนายด่านได้รู้จักกับครูโขนที่เมืองลพบุรี ที่เข้ามาเยี่ยมวัดขนอน ได้เห็นหนังวัวแผ่นใหญ่ ก็เลยบอกจะทำหนังถวายหลวงปู่กล่อม ทำหนังตัวใหญ่ๆ ก็เลยมีการทำตัวหนังใหญ่กันในยุคนั้น คนที่ทำตัวหนังชื่อว่าครูอั๋น เป็นครูโขนของเจ้าเมืองราชบุรี เมื่อประกาศเลิกด่านตามหัวเมือง นายด่านก็เลยไปรับราชการอยู่ในเมืองราชบุรี พอไปรับราชการก็รู้จักกับครูอั๋นครูโขนในเมืองราชบุรี วันหนึ่งครูอั๋นมาไหว้หลวงปู่กล่อม แล้วมาเห็นหนังวัวนี่แหละ คนสมัยโบราณเขาไม่กินเนื้อวัว เพราะเขาเห็นว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณ เมื่อวัวตายก็จึงไม่กินเนื้อวัว แล้วถลกหนังเอาไปทำหนังกลองถวายวัดบ้าง แต่ที่วัดขนอนนี้เราใช้หนังวัวทำตัวหนังใหญ่  บางคนบอกว่าหนังใหญ่มาจากหนังตะลุง หนังตะลุงเป็นมหรสพที่เล่นในจอดูเงา มีคนเชิดคนเดียว เชิดหนังได้ทั้งโรง แต่ว่าหนังใหญ่เล่นหน้าจอ มองเห็นคนเชิด เห็นตัวหนัง ที่บอกหนังใหญ่เป็นต้นแบบของการแสดงโขน ดังนั้นหนังใหญ่จึงเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง เป็นศิลปะหลวง และแพร่ไปยังราษฎรหนังใหญ่เป็นมหรสพชั้นสูงที่รวบรวมศิลปะไว้ด้วยกัน5 แขนง คือ หัตถศิลป์ การแกะสลักตัวหนัง นาฏศิลป์ การรำ การเรียนรู้ท่าทางของการแสดง แล้วก็คีตศิลป์ การดนตรีใช้ประกอบการแสดง วาทศิลป์ คือคำพากย์ คำเจรจา แล้วก็วรรณศิลป์ วรรณกรรมเรื่องราวที่เอามาแสดง ครั้นมาถึงช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังใหญ่ซบเซาลงไป คนไปดูการละเล่นอื่นๆ หนังใหญ่ก็ซบเซาลงไป เงียบลงไป แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาเป็นโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จึงให้เกิดการทำตัวหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นมาไว้ใช้แสดงแทนชุดเก่า ส่วนหนังใหญ่ชุดเก่าที่สร้างในสมัยหลวงปู่กล่อม ที่อายุกว่า 100 ปี ก็เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริว่า ห้ามนำออกมาแสดง มันจะชำรุด มันจะเสียหาย เพราะเป็นของเก่ามาก ให้เก็บรักษาไว้ ก็เลยเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษาแล้วทรงมีพระราชดำริด้วยว่า ให้ฝึกหัดเยาวชนเล่นหนังใหญ่ วัดจึงได้ฝึกหัดเยาวชนสืบต่อมา โดยมีการเรียนการสอนกับครูผู้ชำนาญการด้านหนังใหญ่และมีปราชญ์พื้นบ้านด้านหนังใหญ่มาช่วยดูแลฝึกสอน วัดขนอนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้หนังใหญ่ เราสอนด้านหัตถศิลป์ด้วย สอนการทำตัวหนังใหญ่ สอนนาฏศิลป์ การเชิด และการแสดง และสอนด้านคีตศิลป์การดนตรีด้วย 

● เด็กตัวน้อยๆ ที่มาเรียนรู้และสืบสานเรื่องหนังใหญ่เป็นเด็กในละแวกวัดใช่ไหมครับ 

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม : เป็นคนในย่านละแวกนี้ และก็มีเยาวชนจากที่อื่นๆ บ้าง เราพยายามปลูกฝันเด็กๆ ว่าให้ช่วยกันรักษามรดกชิ้นนี้ไว้ ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนพวกมีความรักและหวงแหนมรดกสำคัญนี้ สอนให้เขารักศิลปวัฒนธรรม และสืบสานต่อไป พ่อแม่เด็กๆมีความศรัทธาในตัวหลวงปู่กล่อม จึงช่วยกันนำลูกหลานมาฝึกมาเรียน และที่สำคัญคือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงให้การอุปถัมภ์หนังใหญ่ ทำให้หนังใหญ่มีชีวิตชีวา ขณะเดียวกัน คนในชุมชนก็ข่วยกันรักษา เพราะเขาเห็นความสำคัญ ปัจจุบันมีคนสนใจหนังใหญ่วัดขนอนมากพอสมควร มีสถาบันการศึกษาเข้ามาดูงาน เวลาคนมาดูงานในราชบุรี ก็มาชมหนังใหญ่ ปัจจุบันเรามีบุคลากรที่สืบสาน
หนังใหญ่วัดขนอนพอสมควร แต่ต้องสร้างบุคลากรด้านนี้เพิ่มตลอดเวลา เพื่อให้หนังใหญ่อยู่กับเราไปโดยตลอด

● การแสดงหนังใหญ่ที่นี่มีในวันเวลาใดบ้างครับ 

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม : ปกติมีในวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา 10 โมงเช้า แต่หากจะมาชมในกรณีพิเศษต้องติดต่อมาล่วงหน้า เพราะต้องจัดเตรียมการแสดง ต้องเตรียมคนแสดง และต้องมีการจัดสถานที่รองรับ

● หากมีผู้สนใจสนับสนุนหนังใหญ่ จะช่วยได้อย่างไรบ้างครับ

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม : ขอเจริญพรที่วัดขนอนนี้ยินดีต้อนรับทุกท่าน เราจัดแหล่งเรียนรู้เรื่องหนังใหญ่ให้ผู้สนใจได้มาศึกษา มีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านต่างๆ ของหนังใหญ่ตามปกติวัดเราจะมีงานประจำปีเทศกาลหนังใหญ่ในวันที่ 13-14 เมษายน หรือช่วงสงกรานต์ อาตมาอยากเชิญชวนคนไทยและคนต่างชาติมาชมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน มาช่วยกันรักษา สืบสานหนังใหญ่ไว้ อาตมาขอเชิญชวนให้เราทุกคนช่วยกันรักษาสมบัติชาติ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างสมไว้ให้คนรุ่นหลังทุกคน ทางวัดขนอนไม่ได้แค่ต้องการเฉพาะเงินสนับสนุนเท่านั้น แต่ต้องการคนที่จะเข้ามาช่วยกันดูแล ให้คำแนะนำ และช่วยกันเผยแพร่งานหนังใหญ่ของวัด เราไม่เป็นพุทธพาณิชย์ เราไม่ขายวัตถุมงคล แต่เราเน้นการส่งเสริมสนับสนุนด้านศิลปวัฒนธรรม และเผยแพร่พุทธศาสนา ผู้คนที่เข้ามาในวัดขนอนต่างมาด้วยศรัทธาในพุทธศาสนา และมาเพราะต้องการเสริมส่งให้ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ดำรงคงอยู่ หลายคนเข้ามาช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กๆ ที่เล่นหนังใหญ่ และช่วยค่าไฟฟ้า ค่าแอร์ในโรงแสดงหนังใหญ่ คือปกติเราคิดค่าแสดงในแต่ละรอบที่ 4 พันบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานในแต่ละรอบการแสดง แต่บางรอบก็ได้รับเงินสนับสนุนพิเศษจากผู้ชมที่มีใจกุศลสนับสนุนเด็กๆ และนักแสดงหนังใหญ่ ส่วนพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่นี้อาตมาตั้งใจทำเป็นแหล่งเรียนรู้หนังใหญ่ และเพื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึงบุญคุณของหลวงปู่กล่อมที่ทำให้วัดขนอนมีหนังใหญ่ อาตมาขออนุญาตให้เบอร์สำหรับติดต่อโดยตรง ในกรณีที่มีผู้สนใจเข้าชมหนังใหญ่หรือชมพิพิธภัณฑ์ สามารถติดต่อได้ที่ 089-5554195หรืออีเมล 1nangyai@gmail.com 

คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'วิว'สุดยอด! ทุบมือ3โลกแชมป์ไทยแลนด์โอเพ่น

ล่าระทึก! นักโทษ 10 รายแหกคุกนิวออร์ลีน แถมเขียนข้อความเย้ยเจ้าหน้าที่

มาแล้ว! กรมอุตุฯคาดหมายอากาศ 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่ 17-23 พ.ค.68

หวั่นข้อมูลรั่ว! ‘เกาหลีใต้’เตือนตำรวจงดใช้เอไอ‘ChatGPT’ช่วยงานคดี

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved