วันอาทิตย์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
‘จากขุนเขา…สู่ศิลปาชีพ’  เปลี่ยนไร่เลื่อนลอยเป็นงานหัตถศิลป์

‘จากขุนเขา…สู่ศิลปาชีพ’ เปลี่ยนไร่เลื่อนลอยเป็นงานหัตถศิลป์

วันอังคาร ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559, 06.00 น.
Tag : ขุนเขา ศิลปาชีพ ไร่เลื่อนลอย งานหัตถศิลป์
  •  

จากการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน ทรงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่บนดอยสูง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเห็นพสกนิกรชาวไทยภูเขาแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า มาเฝ้าฯรับเสด็จ ด้วยปีติยินดีทุกครั้งไป หากเป็นผู้อื่นคงได้แต่ชื่นชมการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์เพียงเท่านั้น หากด้วย “น้ำพระราชหฤทัย” และ “ความรัก” ที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความสวยงามของเครื่องแต่งกายชาวไทยภูเขาอย่างลึกซึ้ง ทรงนำงานเครื่องเงิน ผ้าปัก และงานฝีมืออื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องแต่งกายของแต่ละชนเผ่า มาส่งเสริมอาชีพสนับสนุนให้ทำงานฝีมือเหล่านั้นเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เขาเหล่านั้นจะมีรายได้ ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมชนเผ่า ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ส่งเสริมให้ชาวบ้านบนดอยสูงรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กรุณาเล่าให้ฟังถึงการทรงงานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมอนุรักษ์งานฝีมือชาวไทยภูเขาว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นว่า ต้นน้ำลำธารของไทยซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ตามเทือกเขาสูงนั้น นับวันก็จะเหือดแห้งลง เนื่องจากมีการตัดต้นไม้ ทำลายป่าและทำไร่เลื่อนลอย บ้างก็ปลูกฝิ่นซึ่งเป็นพืชที่อันตราย มีสารเสพติด โดยในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเริ่มงานโครงการหลวง ได้พยายามชักชวนให้ชาวไทยภูเขาหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนฝิ่นอยู่แล้ว ดังนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมอาชีพ เพื่อเป็นรายได้เสริมสำหรับชาวไทยภูเขาอีกทางหนึ่ง โดยทรงเห็นว่าชาวไทยภูเขามีฝืมือในการปักผ้าเป็นลวดลายต่างๆ และการทำเครื่องประดับเงิน และมีเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งกลุ่มเครื่องเงินและผ้าชาวเขาขึ้น

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ


“เวลาที่เสด็จฯ ทรงเยี่ยม จะมีชาวไทยภูเขามากราบบังคมทูลถาม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่าแม่หลวงจะช่วยหมู่เฮาบ้างไหม เขาใส่เครื่องเงิน ก็เอาเครื่องเงินมาถวาย ทอดพระเนตรเขาตีเงินเอง ทำเป็นสร้อยคอ เป็นกำไล เป็นเครื่องประดับตกแต่ง เป็นกระดุม เป็นเครื่องที่ใส่ศีรษะ อาข่าเขาก็ใส่เครื่องศีรษะ ม้งก็มีสร้อย เข็มขัด ซึ่งจำได้ว่าที่เขาใส่คอเป็นแผ่น กำไลหนักมากเป็นเงินแท้ สมัยนั้นเงินยังไม่ได้แพงมากมาย เขาก็ทำของเขาเอง แล้วเวลาเขามาเฝ้าฯรับเสด็จ เขาก็แต่งชุดเต็มที่ของเขา อยู่บนดอยก็หนาว พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นก็ทรงช่วยเขา

ตอนนั้นมีศิลปาชีพ เริ่มจากผ้าไหมแล้ว พระองค์ท่านจึงทรงดูเรื่องผ้าชาวไทยภูเขาว่าจะทรงช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง ก็เห็นว่าเขาทำด้วยมือหมด ทำอยู่บนดอย จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวแทนชนเผ่าแต่ละเผ่าที่มีฝีมือด้านการทำเครื่องเงิน มาสอนนักเรียนที่โรงฝึกศิลปาชีพในสวนจิตรลดา สอนให้ตีเครื่องเงิน มาขึ้นรูปต่างๆ พระราชทานแบบให้ทำ เช่น กล่องเงิน กระเป๋าใบเล็กๆ ส่วนคนที่อยู่ที่บ้าน ก็พระราชทานคำแนะนำว่าลายเสื้อตรงนี้สวยดีเป็นงานปักมือของเขา ทรงขอให้ปักลายนี้บ้างแต่เป็นชิ้นเล็กๆ หรือเชือกรัดที่ใช้เป็นเครื่องตกแต่งก็ทรงแนะนำให้ทำเฉพาะส่วนมาเป็นเส้นๆ ตอนแรกๆ ก็ทำกันมาแบบสวยบ้างไม่สวยบ้าง ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับไว้หมด แล้วก็ทรงให้ค่าฝีมือ งานของใครที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก็จะพระราชทานคำแนะนำไป”

ในช่วงแรกชาวบ้านไม่เข้าใจว่า “แม่หลวง” จะนำงานฝึมือเหล่านี้ไปใช้งานอย่างไร จนกระทั่งพวกเขาได้เห็นว่า ชิ้นงานเล็กๆ ที่แม่หลวงทรงแนะนำให้ทำนั้นปรากฏอยู่บนฉลองพระองค์ จึงเข้าใจว่าเครื่องแต่งกายชนเผ่าดั้งเดิมของพวกเขาไม่เหมาะกับคนพื้นราบ แต่ลวดลาย การทอ การปัก หรือการเย็บตามแบบฉบับพวกเขานั้นสามารถนำไปสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ ได้อีกมาก ไม่ว่าจะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะผลิตชิ้นงานตามสั่งได้อย่างสุดฝีมือ

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงย้ำอยู่เสมอว่าให้พวกเราใจเย็นๆ ให้อดทน อย่าคิดว่าเขาทำไม่ได้ เมื่อเขาเข้าใจเขาจะทำได้อย่างที่เราต้องการ ช่วงแรกๆ เขาทำมาแบบที่เขาเคยชิน ก็ทรงรับซื้อแล้วจะทรงมีรับสั่งกับชาวบ้านที่ทำงานมาส่งว่าครั้งต่อไปทำเป็นแผ่นได้ไหมขนาดฝ่ามือ ไม่ต้องเย็บเป็นเสื้อ หรือเชือกลีซอขอความยาวแค่นี้นะ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เวลาที่ชาวบ้านส่งงานเข้ามา ต้องให้ราคาตามฝีมือ ใครฝีมือดีก็ได้ค่าตอบแทนสูง แล้วก็ลดหลั่นกันไปพร้อมกับให้คำแนะนำเพื่อที่เขาจะได้นำกลับไปพัฒนา อย่างเรื่องสี ถ้าเขาใส่กันเองก็จะสีสันฉูดฉาด ก็พระราชทานคำแนะนำว่าสวยแล้ว แต่ขอสีอ่อนแก่แบบนี้ได้ไหม จะเห็นได้ว่าทรงพระทัยเย็นมากในการสอนชาวบ้าน ทุกวันนี้อยากได้งานชิ้นเล็กชิ้นใหญ่แค่ไหนสีอะไร สั่งชาวบ้านทำได้หมดแล้ว”

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เล่าต่อว่า จากชาวไทยภูเขาไม่กี่ครัวเรือนที่สร้างงานหัตถศิลป์ส่งให้กับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาจนถึงวันนี้มีจำนวนมากกว่า 2 หมื่นคน จาก 620 หมู่บ้าน และยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“เป็นที่น่าดีใจว่าเขาสืบทอดกันในครอบครัว แม่สอนลูก ลูกก็ทำงานส่ง เราก็รับ เคยเจอบางชิ้นส่งมาไม่สวยไม่ประณีตเท่าไหร่ ดูก็รู้เลย ก็ถามกลับไปว่าทำไมงานไม่ค่อยเรียบร้อย เขาบอกว่าเป็นฝีมือลูกอย่างนี้ก็ต้องให้กำลังใจบอกไปว่าดีแล้วแต่ต้องทำงานให้สวยให้ประณีต ให้แม่คอยตรวจงานของลูกก่อนส่งด้วย

ชิ้นงานที่ชาวบ้านทำมาส่งมีพัสดุไปรษณีย์ส่งเข้ามาทุกวัน เวลาส่งเงินกลับไปบางแห่งไปรษณีย์ไปไม่ถึงก็ต้องใช้วิธีฝากไปกับหน่วยทหารที่อยู่ใกล้ๆ ให้เดินทางเอาเงินไปส่งให้ มีใบเซ็นรับเงินส่งกลับมาทำนองนี้ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่บางคนก็มาส่งงานด้วยตัวเอง แล้วก็รับเงินไปเลยก็มี คือรายได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาสามารถทำงานได้เร็ว ได้มาก เจ้าหน้าที่ก็ทำงานกันหนักทุกวัน แผนกตรวจรับ ประเมินราคา แผนกจ่ายเงิน”

เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยกองศิลปาชีพสวนจิตรลดา จึงเห็นสมควรนำงานหัตถศิลป์ของชาวไทยภูเขาที่เป็นสมาชิกศิลปาชีพฯ ออกมาเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และให้ได้ตระหนักในคุณค่า พร้อมกับร่วมชื่นชมความงามของงานหัตถกรรม อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงให้คนทั่วไปได้รับทราบถึงความรักและความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนอีกด้วย

“ที่ผ่านมา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดนิทรรศการแสดงผลงานของสมาชิกมาหลายงาน แต่เรายังไม่เคยนำเสนองานด้านหัตถศิลป์ของชาวไทยภูเขา ไม่ว่าจะเป็นงานผ้า งานเครื่องเงิน จึงคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะนำเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีต่อชาวไทยภูเขา ออกมาให้คนไทยและนานาชาติได้รับทราบว่าทรงดูแลชาวไทยภูเขา ซึ่งอยู่บนดอยที่เป็นต้นน้ำลำธารของประเทศอย่างไร นำเสนอวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา 6 เผ่าใหญ่ที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย

ได้แก่ ม้ง เย้า อาข่าลีซอ มูเซอ กะเหรี่ยง แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของเขาเป็นอย่างไร เครื่องแต่งกายเป็นอย่างไรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงหยิบเอาส่วนของเครื่องแต่งกายเล็กๆ น้อยๆ ออกมาเป็นงานฝีมือชาวไทยภูเขาที่สร้างรายได้ให้เขาอยู่ได้โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า เป็นพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่งที่ทรงหยิบงานเหล่านี้ออกมาทำให้คนในเมืองนิยมใช้ เพราะเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งของชาวไทยภูเขาที่แต่ละเผ่าไม่เหมือนกันเลย

นิทรรศการครั้งนี้ จะทำให้ทุกท่านได้เห็นว่า วันนี้วิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่รักชาวบ้าน รักประชาชน เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงมองการณ์ไกล และทรงมีพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำยิ่งใหญ่มากมายทรงทำได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะและมีความรักพสกนิกรเป็นที่ตั้ง จนทำให้ทุกวันนี้ชาวไทยภูเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ทั้งนี้ งานนิทรรศการครั้งนี้จะจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “จากขุนเขา…สู่ศิลปาชีพ Crafts from the Hands of the hills...To the Hands of the Queen” นำเสนอเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา เปลี่ยนจากปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ให้เป็นเกษตรกรที่แท้จริง ช่วยดูแลรักษาป่าและต้นน้ำของประเทศได้อย่างไร รวมถึงวัฒนธรรมการแต่งกายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ผ่านสื่อผสมในรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้มีความน่าสนใจ รวมถึงพบปะพูดคุยกับสมาชิกชาวไทยภูเขา ที่จะมาแสดงการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ประจำเผ่าให้ได้ชมตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาวไทยภูเขา ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม-11 ตุลาคม 2559 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

‘กฟก.เชียงราย’จัดกิจกรรมครบรอบ 26 ปีก่อตั้ง‘กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร’

'พีท ทองเจือ – ป้อ ปุญญพัตน์'ร่วมการันตี Fairtex Fight Thaiwatsadu Champions Tournament Season 3

‘พร้อมพงศ์’มั่นใจ‘ภูมิใจไทย’ไม่ฆ่าตัวตาย งัดพ.ร.บ.งบ69 ต่อรองการเมือง

‘รองเลขานายกฯ’ชี้เป้าเครือข่าย‘เว็บพนัน’ เตรียมส่งข้อมูล‘ผบ.ตร.-บช.ก.’ ลุยล้างบาง

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved